คู่กรรม แง่มุมประวัติศาสตร์ ทำไมญี่ปุ่นบุกไทย

คู่กรรมเป็นหนึ่งในนิยายที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยมากที่สุดและถูกแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง ฉากหลังของนิยายรักเรื่องนี้ อยู่ในช่วงเวลาของเหตุการณ์ที่สำคัญของโลก นั่นคือ สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามครั้งนี้ก็เป็นสงครามที่ไทยถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ด้วย

นิยายเรื่อง คู่กรรม เป็นบทประพันธ์ของ ทมยันตี (คุณหญิง วิมล เจียมเจริญ) ที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2508 และตีพิมพ์เป็นตอนๆลงในนิตยสารศรีสยาม (ในเครือขวัญเรือน) ก่อนจะพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 และได้รับความนิยมจนมีการพิมพ์ซ้ำอีกนับสิบครั้ง

เรื่องราวของคู่กรรม เปิดฉากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสงครามได้เริ่มขึ้นในทวีปยุโรป โดยกองทัพนาซีเยอรมันเปิดศึกกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ขณะที่ทางภาคพื้นเอเชียกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานจีนอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนทางรัฐบาลไทยในยุคนั้นซึ่งนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศตัวเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดโดยหวังว่าจะช่วงป้องกันไม่ให้กระแสของสงครามลุกลามเข้ามาได้ แต่ทว่าเรื่องก็ไม่ได้เป็นดังนั้น



กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพเข้าจีน



นับแต่ญี่ปุ่นเริ่มทำสงครามเต็มรูปแบบกับจีน ในปี ค.ศ.1936 ญี่ปุ่นก็ได้ส่งสายลับแทรกซึมเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยสายลับพวกนี้บ้างก็เป็นหมอ เป็นช่างภาพ เป็นเจ้าของร้านค้า เหมือนเช่นในคู่กรรมจะเห็นตัวละครตัวหนึ่งที่ชื่อ หมอโยชิ ซึ่งเป็นหมอฟันที่สนิทสนมกับอังศุมาลิน แต่ปรากฏว่าแท้จริงกลายเป็นนายทหารญี่ปุ่นปลอมตัวมา สายลับเหล่านี้ได้รวบรวมข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับประเทศไทยและส่งกลับไปยังกองทัพญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นข้อมูลหากจะต้องเปิดศึกทางภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่กี่ปีหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ได้เปิดศึกจริงดังที่คาดไว้

โดยในขณะนั้นญี่ปุ่นได้วางแผนประสานงานกับเยอรมันในการบุกเข้าโซเวียตรัสเซีย ทว่าการโจมตีรัสเซียโดยเข้าทางไซบีเรียที่อยู่ทางตอนเหนือของจีนทำได้ยากลำบาก ญี่ปุ่นจึงคิดจะบุกจากทางใต้ขึ้นเหนือโดยผ่านไทยเข้าพม่าและอินเดียจากนั้นก็เคลื่อนทัพจากอินเดียบุกเข้าเอเชียกลางซึ่งเป็นดินแดนของโซเวียต และนี่เองที่ทำให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 (ค.ศ.1941) ซึ่งตรงกับช่วงงานฉลองรัฐธรรมนูญของไทยพอดี



จอมพล ป. พิบูลสงคราม



กองทัพญี่ปุ่นใช้เรือรบ 32 ลำ ปิดอ่าวของไทยจากปางปูสมุทรปราการเรื่อยไปจนถึงปัตตานีจากนั้นทหารญี่ปุ่นจำนวนห้าหมื่นนายก็ยกพลขึ้นบกที่สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลาและปัตตานี

ก่อนหน้ากองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกประมาณหนึ่งอาทิตย์ รัฐบาลไทยได้ทราบข่าวระแคะระคายมาบ้าง จึงได้มีประกาศให้ราษฏรเตรียมพร้อมรับการรุนรานจากกองทัพต่างชาติ ดังนั้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก จึงได้รับการต้านทานอย่างดุเดือดจากทหาร ตำรวจ ยุวชนทหารและราษฎร จนทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ทว่าหลังจากปะทะกันได้เพียงครึ่งวัน รัฐบาลไทยก็ประกาศหยุดยิงและยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศได้



สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลไทยยอมหยุดยิงนั้น เนื่องมาจากก่อนหน้านั้น รัฐบาลไทยได้ขอความช่วยเหลือจากอังกฤษและสหรัฐ ทว่าทั้งสองชาติทำได้เพียงแสดงความเห็นใจแต่ไม่อาจให้ความช่วยเหลือใด ๆ เพื่อต้านทานกองทัพญี่ปุ่นได้ ทำให้รัฐบาลไทยเล็งเห็นว่า หากสู้ต่อไป คงไม่พ้นต้องยับเยินเหมือนอย่างชาติอื่น ๆ

ทั้งนี้ในเวลาดังกล่าว นอกจากกำลังพลห้าหมื่นนายและเรือรบ 32 ลำแล้ว ญี่ปุ่นยังส่งรถรบกว่าหกร้อยคันและทหารอีกสองหมื่นห้าพันนายพร้อมเครื่องบินรบนับร้อยลำเข้ามาทางอินโดจีนด้วย ขณะที่กองทัพไทยมีกำลังทหารประจำการเพียงสามหมื่นนายและรถรบไม่ถึงหนึ่งร้อยคันเท่านั้น อีกทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ก็มีน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ติด รัฐบาลไทยจึงไม่มีทางเลือกนอกจากยอมจำนนและให้ญี่ปุ่นผ่านทางซึ่งจากเหตุการณ์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นใกโบริได้เจอกับอังศุมาลินใน คู่กรรม

หลังจากไทยยอมจำนนและยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทางแล้ว กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดสถานที่สำคัญในกรุงเทพหลายแห่งและใช้เป็นฐานทัพ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องถูกปิด เพราะกองทัพญี่ปุ่นได้ใช้สถานที่เป็นกองบัญชาการ จากนั้น ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นก็ได้บีบไทยให้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรและประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้เกิดความเห็นแตกแยกภายในคณะรัฐบาลของไทยและเมื่อนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ได้มีรัฐมนตรีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ล้วนถูกปลดออกภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น



นายปรีดี พนมยงค์



นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ที่คัดค้านการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรงและได้ถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 10 ธันวาคม ก่อนหน้าการตกลงร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นของรัฐบาลไทยสองวัน

หลังจากถูกปลด นายปรีดี ได้รวบรวมพรรคพวกหลายฝ่ายทั้งข้าราชการ พ่อค้า นักศึกษา ประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ก่อตั้งขบวนการใต้ดิน โดยเรียกว่าองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นขบวนการที่ วนัส เพื่อนคนพิเศษของนางเอก ในเรื่องคู่กรรม ไปเข้าร่วมนั่นเอง

เรื่องจาก : http://www.komkid.com

เพิ่มเติมตอนใหม่

คู่กรรม ประวัติศาสตร์กับนิยาย ตอนที่ 3 ชีวิตอังศุมาลินและชาวไทยยุคสงครามโลก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่