'สื่อนอก'ชี้โครงการรับจำนำข้าว'เขมร-พม่า'สวมสิทธิ์7.5แสนตัน

เอเจนซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวรอยเตอร์เสนอรายงานข่าวเชิงลึก อ้างนักวิเคราะห์และพ่อค้าที่ศึกษาติดตามเรื่องนี้อยู่ชี้ว่า มีการลักลอบขนข้าวโจ๋งครึ่มทั้งด้วยรถบรรทุก 18 ล้อ เกวียน และปิ๊กอัพ จากกัมพูชาและพม่า รวมประมาณปีละ 750,000 ตันเข้าสู่ไทย ทั้งที่สต็อกภายในประเทศของไทยเองมีล้นโกดังถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ซื้อขายในตลาดโลกอยู่แล้ว โดยเหตุผลสำคัญของการแอบส่งข้าวข้ามพรมแดนกันอย่างมากมายเช่นนี้ ก็คือเพื่อสวมสิทธิ์ขายในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
       
        รายงานข่าวเชิงลึกของรอยเตอร์บอกว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ่ายเงินให้ชาวนาสูงเกือบเป็น 2 เท่าตัวของราคาข้าวในกัมพูชาและพม่า จึงชักนำให้เกษตรกรชาติเพื่อนบ้านของไทยพยายามฉกฉวยประโยชน์ส่งข้าวข้ามพรมแดนมาสวมสิทธิ์ถึง 750,000 ตันต่อปีทีเดียว ส่วนใหญ่มาจากกัมพูชาและพม่า
       
        รอยเตอร์อ้าง นายเกียรติศักดิ์ กัลยาสิริวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โนเวล อะกริเทรด ชี้ว่าเนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างข้าวไทยกับข้าวเขมร การลักลอบนำข้าวมาขายให้รัฐบาลไทยเพื่อทำกำไรจึงเป็นสิ่งที่ง่ายดายอย่างยิ่ง
       
        รายงานชิ้นนี้ชี้ว่า การลับลอบนำเข้าข้าวอย่างมโหฬารเช่นนี้ เพิ่มความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งประกาศอุดหนุนราคาข้าวเปลือกเป็นตันละ 15,000 บาทนับแต่ที่เธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพื่อหวังเอาใจชาวไร่ชาวนาที่เป็นฐานเสียงสนับสนุน ทว่ารัฐบาลของเธอผิดพลาดมากที่กล้าเดิมพันว่า ไทยจะสามารถต้อนตลาดข้าวโลกให้จนมุมด้วยการสต็อกข้าวเก็บเอาไว้
       
        แทนที่จะเป็นแบบนั้น รัฐบาลไทยที่ขาดดุลงบประมาณอยู่แล้วถึง 300,000 ล้านบาทในปีงบประมาณปัจจุบัน กำลังมีปัญหาในการหางบมาสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าว และเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูดี้ส์เตือนว่า นโยบายประชานิยมอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในเรื่องวินัยทางการคลัง
       
        เดือนที่แล้ว รัฐบาลแถลงว่า ขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 136,400 ล้านบาทในปีการผลิตที่สิ้นสุดเดือนกันยายน 2012 และปัจจุบัน สต็อกข้าวของไทยอยู่ที่ 18 ล้านตัน หรือเกือบเป็นสองเท่าตัวของยอดส่งออกปกติในแต่ละปี และเกือบเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณข้าวที่ซื้อขายในตลาดโลกต่อปีจำนวน 38 ล้านตัน
       
        การที่ไทยยังถือสต็อกเอาไว้ล้มหลามแบบนี้ ก็เพราะถ้านำออกขายจะต้องขาดทุนก้อนโต ในเมื่อข้าวเปลือกในราคาแทรกแซงที่ตันละ 15,000 บาท จะต้องขยับเป็นกว่า 23,000 บาทเมื่อสีเป็นข้าวสารแล้ว แต่ตามข้อมูลของผู้ค้าข้าว ราคาข้าวสารในตลาดเปิดของไทยขณะนี้อยู่ที่ราวตันละ 14,725 บาท ซึ่งก็ถือวาสูงมากไปแล้วเมื่อเทียบกับประมาณ 12,400 บาทในเวียดนาม
       
        ปัจจุบันจากที่เคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวในตลาดโลก ไทยกลับตกลงเป็นที่ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม มิหนำซ้ำคุณภาพข้าวในโกดังยังลดลง เนื่องจากข้าวลักลอบนำเข้าส่วนใหญ่เป็นปลายข้าวที่นำมาผสมรวมกับข้าวเต็มเมล็ดของไทย
       
        ด้วยเหตุนี้เอง เบน ซาเวจ กรรมการผู้จัดการแห่ง แจ๊กสัน ซัน แอนด์ โค บริษัทโบรกเกอร์ด้านข้าวที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงลอนดอน และทำกิจการด้านนี้มาตั้งแต่ปี 1860 ชี้ว่า ปัจจุบันส่วนต่างด้านราคาระหว่างข้าวที่มีส่วนผสมของปลายข้าวอยู่ 5% กับข้าวที่เป็นปลายข้าว 100% ในไทยจึงแคบลงเพียงตันละ 930 บาท จาก 1,860 บาทเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และ 2,635 บาทในปี 2011
       
        รายงานข่าวเชิงลึกของรอยเตอร์ชี้ว่า พรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาช่วงยาวเหยียดทีเดียวไม่มีปราการธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ และภูเขาสูง การที่ชาวบ้านสามารถข้ามแดนระหว่างกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้การลักลอบนำเข้าข้าวจากเขมรชุกชุมอย่างมาก
       
        นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ยอมรับว่า ตราบที่ราคาข้าวไทยยังสูงอยู่ ไทยคงไม่อาจหยุดยั้งการลักลอบส่งข้าวจากกัมพูชาเข้ามาทำกำไรได้ และสำทับว่า ก่อนหน้านี้เพิ่งยึดข้าวได้ 60 ตัน
       
        ส่วนนายนพดล เทพประสิทธิ์ นายด่านศุลกากรอรัญประเทศในจังหวัดสระแก้ว เสริมว่าเมื่อเร็วๆ นี้สามารถสกัดข้าว 30 ตันที่ลักลอบเข้ามาจากกัมพูชา และเชื่อว่า มีการลักลอบนำเข้าข้าวจำนวนมากกว่านี้ผ่านจุดผ่านแดนเล็กๆ ที่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจจับ
       
        เขาเสริมว่า ข้าวถูกขนเข้ามาด้วยเกวียนขนาดเล็ก ก่อนขนถ่ายขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปขายต่อในจังหวัดต่างๆ ของไทย
       
        ทางด้านเจ้าหน้าที่ไทยที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามขานรับว่า การลักลอบนำเข้าบางครั้งมีปริมาณมากกว่าที่ชาวบ้านร่ำลือกันหรือมากกว่าที่จะสามารถขนใส่เกวียนมาได้ โดยบางครั้งมีการขนข้าวขึ้นรถบรรทุก 18 ล้อข้ามด่านเข้าสู่ประเทศไทยทีเดียว
       
        รอยเตอร์ชี้ว่า อันที่จริงการลักลอบนำเข้าข้าวจำนวนเล็กๆ น้อยๆ มีมานานแล้ว แต่โครงการรับจำนำข้าวทำให้ปริมาณการลักลอบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมกับอ้าง ดาร์เรน คูเปอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากสภาธัญพืชนานาชาติในลอนดอน ซึ่งประเมินว่า มีข้าวสารถูกลักลอบนำเข้าเมืองไทยถึงปีละ 750,000 ตัน หรือเท่ากับข้าวเปลือกราว 900,000 ตันต่อปี
       
        คูเปอร์ฟันธงว่า การลักลอบส่งข้าวเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนับแต่รัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ขานรับว่า ในช่วง 2 ปีแรกของโครงการรับจำนำข้าว ไทยนำเข้าข้าว 600,000 ตันต่อปี โดยเพิ่มจาก 200,000 ตันในฤดูปี 2010/2011
       
        ในส่วนของ คุง วุน นายกสมาคมโรงสีข้าวจังหวัดบันเตียเมียนเจยในกัมพูชา ระบุว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรและตำรวจจะอนุญาตให้นำข้าวข้ามแดนตราบเท่าที่มีใบอนุญาตส่งออกมาแสดง
       
        จากตัวเลขของทางการระบุว่า ปีที่ผ่านมา ข้าวที่กัมพูชาส่งออกโดยถูกกฎหมายไปยังประเทศต่างๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 205,177 ตัน
       
        ตอน วิรัก ผู้อำนวยการของ กรีน เทรด กิจการส่งออกข้าวของรัฐบาลกัมพูชาประเมินว่า ปีที่ผ่านมามีการลักลอบส่งข้าวเปลือกมายังไทยถึง 300,000 ตันโดยประมาณ หรือเท่ากับในปี 2011 แต่สำหรับปีนี้คาดว่า ปริมาณจะลดลงเนื่องจากไทยมีมาตรการเข้มงวดขึ้นและปิดจุดผ่านแดนหลายแห่ง
       
        สำหรับพม่า การขาดแคลนโรงสีคุณภาพดี กลายเป็นการจำกัดความต้องการส่งออกโดยถูกกฎหมาย แต่ส่งเสริมการลักลอบส่งออก
       
        ออง จ่อ ทู ผู้จัดการธุรกิจการเกษตรของเอสจีเอส บริษัทตรวจสอบการจัดส่งสินค้าในนครย่างกุ้ง ประเมินว่า มีการลักลอบส่งข้าวเข้าไทยราว 120,000 ตันในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นปลายข้าวคุณภาพต่ำ และเข้าใจว่า ข้าวเหล่านั้นถูกนำไปขายให้โครงการรับจำนำข้าว อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนระบุว่า ข้าวบางส่วนขายให้ผู้ผลิตบะหมี่และอาหารสัตว์ เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวทำให้ข้าวที่ควรจะนำไปแปรรูปเหล่านั้นขาดแคลนหรือมีราคาแพงขึ้น
       
        รายงานข่าวเชิงลึกของรอยเตอร์กล่าวในตอนท้ายว่า เดือนที่แล้ว รัฐบาลไทยประกาศลดราคาจำนำข้าวเหลือตันละ 12,000 บาท แต่เพียงหนึ่งวันก็กลับลำและรับซื้อข้าวในราคาเดิมหลังถูกเกษตรกรขู่ประท้วง และนายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ ก็ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์หลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ขาดความน่าเชื่อถือและขาดความโปร่งใสเกี่ยวกับต้นทุนโครงการรับจำนำข้าว
       
        ด้านเจ้ากระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เผยว่า จะเปิดประมูลข้าวในสต็อกเดือนละ 1.5 ล้านตันจนถึงสิ้นปี รวมทั้งพยายามขายให้แก่รัฐบาลของประเทศอื่น
       
        อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แผนการดังกล่าวจะลุล่วงได้อย่างไรหากไม่มีการเสนอลดราคาให้แก่ผู้ส่งออกหรือรัฐบาลประเทศอื่น แต่หากทำเช่นนั้นก็อาจเข้าข่ายเป็นการทุ่มตลาด โดยขณะนี้ สหรัฐฯและอีกหลายชาติเริ่มร้องเรียนกับองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า นโยบายขายและสต็อกข้าวของรัฐบาลไทยนั้นขาดความโปร่งใส





เขารู้กันทั้งโลกว่า เครือญาติพวกพ้อง นักการเมือง ทุจริตโกงกินกันมโหฬารขนาดไหน กับนโยบายนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่