ดาวหางยักษ์ ISON จะมาเยือนปลายปี 2013

ISON เป็นชื่อเล่นของดาวหาง C/2012 S1 ที่ตั้งตามชื่อสถาบันดาราศาสตร์ (International Scientific Optical Network) เพราะขณะนี้ยังไม่มีชื่อเป็นทางการ แต่ถ้าต่อไปจะมีการตั้งชื่อให้ คาดว่าจะได้รับชื่อ Nevski-Novichonok ตามชื่อผู้ค้นพบ

ดาวหางดวงนี้อาจจะเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบร้อยปี หรืออาจจะหลายร้อยปี เนื่องจากถูกค้นพบจากระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไกลลิบ ตั้งแต่ 21 กันยายน 2012 ซึ่งเป็นการค้นพบจากภาพถ่ายท้องฟ้าที่ถ่ายต่อเนื่องไว้ตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2011 จากระยะห่างเลยดาวพฤหัสออกไปเกือบถึงวงโคจรของดาวเสาร์ เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก (very large) นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวหางดวงนี้เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จะสว่างประมาณแมกนิจูด -10 ถึง -16 อธิบายโดยเปรียบเทียบ อย่างน้อยที่สุดน่าจะสว่างเท่าดาวหาง อิเคยะ-เซกิ Ikeya-Seki (C/1965 S1) ซึ่งเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบห้าสิบปี ส่วนในทางมาก มีความเป็นไปได้ที่ ISON จะสว่างเท่าพระจันทร์เต็มดวง หรืออาจจะมากกว่านั้น

ดาวหางจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด 28 พฤศจิกายน 2013  และเข้าใกล้โลกมากที่สุด 26 ธันวาคม 2013 ห่างจากโลก 0.42 AU ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะชมดาวหางคือ เดือนธันวาคม 2013 ตำแหน่งของโลกกับดาวหางค่อนข้างดี เห็นได้ทั่วโลก แต่ซีกโลกเหนือจะเห็นได้ดีกว่าซีกโลกใต้ ดาวหางจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และเริ่มปรากฏหางให้เห็น โดยจะเริ่มเห็นด้วยกล้องโทรทัศน์ขนาดเล็กหรือกล้องสองตาตั้งแต่ กันยายน 2013 ถึง มีนาคม 2014 แต่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าระหว่าง กลางเดือนตุลาคม 2013 ถึง กลางเดือนมกราคม 2014 น่าจะเห็นได้ถนัดแม้ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางแสง รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเห็นได้แม้ในเวลากลางวัน

ยังมีสิ่งที่ทำให้น่าสนใจคือ โลกจะตัดผ่านเส้นทางโคจรของดาวหางในวันที่ 14-15 มกราคม 2014 ซึ่งอาจจะทำให้เกิดฝนดาวตก

แม้ว่าการทำนายความสว่างของดาวหางอาจจะเป็นเรื่องยาก และหลายครั้งก็ทายผิด แต่มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหาง ISON จะสว่างมาก นั่นคือ

1. ถูกพบจากระยะไกลลิบ แสดงว่ามีขนาดใหญ่มาก
2. เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก ห่างจากผิวของดวงอาทิตย์เพียง 1 ล้านไมล์เศษเท่านั้น ตามปกติดาวหางที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากๆ มักจะสว่างมาก และมีหางที่ยาวน่าประทับใจ
3. เชื่อว่าการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้เป็นการมาเยือนครั้งแรกของ ISON ดาวหางที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกมักจะสว่างเป็นพิเศษ
4. มีวงโคจรซ้อนทับกับดาวหางใหญ่แห่งปี 1680 (C/1680 V1) เชื่อว่าดาวหางทั้งสองดวงนี้เป็นชิ้นส่วนที่แตกแยกออกมาจากวัตถุชิ้นเดียวกัน น่าจะมีองค์ประกอบเหมือนกัน เมื่อดาวหางแห่งปี 1680 สว่างและมีหางยาวมาก ดาวหาง ISON ก็น่าจะมีลักษณะที่เหมือนกัน

เนื่องจาก ISON เฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากนักดาราศาสตร์จึงลุ้นรอชมปรากฏการณ์การแยกตัว เพราะความเครียดจากแรงโน้มถ่วงและความเร็วที่สูงมาก ในอดีตดาวหางหลายดวงที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากๆ ขาเข้าไปเป็นดวงเดียว แต่ขากลับออกมาจะแตกออกเป็นสองดวงหรือมากกว่านั้น ดาวหางเล็กๆบางดวงถึงกับแตกสลายไปเลยก็มี

แหล่งข้อมูล
C/2012 S1 - wikipedia
http://en.wikipedia.org/wiki/C/2012_S1

Comet of the Century? -NASA
http://science.nasa.gov/science-news/science-at-nasa/2013/18jan_cometison/

Coming in 2013: The Comet of the Century? - Times
http://science.time.com/2012/12/20/coming-in-2013-the-comet-of-the-century/

Big sun-diving, Comet ISON might be spectacular in late 2013 - Earthsky
http://earthsky.org/space/big-sun-diving-comet-ison-might-be-spectacular-in-2013

A "Dream Comet" Heading Our Way?
http://www.skyandtelescope.com/observing/highlights/A-Dream-Comet-Heading-Our-Way-171521041.html

Get ready for a super comet
http://www.hudsonvalleyalmanacweekly.com/2012/10/06/get-ready-for-a-super-comet/

ภาพระบายสี ดาวหางใหญ่แห่งปี 1680 พี่ชายของ ISON
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่