-=== สถานการณ์การระบายข้าวของไทย ===- (บทวิเคราะห์จากรอยเตอร์)

กระทู้สนทนา
บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์บอกว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเกษตรขององค์การการค้าโลก ที่นครเจนีวา สัปดาห์นี้ สหรัฐฯได้สอบถามเพื่อให้ไทยแจกแจงว่าสต็อกข้าวที่รัฐบาลไทยรับจำนำไว้ จะถูกนำไปส่งออกหรือจะใช้ภายในประเทศ
       
       ในคำถามต่างๆ ของสหรัฐฯซึ่งรอยเตอร์ได้อ่านนั้นระบุว่า วอชิงตันทักท้วงว่ารัฐบาลไทยนั้นได้เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ได้เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว รวมทั้งข้อมูลการส่งออกข้าว เอาไว้บนเว็บไซต์ของรัฐบาลแล้ว แต่ในทางเป็นจริง กลับไม่มีการปรับปรุงข้อมูลให้ต่อเนื่องและทันสมัย
       
       รอยเตอร์กล่าวว่า แม้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก จนกว่าไทยจะตอบคำถามอย่างเป็นทางการ กระนั้น แคนาดา, สหรัฐฯ, และออสเตรเลีย ก็กำลังกดดันเรียกร้องให้ไทยตอบข้อสงสัยเหล่านี้โดยเร็ว ขณะที่สหภาพยุโรป(อียู)ก็แถลงเช่นกันว่า มีความกังวลในเรื่องนี้ด้วย และไทยจำเป็นที่จะต้องพูดให้กระจ่างว่าจะระบายสต็อกข้าวของตนอย่างไร
       
       การที่ประเทศเหล่านี้แสดงความวิตกกังวลเช่นนี้ สืบเนื่องจากถึงแม้ในทางเปิดเผย พวกเจ้าหน้าที่ไทยยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นโครงการที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง กำลังตกอยู่ในวิกฤต แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลไทยก็กำลังมองหามาตรการที่จะหยุดยั้งการขาดทุนที่เบ่งบานหนัก รวมทั้งภาระต่างๆ ที่นับวันหนักหน่วงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์บอกว่า จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวมาเป็นเวลา 2 ปีของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประมาณการกันว่าเวลานี้สต็อกข้าวของรัฐบาลอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17 ล้านตันข้าวสาร หรือเกือบเป็น 2 เท่าตัวของปริมาณที่ไทยเคยส่งออกในแต่ละปีก่อนมีโครงการนี้
       
       ขณะเดียวกัน จากการรับซื้อข้าวด้วยราคาสูงกว่าตลาดโลก ก็ประมาณการกันว่าทำให้รัฐบาลขาดทุนไปจนถึงเวลานี้ในระดับ 6,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 180,000 ล้านบาท) แล้ว
       
       ทั้งนี้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับซื้อข้าวในราคาตันละ 15,000 บาท ส่งผลให้ราคาส่งออกขยับขึ้นสูงกว่าข้าวเกรดเดียวกันของอินเดียหรือเวียดนามถึง 1 ใน 3 และเป็นเหตุผลที่ทำให้ไทยเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลกเมื่อปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ
       
       ต้นเดือนนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงพาณิชย์ทดลองโยนหินถามทางด้วยการแย้มว่า รัฐบาลอาจลดราคารับซื้อข้าวลงมาให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกยิ่งขึ้น ปรากฏว่าได้สร้างความเดือดดาลให้แก่ประชาชนในต่างจังหวัดทันที โดยสมาคมเกษตรกรไทยขู่นำชาวไร่ชาวนานับหมื่นคนมาประท้วงที่กรุงเทพฯ
       
       ไม่เพียงเรื่องลดราคารับซื้อ เจ้าหน้าที่คนเดิมยังระบุด้วยว่า รัฐบาลอาจพิจารณายุติการรับซื้อข้าวโตเร็วคุณภาพต่ำ 18 สายพันธุ์ ซึ่งชาวนาเร่งปลูกเพื่อนำมาขายในโครงการรับจำนำข้าว
       
       ในอีกด้านหนึ่ง การรับซื้อข้าวปริมาณมากมายเป็นระยะเวลาข้ามปีเช่นนี้ ยังทำให้รัฐบาลเจอปัญหาขาดแคลนสถานที่จัดเก็บข้าวที่มีอุปกรณ์พร้อม กระทั่งว่าสามารถจัดเก็บข้าวในสภาพที่ดี คุณภาพข้าวก็ยังจะเสื่อมถอยลงได้หลังจากผ่านไป 1 หรือ 2 ปี
       
       เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีพาณิชย์ อ้างว่า รัฐบาลสามารถขายข้าวได้แล้วเป็นจำนวน 7.3 ล้านตันแบบรัฐต่อรัฐ ทว่าพวกประเทศที่ถูกเอ่ยชื่อว่าเป็นผู้ซื้อข้าวไทยกลับไม่มีรายใดออกมายืนยันรับรอง อีกทั้งพวกผู้ส่งออกก็ไม่พบว่ามีกิจกรรมความเคลื่อนไหวใดๆ ที่ท่าเรือซึ่งสามารถสนับสนุนข้ออ้างนี้
       
       รอยเตอร์ชี้ว่า ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญจากการดำเนินโครงการจำนำข้าว ก็คือ เรื่องเงินทุนจำนวนมากมายมหาศาลที่ต้องใช้ในการนี้
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชี้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยกำลังร้องเรียนว่าพวกเขาต้องรอเป็นเดือนๆ โดยที่ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าวจากรัฐบาลเสียที ขณะเดียวกันธนาคารของรัฐซึ่งบริหารโครงการนี้ก็โอดครวญว่า ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนที่ต้องใช้
       
       “รัฐบาลอาจจะไม่มีเงินเหลือแล้วมั้ง เพราะผมต้องรอมานานถึง 2 เดือนแล้ว” รอยเตอร์อ้างคำพูดของ นายประเสริฐ แจ่มโสภา ชาวนาวัย 66 ปีจากจังหวัดสุพรรณบุรีที่ขายข้าวเปลือก 35 ตันให้รัฐ พร้อมกับระบุต่อไปว่า จากข้อมูลของสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรกว่า 1,000 รายที่ประสบปัญหาคล้ายกันนี้ และกำลังประกาศว่าพร้อมที่จะเข้าร่วมประท้วงกับเกษตรกรจากจังหวัดอื่นๆ
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์แจกแจงว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำเนินการโครงการจำนำข้าว โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ปรากฏว่า ธกส.ใช้เงินซื้อข้าวไปแล้ว 400,000 ล้านบาทนับจากเดือนตุลาคม 2011 โดยซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึงประมาณ 50%
       
       ตามแผนการที่กำหนดไว้ กระทรวงพาณิชย์ต้องแปรรูปข้าวและนำไปจำหน่ายเพื่อนำเงินมาใช้คืน ธกส. แต่นายสุพัฒน์ วฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธกส. บอกกับรอยเตอร์ว่า ธนาคารเพิ่งได้รับเงินจากรัฐบาลเพียง 86,000 ล้านบาทเท่านั้น และจำเป็นต้องขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 70,000 ล้านบาทเพื่อให้สามารถปล่อยเงินกู้ให้กระทรวงพาณิชย์ นำไปรับจำนำข้าวต่อได้
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชี้ว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เนื่องจากสัญญาไปแล้วว่า จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรต่อไปอีก แต่นอกจากจะประสบปัญหาไม่มีสถานที่จัดเก็บแล้ว ยังเผชิญปัญหาขายไม่ออกถ้าหากไม่ยอมขาดทุนอย่างมโหฬาร
       
       ทั้งนี้เมื่อดูจากราคาข้าวในสัปดาห์นี้ ข้าวขาวชนิด 5% ของไทยเสนอขายที่ราคาตันละ 545 ดอลลาร์ (16,350 บาท) ถึงแม้ลดลงจาก 570 ดอลลาร์ (17,100 บาท) ตอนตอนต้นปี แต่ยังคงสูงกว่าราคาข้าวเกรดเดียวกันของอินเดียที่เสนอราคาที่ 450 ดอลลาร์ (13,500 บาท) และ 400 ดอลลาร์ (12,000 บาท) สำหรับข้าวเวียดนาม
       
       นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า รัฐบาลมีแผนระบายข้าวเก่าในสต็อก 500,000 ตันออกสู่ตลาดในเดือนหน้า โดยจะขายในราคาตลาดด้วยวิธีเปิดประมูลหรือขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล พร้อมยอมรับว่า ข้าวบางส่วนเป็นข้าวเก่าและคุณภาพไม่ดีนัก จึงไม่สามารถตั้งราคาสูงมากได้
       
       ทว่าพวกผู้ค้าข้าวและเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมพากันมองว่า ในทางเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไทยจะต้องขาดทุนอย่างมโหฬารต่างหาก ถ้าเทสต็อกข้าวออกขายในขณะที่มีข้าวจากอินเดียและเวียดนามเต็มตลาดเช่นนี้ ยิ่งกว่านั้นการที่เงินบาทแข็งค่าเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี ยังทำให้ข้าวไทยราคาแพงขึ้นเมื่อขายเป็นเงินดอลลาร์
       
       สำหรับผู้ผลิตคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่ฉวยจังหวะตีตื้นตอนที่ผู้ส่งออกไทยออกจากตลาดนั้น เวลานี้พวกเขากำลังจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เมื่อไทยถูกบีบให้นำข้าวครึ่งล้านตันออกขายในตลาดโลกที่ขณะนี้ถือว่ามีอุปทานพรั่งพร้อมดีอยู่แล้ว จะทำให้ราคาในตลาดโลกตกต่ำทรุดฮวบลงหรือไม่
       
       นายซามาเรนดู โมฮันตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (ไออาร์อาร์ไอ) แสดงความคิดเห็นว่า แม้การบริโภคในปีนี้ยังคงแข็งแกร่ง แต่ราคาข้าวในตลาดโลกอาจทรุดลงหากไทยปล่อยข้าวในสต็อกออกขาย
       
       ขณะที่นายเกียรติศักดิ์ กัลยาสิริวัฒน์ จากโนเวล อะกรีเทรด ขานรับว่า ราคาข้าวอาจร่วงลงถึง 20-30 ดอลลาร์ (600-900 บาท) ต่อตัน หากไทยระบายสต็อกข้าว แม้ความต้องการจากแอฟริกาหรือจีนอาจช่วยรองรับได้ก็ตาม
       
       ทางด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เตือนว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้รัฐบาลขาดทุนไปแล้ว 175,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาแทรกแซงกับราคาตลาด รวมถึงต้นทุนในการจัดเก็บ ค่าลอจิสติกส์ และค่าเสื่อมราคาจากคุณภาพข้าวที่ลดลง
       
       ทีดีอาร์ไอสำทับว่า หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ของไทยจะถึงขีดจำกัดที่กำหนดไว้คือ 60% จากราว 44% ในขณะนี้
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์สรุปว่า ไม่ว่าโครงการรับจำนำข้าวจะมีวัตถุประสงค์ใด แต่พวกเจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมนี้ชี้ว่า จำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้รอยเตอร์ได้อ้างคำพูดของนายวิชัย ศรีประเสริฐ ประธานกิตติมศักดิ์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งบอกว่า รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าโครงการนี้โดยไม่แก้ไขปรับเปลี่ยนได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เสถียรภาพการคลังของไทยล่มสลาย ส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีทุกคนไม่มียกเว้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่