ฟัง การกำกับ "คู่กรรม" จากปาก "เรียว" ตีความครั้งนี้ มันคือหนังผัว-เมียทะเลาะกัน

ขณะที่ “พี่มาก...พระโขนง” กำลังทำรายได้ถล่มทลาย หนังไทยอีกเรื่องอย่าง “คู่กรรม” ของ เรียว กิตติกร ก็กำลังท้าทายคนที่ยังไม่ได้ดูด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนและรุนแรง

เดิมทีบทความชิ้นนี้จะต้องตีพิมพ์ใน BIOSCOPE 135 แต่ด้วยเงื่อนไขของช่วงเวลา เราจึงยกออกจากเล่ม ทว่าด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “คู่กรรม” ที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราจึงเห็นว่าบทความนี้น่าจะแสดงจุดยืนของเรียวในการตีความและเลือกเล่าหรือไม่เล่าอะไรในหนัง “คู่กรรม” เวอร์ชัน 2556 ได้ไม่มากก็น้อย เราจึงนำมันมาให้อ่านกันฟรีๆ จ้า

+++++++++++++++++++++++++++++++++

“คู่กรรม” ฉบับ เรียว กิตติกร
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฉบับผัวเมียทะเลาะกัน
โดย นคร โพธิ์ไพโรจน์


ทุกครั้งที่คุยกับ เรียว กิตติกร ผมต้องประคองสมาธิไว้ให้ดี เพราะเขายิ่งคุยยิ่งสนุก ยิ่งต่อยอด ยิ่งออกทะเล และก็เกิดประเด็นใหม่ หนังหลายเรื่องของเขาก็มีบุคลิกคล้ายกันนี้ ที่เก็บเกี่ยวของล้ำค่าจากการออกทะเลมาผสมให้ดู

“คู่กรรม” เป็นบทประพันธ์ของ ทมยันตี ที่หลายคนวางมันไว้บนหิ้ง เมื่อภรรยาที่เป็นผู้บริหาร เอ็ม เทอร์ตี้ ไนน์ (จันทิมา เลียวศิริกุล) ส่งโปรเจ็คต์นี้มาให้เขา เรียวจึงหยิบมันขึ้นมาอ่านอีกรอบ ทั้งที่เขาเป็นคนไม่มักในนิยายสักเท่าไหร่ และเมื่อยิ่งอ่าน ยิ่งคิด ยิ่งออกทะเล เขาก็ได้ไอเดียหลักของ “คู่กรรม” ฉบับเรียวตีความได้ว่า...“มันก็คือหนังวัยรุ่นจีบกันเรื่องหนึ่ง”

- ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

ด้วยความหนาร่วมพันหน้าของ “คู่กรรม” ซึ่งอัดแน่นด้วยรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ อันมีฉากหลังอยู่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงเท่านี้ก็ซัดเรียวหลับคาหนังสืออยู่หลายรอบ แต่โชคดีที่เขามีพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์มาบ้าง จากการรีเสิร์ชเพื่อโปรเจ็คต์อื่นก่อนหน้า ทำให้สามารถต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว และยิ่งทำให้เขาตกตะกอนเร็วขึ้นด้วยว่าหนัง “คู่กรรม” ฉบับเรียวจะหน้าตาเป็นอย่างไร

“เราไม่ได้ฝันฟุ้งอะไรมากนักตอนทำ เพราะว่ารายละเอียดมันเยอะไปหมด เราก็ต้องเอาง่ายๆ เข้าไว้ อย่าคิดนาน อย่าเลือกเยอะ ไม่งั้นมันไม่เดินหน้า เอาแค่บทพูดอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว ภาษาที่ใช้ในเรื่องต้องสำเนียงไหน ญี่ปุ่นคุยกับคนไทยรู้เรื่องได้ยังไง ญี่ปุ่นคุยกับญี่ปุ่นสำเนียงไหน คนไทยคุยกับญี่ปุ่นยังไง นี่แค่ภาษานะ มาดูเสื้อผ้า โอ้ย งานมันเยอะมาก แล้วนักแสดงจะเล่นกันยังไงอีก มันใช้เวลาไปเยอะมาก กว่าจะรบราฆ่าฟันกัน เพราะฉะนั้นตัวเรื่องเนี่ยอย่าคิดเยอะ

“การรีเสิร์ชก็มูลจริง มันหินมาก ตกลงนอนมุ้งมั้ยในเรื่องเนี่ย มีไฟฟ้าหรือไม่มีไฟฟ้า มันต้องตอบได้ ก็มีหลักฐานยืนยันว่ามีไฟฟ้า แต่อาจยังไม่ทั่วทุกบ้าน อนุมานว่านี่บ้านหลวงนะเว้ย ยังไงก็ต้องมีน่ะ แต่นี่บ้านเมียน้อยรึเปล่า แม่อังศุมาลินเป็นเมียน้อยหรือเมียหลวง รายละเอียดใน 500 หน้าแรกมันเยอะ ไม่อยากไปยุ่ง ขี้เกียจตีความ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้จึงใช้คำว่า เรื่องโดย ทมยันตี ไม่ใช่บทประพันธ์โดยทมยันตี เพราะเราไม่เหมือนในบทประพันธ์ แต่หัวใจของเรื่องเราไม่เปลี่ยนเขานะ ยังเหมือนเดิม เพียงแต่องค์ประกอบแวดล้อมทั้งหมดอิงเอาจากไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ที่เราค้นมา ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับในหนังสือ”

- ไทย – ญี่ปุ่น = ผัว – เมีย

นอกจากจะมุ่งแปลงโฉม “คู่กรรม” ให้เป็นหนังรักวัยรุ่น (ยึดตามบทประพันธ์และความน่าจะเป็นที่ทั้งคู่น่าจะมีอายุราว 19 ปี) แล้ว เรียวยังนั่งถอดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงนั้นว่าเป็นอย่างไร การตีความใหม่ของเรียวนี้นำไปสู่การเลือกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างโกโบริและอังศุมาลินในมุมมองที่แตกต่างจากเวอร์ชันอื่นๆ
“ต้องทำความเข้าใจว่าก่อน ในสมัยนั้นน่ะ เรากับญี่ปุ่นชอบกันมั้ย เอาจริงๆ เลย เราเป็นพันธมิตรกันนะ แต่มันจะในลักษณะว่า “ กูขอร้องล่ะ กูให้ผ่านบ้านกูก็ได้แต่อย่าเพิ่งรบกับชาวบ้านได้มั้ย หรือไปผ่านบ้านคนอื่นก็ได้ ในฐานะเพื่อนกัน ประเทศกูเล็กๆ ไม่ไปรบกับใครหรอก” ญี่ปุ่นอาจจะบอก “เอาน่า กูขอขึ้นบ้านเหอะ กูถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ไปแล้ว” ...มันเหมือนผัวเมียกันมั้ย มันชัดเจนมากเลย มันตอบโจทย์ “คู่กรรม” หมดแล้ว มันเป็นเรื่องง่ายมากๆ ตรงมากๆ เปรียบเทียบกันชัดเจน เมื่อชัดเจนก็ไปทำ “คู่กรรม” ได้แล้ว แต่คนลืมประวัติศาสตร์การเมืองช่วงนี้ไปหมดแล้ว มันเป็นอาวุธทางวัฒนธรรม ตอนนั้นเขาก็เข้ามาช่วยเราปัญหาดินแดงฝั่งขวาของแม่น้ำโขง กับฝรั่งเศสน่ะ ตอนนั้นเราแฮปปี้จะตาย พวกนักศึกษายังไปเชิดชูกันอยู่เลย สักพักยิ้มยกพลขึ้นบก ยิ้ม กูบอกให้รอแปปนึงได้มั้ย ไม่ฟังกูเลย
“จริงๆ เราก็อยากรู้นะว่าทำไมต้องเริ่มเรื่องหลังน้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ไม่อยากถามแก (ทมยันตี) เดี๋ยวยาว ขอข้ามไปหลังแต่งงานเลยได้มั้ย (หัวเราะ) เพราะเราว่าตรงนั้นมันคือ “คู่กรรม” ที่เราอยากจะเล่า แต่ไม่ได้ เราจะทำหนังวัยรุ่นจีบกันเว้ย เลยปูมาตั้งแต่ก่อนแต่งงานนิดนึงแล้วกัน มีคนเคยถามว่าไม่กลัวบทประพันธ์เขาเสียเหรอ แต่ตอนจบโกโบริตายเหมือนเดิมนะ ลดทอนส่วนที่ไม่อยากถ่ายเท่านั้นพอ หนังมีสองชั่วโมงจะยัดหนังสือพันหน้าเข้าไปก็ไม่ได้หรอก เอาออกบ้าง คงไว้แค่เฉพาะที่เราชอบนั่นแหละ อันไหนไม่ชอบก็เอาออก”

- จะเป็น “คู่กรรม” ได้อย่างไร ถ้าไม่มีทางช้างเผือก

ไม่ว่าคนดูจะพอใจกับหนังแค่ไหน แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามความหาญกล้าของเรียวที่เลือกตัดหลายๆ องค์ประกอบที่แทบเป็นลายเซ็นของ “คู่กรรม” ทุกเวอร์ชัน เช่น หิ่งห้อย ตำนานเจ้านางทอหูก ผู้รอคนรักอยู่ที่ทางช้างเผือก หรือฉากโกโบริลงโทษตาผลกับตาบัวด้วยการกรอกน้ำมัน โดยเรียวเล่าว่า “เข้าใจนะว่าการมีหลายส่วนมาประกอบกันมันจึงกลายเป็น “คู่กรรม” อย่างตำนานเจ้านางทอหูก เราก็ไม่รู้ว่าเจ้านางทอหูกคืออะไรวะ ภาษาญี่ปุ่นคืออะไร โกโบริมันต้องไม่พูดคำว่า “เจ้านางทอหูก” แน่ๆ ไปถามญี่ปุ่นจริงๆ เขาก็ไม่รู้จัก เอาแล้วสบายเรา... ไม่ต้องใส่! อะไรที่เราไม่รู้เรื่องไม่ต้องมาอยู่ในหนัง หิ่งห้อยก็เลิก หรือฉากกรอกน้ำมัน เราถามพวกเรากันเองว่าจะทำหนังโรแมนติกแล้วอยากดูฉากกรอกน้ำมันมั้ย ไม่มีใครอยากดู เราก็ไม่ทำ ยายให้ป่วยนอนอยู่ข้างบนโน่น ไม่ต้องมายุ่ง คนเขาจะจีบกัน แม่ก็เข้าครัวไป จบ จะได้เหลือแค่โกโบริกับอังศุมาลิน และเรื่องราวของผัวเมียทะเลาะกันคู่นี้เท่านั้น”

CR : FB Bioscope magazine
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151561832489074&set=a.205625784073.129744.180987564073&type=1




****************

เอิ่ม ... ไม่คิดว่ากระทู้จะมีคนตอบเยอะขนาดนี้
กลายเป็นเรายิ่งทำให้คนเกลียดหนังไปกันใหญ่
ทั้งที่เราเอาข้อมูลสัมภาษณ์มา เพราะชอบ คู่กรรม ฉบับ เรียว มากๆนะเนี่ย ...
อ่านเจอแล้ว ชอบ เลยนำมาแชร์ค่ะ

เราอ่านบทสัมภาษณ์โต้ง บรรจงก็ชอบ
อ่านของเรียว ก็ชอบ

ทั้งคู่ นิสัยต่างกัน อีกคนน่ารัก อีกคนยียวน
การทำหนังและการพูดให้สัมภาษณ์เลยต่างกันไปด้วย
ชอบบทสัมภาษณ์นี้เพราะอะไร เพราะเรียวพูดตรงมาก
คิดตามแล้วขำ เลยอยากให้รู้ความคิด ผกก.กันหลายๆคน

กลายเป็นหวังดี ประสงค์ร้ายซะงั้น
ขอโทษจากใจจริงค่ะ ...


/me ...หลบออกจากห้องภาพยนตร์ไทยไปสักพัก

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่