ตามรอยเสียงหวูด "รถไฟความเร็วสูง" ทั่วโลก สเป็กแบบไหน "จีน-ญี่ปุ่น-ฝรั่ง" ใครมาวิน

กระทู้สนทนา


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


เป็นที่ทราบกันดีว่า "รัฐบาลเพื่อไทย" กำลังทุ่มเม็ดเงิน 753,105 ล้านบาท ปูพรมลงทุนสร้าง "รถไฟความเร็วสูง" หรือไฮสปีดเทรน เฟสแรก 4 สายทาง เชื่อมกรุงเทพฯ กับ 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ตามที่ได้ประกาศไว้

ประมูลงานระบบ 1.5 แสนล้าน

สูตรการลงทุนตามมาตรฐานโลก จากวงเงินลงทุนทั้งโครงการนั้น ใน 100% จะแยกเป็นค่าก่อสร้างและที่ดิน 80% อีก 20% จะเป็นส่วนลงทุน "งานระบบรถ" เมื่อคิดรวมใน 4 สายทาง มูลค่าการลงทุนจะอยู่ที่ 150,621 ล้านบาท ขณะที่ราคารถไฟทั่วโลก เฉลี่ยอยู่ที่ 57-123 ล้านบาท/ขบวน นับเป็นเค้กก้อนใหญ่ ที่ "ผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูง" จากทั่วโลกจับจ้องตาเป็นมัน


มิ.ย.นี้เปิดโชว์ของจริง

ในแผนงานของ "กระทรวงคมนาคม" เจ้าของโครงการ ประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2556 นี้ เตรียมทุ่มเม็ดเงินหลักหลาย 100 ล้านบาท เนรมิตพื้นที่คาร์โก้ 3 สนามบินดอนเมืองกว่า 20,000 ตารางเมตร ให้ผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงจากทั่วโลกโชว์เทคโนโลยีของจริง ก่อนจะเปิดประมูลในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ผู้ผลิตที่ตอบรับมาแน่นอนแล้ว ขณะนี้มี "จีน-ญี่ปุ่น-กลุ่มยุโรป" ส่วน "สเป็ก-ราคา" ใครจะถูกใจรัฐบาลเพื่อไทยต้องรอลุ้นอีกที เพราะของแบบนี้ต้องดูกันนาน ๆ

ซื้อยกลอต 4 สาย

มีคำถามว่าทำไม "คมนาคม" ถึงประมูลงานระบบก่อน ได้รับคำตอบจาก "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รมว.คมนาคม ว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ก่อนอื่นต้องคัดเลือกระบบให้ได้ก่อนว่าจะใช้ของประเทศไหน เพื่อให้เป็นระบบเดียวกันทั้ง 4 สายทาง เนื่องจากงานระบบจะเป็นสิ่งสำคัญสุดของโครงการ จากนั้นจึงจะออกแบบงานก่อสร้างมารองรับ ซึ่งถ้าจะแยกคนละระบบคนละสาย จะทำให้การบริหารเดินรถในอนาคตลำบากอย่างแน่นอน

"โครงการนี้เราเปิดประมูลแบบนานาชาติ เชิญทั่วโลกที่สนใจเข้ามาลงทุน เราดูระบบที่จะใช้เดินรถทั้ง 4 สาย เพราะซื้อลอตใหม่อาจจะได้ราคาที่ถูกลง ประหยัดต้นทุนโครงการไปได้อีก ส่วนการก่อสร้างสามารถออกแบบให้มารองรับได้ และจะเป็นใครมาก่อสร้างให้ก็ได้" รมว.คมนาคมกล่าวไว้

สปีดความเร็ว 250 กม./ชม.

สำหรับสเป็กรถที่จะกำลังยกร่างทีโออาร์เพื่อเปิดประมูล คาดว่าภายในไตรมาส 2/56 ทาง "รมว.ชัชชาติ" บอกว่า กำหนดความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง แต่กำลังพิจารณาจะแยก "สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง" ออกมาต่างหาก เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ น่าจะใช้ความเร็วของรถวิ่งให้บริการเท่ากัน คือประมาณ 160 กม./ชั่วโมง

"สเป็กจะมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตจากยุโรป จีน หรือญี่ปุ่นก็ได้ ของดีอาจจะถูกหรือแพงกว่าก็ได้ เราเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว เพราะเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลบิดดิ้ง"

ส่วน "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า...ประเทศไทยเราไม่จำเป็นต้องไปแข่งความเร็วกับใคร จะเป็นระบบไหนก็ได้ แต่ขอให้ปลอดภัย เราพยายามบาลานซ์ไม่ให้ผูกมัดใคร

จีน-ญี่ปุ่นŽ คู่แคนดิเดต

แม้บิ๊กคมนาคมทั้งสองยังไม่ฟันธง ! แต่วงในต่างรู้ดีว่าหนีไม่พ้น 2 ยักษ์แห่งเอเชีย คือ "จีน-ญี่ปุ่น" ที่จะเป็นคู่ชิงดำ ประเมินจากขันอาสาเข้ามาศึกษาแนวเส้นทางให้รัฐบาลไทยแบบฟรี ๆ เป็นใบเบิกทางแล้ว

แหล่งข่าวจากวงการประมูลภาครัฐกล่าวว่า งานประมูลโครงการนี้ดูเหมือนจะลงตัวกันมาแล้ว โดย "จีน" สนใจสายต่อเชื่อมแนว "อีสาน-ใต้" เชื่อมชายแดนลาวที่หนองคายไปถึงปาดังเบซาร์ ต่อยอดการขนส่งสินค้า ซึ่งจีนทุ่มทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงรออยู่ที่ฝั่ง "สปป.ลาว" แล้ว

ขณะที่ "ญี่ปุ่น" อาจจะเป็นผู้สร้างสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กับสายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยองกล่าวสำหรับคนที่อยากเห็นโครงการเกิดเร็ว ๆ มีเสียงเชียร์ว่า กลยุทธ์หลักเพียงแค่เลือก "จีน" มาก่อสร้าง เพราะเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนทั่วโลกมาแล้วว่า เมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการในประเทศจีนที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็เกิดได้

ดังนั้นศักยภาพแบบจีน ๆ จะเป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จของ "ไฮสปีดเทรนไทยแลนด์" ได้ภายใน 4 ปี

ขณะที่ "ราคาค่าก่อสร้าง" งานโยธารวมระบบรถเฉลี่ย 420 ล้านบาท/กม. ถูกกว่าคู่แข่ง แต่...เรื่องความปลอดภัยต้องรอพิสูจน์กันนาน ๆ

เจแปนต้นแบบไฮสปีดเทรน

เมื่อพูดพาดพิงถึงเรื่องความปลอดภัย ชื่อชั้นของผู้ผลิต "ญี่ปุ่น" ก็มาแรงทันที แม้ต้นทุนจะค่อนข้างแพง เฉลี่ย 600 ล้านบาท/กม. แต่ญี่ปุ่นก็เป็นเจ้าแรกที่บุกเบิก "รถไฟความเร็วสูง" เมื่อปี 2507 หรือ 50 ปีที่แล้ว วิ่งด้วยความเร็วสูง 210 กม./ชั่วโมง รวม 2,459 กม. ปัจจุบันวิ่งด้วยความเร็ว 300 กม./ชั่วโมง

"ไฮสปีดเทรนเจแปน" ยังได้เป็นแรงผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ นำไปเป็นโมเดลต้นแบบพัฒนารถไฟความเร็วสูงของประเทศตัวเองมาแล้วทั่วโลกไม่ว่าเป็น "ฝรั่งเศส" มี "รถไฟความเร็วสูง TGV" เปิดให้บริการเป็นเส้นแรกสายตะวันออกเฉียงเหนือ วิ่งจาก "ปารีส-ลียง"

เมื่อปี 2524 ด้วยความเร็ว 320 กม./ชั่วโมง เชื่อมเมืองหลักต่าง ๆ กว่า 149 เมือง

จากนั้นขยายเส้นทางและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีมาต่อเนื่อง จนสามารถผลิตและเป็นผู้จำหน่ายระบบรถไฟความเร็วสูงให้กับประเทศทั่วโลก

ด้าน "อังกฤษ" ก็เริ่มเปิดให้บริการ "รถไฟความเร็วสูง Eurostar" ครั้งแรกในปี 2524 ความเร็วสูงสุด 200 กม./ชั่วโมง ให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 100 ล้านคน

5 ปี จีนมีเฉียด 1 หมื่น กม.

ส่วน "จีน" เพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2551 หรือ 5 ปีที่แล้วนี่เอง โดยนำต้นแบบการพัฒนามาจากประเทศเยอรมนี เป็นเส้นทางทดสอบวิ่งบริการสั้น ๆ จาก "ปักกิ่ง-เทียนสิน" จากนั้นก็โหมลงทุนก่อสร้างและขยายเส้นทางเพิ่ม จนกลายเป็น "เจ้าสถิติความเร็ว-ระยะทางยาวที่สุด" ของโลกมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง 9,676 กม.

ล่าสุดเมื่อ 26 ธ.ค. 2555 เปิดเส้นทางสายยาวที่สุด "ปักกิ่ง-กวางโจว" ด้วยระยะทาง 2,298 กม. ความเร็ว 300 กม./ชั่วโมง ย่นเวลาเดินทางจาก 22 เหลือ 8 ชั่วโมงเท่านั้น

ประเทศอื่น ๆ เช่น "ไต้หวัน" มีระยะทาง 345 กม. วิ่งเลียบชายฝั่งด้านตะวันตก จาก "เมืองหลวงไทเป-เมืองเกาสง" ทางตอนใต้ของประเทศ ความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูง 285-300 กม./ชั่วโมง

"เกาหลีใต้" เริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จาก "กรุงโซล-ปูซาน" ความยาว 431 กม. เมื่อปี 2535 ใช้ "ระบบรถไฟทีจีวี-แอลจีวี" ของฝรั่งเศส ความเร็วสูงสุด 305 กม./ชั่วโมง

สุดท้ายมาดู "สหรัฐอเมริกา" จะแตกต่างจากเอเชียและยุโรป โดยใช้ทางรถไฟร่วมกับทางรถไฟธรรมดา มีความเร็วเฉลี่ยตลอดเส้นทาง 109 กม./ชั่วโมง แต่ระยะสั้น ๆ วิ่งได้ถึง 240 กม./ชั่วโมง กล่าวสำหรับประเทศไทย รัฐบาลจะขอเริ่มชิมลาง 4 สายแรก ด้วยความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง...เท่านั้นก็พอ


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1359954072&grpid=02&catid=07&subcatid=0703

==============================

ข่าวตั้งแต่เดือนก.พ.แล้ว เขามีแผนงานเป็นระบบ
มีการแสดงของจริงให้ชมด้วย นี่แหละความรอรอบครอบของรบ.
เพราะบทเรียนมีให้เห็น จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เห็น ให้รู้ เพื่อความโปร่งใส

นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศไม่เสียเปล่า ไปเพื่อดูงาน
เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ มิใช่ไปมือเปล่า โดยไม่ได้อะไรกลับมา

ดีกว่าส่งคนไปดูงาน แต่ไม่ได้นำผลงานมาพัฒนาประเทศเลย
หลายหน่วยงานแล้ว ล้วนสมองไหลกันแทบหมด มากี่ยุค กี่สมัยแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่