"ดร.พรสันต์" วิพากษ์ 40 สว. เข้าใจมาตรา 68 แค่ไหน ? ศาลรธน.ต้องระมัดระวัง !!!




ทสิตา สุพัฒนรังสรรค์ /สัมภาษณ์



จากที่วานนี้ (2 เม.ย.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม. 68 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยที่มี ส.ว. และ ส.ส. รวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.68 ซึ่งนายสมชายอ้างว่าเป็นเรื่องสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งการเสนอแก้ไข นายสมชายได้ให้เหตุผลว่า เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน และ ม. 237 ที่เกี่ยวกับการตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค กรณีมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง โดยการเสนอชื่อแก้ไขร่างฯ นี้ เป็นการล้มล้างการปกครอง และในช่วงเย็นวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมติว่าจะพิจารณารับเรื่องของ นายสมชาย แสวงการ หรือไม่




“มติชนออนไลน์” ได้สัมภาษณ์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการกฎหมายมหาชน และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความชอบด้วยกฎหมายในการที่นายสมชาย แสวงการ หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 68 ว่าด้วย “สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

@ การที่หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. อ้าง ม.68 “สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย และ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่


บทบัญญัติ ม.68 ซึ่งถูกอ้างว่าเป็น “การลิดรอนสิทธิของประชาชน” ต้องตอบคำถามให้ได้เสียก่อนว่า “เข้าใจเจตนารมณ์ของ ม.68 หรือไม่” เพราะตอนนี้รู้สึกว่าม.68 จะถูกใช้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ยังเข้าใจกันอย่างผิดๆ


เรื่อง “สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ไม่ใช่การพิทักษ์เพื่อไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หลักการและเจตนารมณ์ที่แท้จริง เป็นการ "พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย"


ซึ่งเรารับเอาโมเดลมาจากเยอรมัน ซึ่งเขาใช้หลักการระบอบประชาธิปไตยที่มีกลไกการป้องกันตนเอง (militant democracy ) เพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปสู่ยุคอำนาจนิยม จึงมีการวางกลไกต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมือง หรือกลไกใดๆ มาล้มล้างระบอบ ซึ่งนี่คือที่มาของการกำหนดการบุบพรรค การเพิกถอนสิทธิทางการเมือง และ การกำหนดใหการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย


ซึ่ง การที่ 40 ส.ว. พยายามกล่าวอ้างว่า การแก้ไข ม.68 เป็นการล้มล้างประชาธิปไตยนั้น คำตอบ คือ ไม่ใช่ เพราะการตรวจสอบว่าล้มล้างหรือไม่ ต้องกลับไปพิจารณา ม.291 เพราะโจทย์คือ การแก้ไขเพิ่มเติมซึ่ง ม. 291 กำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นญัตติที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองย่อมทำไม่ได้  

และที่สำคัญ ม.68 ไม่สามารถใช้กับกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ใช้กับบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่เหมือนกัน คือ จะใช้ ม.68 เช่น การที่นาย ก. ออกมารณรงค์มาป่าวประกาศว่าเรามาเปลี่ยนแปลงการปกครองกัน แบบนี้จึงต้องด้วย ม. 68  แต่การที่จะมากล่าวหาเพื่อตรวจสอบการแก้ไขนั้น ยืนยันว่าใช้ ม. 68 ไม่ได้



ฉะนั้น โดยหลักการ จะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะ ผิดมาตรา และต่อให้ยื่นได้จริงๆ ก็ไม่เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.291


@ เช่นนี้ การใช้ ม.68 ที่ผ่านมา ก็มีปัญหา


ขณะนี้ มองว่า ม.68 เป็นมาตราที่ถูกยกขึ้นมาอยู่เหนือทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ ทำให้ระบอบกฎหมายผิดเพี้ยน และบิดเบือนการทำงานของสถาบันทางการเมือง ล้มระเนระนาด ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วยในการตรวจสอบ เพราะถ้าตรวจสอบจริงๆ คือ ม. 291 เพราะทุกเห็นอยู่แล้วว่าญัตติไม่ใช่การล้มล้างประชาธิปไตย และเป็นไปไม่ได้ที่รัฐสภาซึ่งทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจะเป็นการล้มล้างไปเสียเอง มันจึงไม่สมเหตุสมผล

ตอนนี้ เราพยายามจะอ้าง “การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไม่ใช่ความหมายในเชิงรูปแบบ แต่เป็นการปกป้องระบอบกฎหมายรัฐธรรมนูญต่างหาก ฉะนั้น หากระบอบรัฐธรรมนูญถูกพิทักษ์ไว้ได้ ตัวรัฐธรรมนูญก็ได้รับการพิทักษ์

แต่ของเรามองแค่รัฐธรรมนูญ ไม่ถึงระบอบ ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ จึงทำให้ระบบรวนไปหมด ภาวะแบบนี้ในเชิงหลักการเรียกว่า “ภาวะที่รัฐธรรมนูญถูกทำให้แก้ไขได้ยากกว่าปกติที่จะเป็น”
สุดท้ายถ้าทำแบบนี้ ก็จะเกิดการเล่นนอกเกมส์ เพราะเดินเกมส์ตามระบบไม่ได้ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ทำได้ แต่ก็มีคนมาบอกว่าผิด

@ คิดว่าเย็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญต้องระมัดระวัง ต้องตั้งสติว่าที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่เป็นอำนาจของรัฐสภา ยังไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐสภา และไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องอำนาจของรัฐสภา แต่ยิ่งกับทำให้อำนาจรัฐสภาลดน้อยถอยลงไป โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแทนที่ตรงนี้

เพราะเมื่ออยู่ในอาณาเขตทางการเมือง ก็ต้องให้รัฐสภาจัดการดำเนินต่อไป โดยอาจอภิปราย ตั้งกระทู้ถาม คือ ต้องตรวจสอบกันเองในทางการเมือง และโดยหลักรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติไหนที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณากรณีนี้

นอกจากนี้ หากอ้างอิงกับคำวินิจฉัยเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555  ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญออกมาให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นการแก้ไขรายมาตรา เป็นอำนาจของรัฐสภา ส่วนการยกร่างฯ ฉบับใหม่ อาจต้องทำประชามติถามประชาชน แต่ตอนนี้เป็นการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งรัฐสภาสามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ตระหนักถึงอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรายมาตรา ถ้ากลุ่ม 40 ส.ว. เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจริง ต้องเป็นไปตามนั้น

และถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง ก็จะกลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMk5EazRORFl4Tnc9PQ==&sectionid=

==================================

เรื่องของเรื่อง คือตัวเองกลัวเสียอำนาจ
จึงต้องหาคนคุ้มกัน แถมคนคุ้มกันก็ดันเป็นพวกเดียวกันซะอีก
ตอนนี้เราก็ต้องมาจับตาดูศาลรัฐธรรมนูญต่อไปว่า จะลุย
หรือจะหาทางออกให้กับตัวเองอย่างไร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่