นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวดวงหนึ่ง ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบ ที่คาดว่า ช่วยทำให้พวกเขามองเห็นภาพลาง ๆ ของโลกเราในอนาคตอีกประมาณ 8 พันล้านปีข้างหน้าได้
ดาวดวงนั้นมีชื่อว่า “KMT-2020-BLG-0414” และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 4,000 ปีแสง เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลก หรือ ดาวเคราะห์หิน (Rocky Planet) ที่โคจรรอบดาวแคระขาว
ทั้งนี้ ดาวแคระขาว คือ เศษซากของดาวฤกษ์ที่ตายลง กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อพลังงานความร้อนของดาวฤกษ์หมดไป ดาวฤกษ์จะมีแรงดันลดลงจนถึงจุดวิกฤต และเมื่อแรงดันมีค่าน้อยกว่าแรงดึงดูด ดาวฤกษ์ก็จะเริ่มยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระขาว โดยดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา คาดว่า จะกลายเป็นดาวแคระขาวอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า
แต่ก่อนหน้าที่ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นดาวแคระขาว มันต้องวิวัฒนาการกลายเป็นดาวยักษ์แดงเสียก่อน แล้วจะค่อย ๆ กลืนกินดาวพุธ, ดาวศุกร์ และอาจจะรวมถึงโลกของเรา ตลอดจนดาวอังคารด้วย
ตลอดชีวิตของดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ มันจะสร้างพลังงานด้วยการหลอมไฮโดรเจนให้เป็นฮีเลียม เมื่อพวกมันใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีในตัวหมดแล้ว ดาวฤกษ์เหล่านี้ ก็จะเริ่มหลอมฮีเลียมแทน และนั่นทำให้พวกมันมีมวลพลังงานมากขึ้น จนทำให้เกิดการขยายตัวหลายร้อยหลายพันเท่าจากขนาดดั่งเดิม หลังจากนั้น ก็จะค่อย ๆ กลืนกินดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ตัวพวกมัน
แต่ถ้าหากโลกรอดจากการถูกกลืนกิน มันก็อาจจะรอดในฐานะดาวเคราะห์หิน ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เย็นลงและกำลังจะตาย กลายเป็นดาวแคระขาว ซึ่งคล้ายกับการโคจรของ ดาว “KMT-2020-BLG-0414” ที่เคลื่อนตัวรอบดาวแคระขาวเช่นเดียวกัน
การวิจัยนี้ตีพิมพ์ผ่านวารสาร Nature Astronomy เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ทีมวิจัยเชื่อว่า ดาวดวงดังกล่าว ทำให้พวกเขาสามารถเห็นภาพคร่าว ๆ ที่หาได้ยากของโลกในอีก 8 พันล้านปีข้างหน้า
“ปัจจุบันเรายังไม่มีมติเอกฉันท์ว่า โลกของเราจะรอดจากการถูกกลืนกินโดยดาวยักษ์แดงในอีก 6 พันล้านปีข้างหน้าหรือไม่” จาง เค่อหมิง นักดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก และหัวหน้าทีมวิจัย กล่าว
“ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม โลกก็จะอาศัยอยู่ได้ไปประมาณอีกพันล้านปีเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดที่มหาสมุทรของโลกแห้งเหือดหายไปหมด อันเป็นผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกที่ควบคุมไม่ได้ และจะเกิดขึ้นก่อนหน้าดาวยักษ์แดงกลืนกินโลกเป็นอีกเวลานาน” เขา กล่าว
นักดาราศาสตร์ค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลนี้ บริเวณศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยสังเกตเห็นเป็นครั้งแรกในปี 2020 เมื่อระบบดาวนี้ เคลื่อนที่ผ่านหน้าแสงของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกไป 25,000 ปีแสง หลังจากนั้น แรงโน้มถ่วงของระบบดาวเคราะห์ทำให้แสงจากดาวฤกษ์เกิดการโค้งงอ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ เรียกว่า “ปรากฎการณ์เลนส์โน้มถ่วง” (gravitational lensing) และแสงที่โค้งงอนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถมองเห็นได้ระบบดาวเคราะห์นี้ได้ แม้จะอยู่ห่างไกลจากโลกก็ตาม
เมื่อพวกเขาเพ่งมองไปที่ระบบดาวเคราะห์เหล่านี้ พวกเขาก็ค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลก ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก 2 เท่า กำลังโคจรรอบดาวแคระขาว ที่มีระยะห่างจากกัน 1-2 เท่า เมื่อเทียบกับระยะห่างของโลกที่โคจรดวงอาทิตย์
ระบบดาวเคราะห์นี้ ยังมีดาวแคระน้ำตาลรวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นวัตถุที่มีมวลมากกว่าขีดจำกัดมวลของดาวเคราะห์ แต่ก็ไม่มากพอที่จะเป็นดาวฤกษ์ โดยมีขนาดมวลใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีถึง 17 เท่า
สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติในอนาคตอันไกลโพ้น ยังเป็นเรื่องคาดเดาที่ไม่แน่นอน เพราะบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างไม่รู้ว่า สิ่งมีชีวิตจะอยู่รอดไปจนถึงช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์แปรเปลี่ยนเป็นดาวยักษ์แดงหรือไม่ หรือ มนุษย์จะสามารถป้องกันไม่ให้โลกร้อนที่จะทำให้มหาสมุทรเดือดพล่านในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้าได้หรือเปล่า
แต่ไม่ว่าอย่างไร จางคาดว่า วันหนึ่งมนุษย์อาจจะย้ายไปอยู่ดวงจันทร์ยูโรปา และเอนเซลาดัสได้ ซึ่งดวงจันทร์ทั้ง 2 เป็นดวงจันทร์ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง โคจรอยู่รอบ ๆ ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ โดยดาวน้ำแข็งเหล่านี้ จะกลายเป็นดาวน้ำในช่วงปีต่อ ๆ ไปของดวงอาทิตย์
“ขณะที่ดวงอาทิตย์กลายเป็นดาวยักษ์แดง เขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยจะย้ายไปยังบริเวณที่ใกล้กับวงโคจรดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ และจะมีดวงจันทร์มากมายหลายดวงกลายเป็นดาวเคราะห์น้ำ ผมคิดว่า ในกรณีนี้ มนุษยชาตอาจจะย้ายถื่นฐานไปอยู่ที่นั่นได้” จาง กล่าว
นักดาราศาสตร์ค้นพบดวงดาว ที่อาจทำให้เห็นภาพ “โลกในอนาคต” อีก 8 พันล้านปี