••• ขยะอิเล็กทรอนิกส์ •••

สวัสดีครับพี่ๆ เพื่อนๆ



อมยิ้ม17อมยิ้ม17



วันนี้น้องพาพันมีโอกาสไปห้องสมุด และไปเจอหนังสือเล่มนึงมา ชื่อ "วารสารผลิใบ" เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเช่นเคยครับ น้องพาพันอ่านดูแล้วเข้ากับโครงการ Use Me Again ของเราเลย เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับของไอทีโดยเฉพาะ แถมยังอ่านเข้าใจง่ายด้วย

ว่าแล้วก็ไปอ่านกันเลยดีกว่าครับ รับรองว่าได้ประโยชน์แน่นอน

อมยิ้ม33อมยิ้ม33



ขยะอิเล็กทรอนิกส์



เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า โทรทัศน์ที่เสียแล้ว วิทยุที่พังแล้ว หรือคอมพิวเตอร์ที่ตกรุ่นหายไปไหน

เราทิ้งมันไว้ที่หน้าบ้าน รอให้เทศบาลจัดการ หรือขายให้รถซาเล้ง หรือรถรับซื้อของเก่า แล้วจากนั้นละ เขาเอาไปทำอะไรได้บ้าง เอาไปซ่อมเพื่อขายต่อ เอาไปแยกขาย เอาไปทิ้งที่กองขยะอ่อนนุช หรือเอาไปทิ้งที่หลุมฝังกลบอย่างถูกต้องปลอดภัย โทรทัศน์ที่ใช้งานไม่ได้หรือไม่ดี จอคอมพิวเตอร์ที่เสียหรือตกรุ่น อุปกรณ์ต่อพ่วงที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ เครื่องรับส่งเอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร วิทยุ สเตริโอ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นวีดีโอ วีซีดี ดีวีดี เลเซอร์ดิส กล้องถ่ายวีดีโอ โทรศัพท์บ้าน และวีดีโอเกมส์ ทั้งที่ใช้งานไม่ดี เสียแล้ว หรือตกรุ่นเหล่านี้ กลายสภาพเป็น “ขยะ” เมื่อเราไม่ต้องการ เป็นขยะพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่เราเรียกว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์’’

เราเริ่มพบปัญหาในการกำจัดขยะเหล่านี้ เมื่อขยะพันธุ์ใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น โทรศัพท์มือถือ อัตราการขยายตัวธุรกิจทางด้านโทรคมนาคมในประเทศไทยสูงมาก ในปัจจุบันคนไทยทั้งประเทศ 67 ล้านคน สับเปลี่ยนการใช้มือถือ ปีละ 10-15 ล้านเครื่อง ถ้ามือถือเครื่องหนึ่งมีนํ้าหนักเฉลี่ยประมาณ 1.5 ขีด หมายความว่าเรามีขยะจากมือถือปีละประมาณ 1,500-2,250 ตัน

แล้วขยะพวกนี้ไปไหน ...

นอกจากนี้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รุนแรงที่สุด คือ อันตรายที่เกิดจากตัวขยะเอง เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานให้สูง สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น เช่น สามารถประมวลผลการทำงานได้เร็วขึ้น สามารถทำงานได้หลายอย่างในเครื่องเดียวกัน (copy scanner & printer) ส่งผลให้เครื่องมือเหล่านี้ มีอุปกรณ์ในการทำงานซับซ้อน ใช้วัสดุในการผลิตหลากหลายขึ้น และกรรมวิธีในการผลิตยุ่งยากมากขึ้น วัสดุในการผลิตเหล่านี้เป็นวัตถุอันตราย เช่น ปรอทหรือแคดเมียม บางชนิดเป็นวัสดุที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากพลาสติก ทำให้ขยะพันธุ์ใหม่นี้เป็นขยะอันตราย (hazardous waste) ที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

จอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาสำคัญ จอเหล่านี้ทำหน้าที่ในการรับสัญญาณไฟฟ้าและแปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นภาพปรากฏบนหน้าจอ จอเหล่านี้ประกอบด้วยหลอดเเก้วเคลือบหรือฉาบทองแดงและตะกั่ว ทำหน้าที่แสดงภาพที่หน้าจอ ตัวจอทำจากพลาสติกหรือไม้ แผงวงจรไฟฟ้าทำหน้าที่รับคลื่นหรือสัญญาณไฟฟ้า แล้วแปลงกระแสไฟฟ้าให้เป็นอิเล็กตรอนไปชนหลอดแก้วทำให้เกิดภาพ

ตะกั่วที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของจอคอมพิวเตอร์นั้นจัดเป็นวัตถุอันตราย หากตะกั่วที่อยู่ในจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสปนเปื้อนสู่ธรรมชาติ เมื่อนำไปฝังอาจเกิดการสะสมสารตะกั่วในดินหรือแหล่งนํ้า เมื่อคนเราดื่มน้ำที่มีสารปนเปื้อนก็ย่อมได้รับและสะสมสารตะกั่วไว้ในร่างกาย เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS) สะสมนานวันเข้า ทำให้ระบบประสาทไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายได้

ปัจจุบันแนวโน้มในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี จึงมุ่งเน้นการนำชิ้นส่วนต่างๆ กลับมาใช้อีก (reuse) หรือกลับมาใช้ใหม่ (recycle) โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

• ถอดประกอบ (remanufacturing) ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะถูกแยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ เพื่อแยกชิ้นส่วนที่สามารถใช้อีก เช่น แผ่นบันทึกความจำ, ชิป หรือช่องใส่แผ่นดิสก์ เพื่อนำกลับไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ต่อไป

• การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ส่วนประกอบอื่นๆ ที่เหลือจะถูกแยกส่วนตามชนิดของวัสดุ ก่อนส่งโรงงานที่สามารถแปรรูปวัสดุเหล่านี้กลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง

• พลาสติก เป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างภายนอกของเครื่องใช้ไฟฟ้าพลาสติกที่สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ (recycle plastic) จะถูกทำความสะอาดก่อนส่งเข้าเตาหลอมเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป พลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (unrecyclable plastic ) จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งโรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศเริ่มตื่นตัวในการใช้วัสดุเหล่านี้เป็นวัสดุในการทดแทนวัสดุเชื้อเพลิงให้ความร้อน

• แก้ว ที่ไม่มีส่วนผสมของตะกั่ว หรือไม่ผ่านการเคลือบตะกั่วในการใช้งาน จะต้องผ่านการทำความสะอาดเพื่อกำจัดตะกั่ว ก่อนส่งเข้าโรงงานหลอมแก้ว

ส่วนโลหะที่เป็นส่วนประกอบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

• เหล็ก เป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งเป็นส่วนประดับ (decrorative piece) และเพิ่มความแข็งให้โครงสร้างเหล็ก จะถูกแยกและส่งเข้าโรงงานหลอมเหล็ก เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยตรง

• โลหะมีค่า เช่น ทองแดง, เงิน, ทอง ที่เป็นส่วนประกอบหลักของสายไฟและวงจรไฟฟ้า เนื่องจากมีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าที่ดี เมื่อผ่านการแยกชิ้นได้ โลหะมีค่าเหล่านี้ออกจากแผงวงจรไฟฟ้าหรือสายไฟแล้ว โลหะเหล่านี้จะถูกส่งไปทำความสะอาดที่โรงหลอมเพื่อกลับเป็นวัตถุดิบในการใช้งานต่อไป

ปัญหาที่เกิดจากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น เกิดที่กระบวนการแยกโลหะมีค่าออกจากสายไฟและแผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากโลหะมีค่าในสายไฟจะถูกหุ้มด้วยพลาสติกที่มีส่วนผสมของคลอไรด์และไม่สามารถรีไซเคิลได้ ส่วนแผงวงจรไฟฟ้านั้นมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนกว่าสายไฟ และมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม โลหะเหล่านี้สามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีกับนํ้าและปนเปื้อนกระจายสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย

วิธีการแยกโลหะมีค่าออกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ มักใช้การลอกเปลือยสายไฟเพื่อแยกลวดทองแดงออกมาขาย หรือการเผาสายไฟและวงจรไฟฟ้าเพื่อแยกเอาโลหะมีค่าที่เหลืออยู่ไปขายนั้น ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้และเกิดภาวะมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพราะเมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความร้อนพลาสติกและสารเชื่อมรวม ทั้งโลหะบางชนิดจะระเหิดเป็นไอ หรือทำปฏิกิริยากับอากาศ เกิดเป็นควันพิษหรือสารพิษก่อให้เกิดอันตรายต่อคนหรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเกิดความพยายามในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ ดังเช่น สนธิสัญญาบาเซล (Basel convention) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศในการขนย้ายขยะอันตรายข้ามประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาในการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศที่พัฒนาแล้วไปทิ้งยังประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคีสนธิสัญญานี้

นอกจากนี้มีการจัดทำระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment, WEEE) เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติของสหภาพยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้นำชิ้นส่วนหรือวัสดุกลับคืน รวมถึงการใช้ซํ้า และการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านระบบการรับคืนและการจัดเก็บรวบรวมของผู้ผลิต เป็นระเบียบที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักความรับผิดชอบของผู้ผลิต และใช้กลไกตลาดในการบังคับให้ผู้ผลิตหากลยุทธ์ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

ที่มา: วารสารผลิใบ ปีที่ 11 ฉบับที่ 62-64 กรกฎาคม – ธันวาคม 2547 ISSN 0858-9623

อมยิ้ม29อมยิ้ม29

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่