ภารกิจสำรวจระบบสุริยะของ NASA ก้าวเข้าสู่ช่วงสำคัญอีกครั้ง เมื่อยานอวกาศ Lucy เดินทางถึงดาวเคราะห์น้อย 52246 Donaldjohanson และส่งภาพถ่ายแรกกลับมายังโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมก่อนที่ยานจะเข้าสู่ภารกิจหลัก นั่นคือการสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นการสำรวจครั้งแรกของมนุษยชาติในกลุ่มวัตถุเหล่านี้
Lucy ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2021 โดยใช้จรวด Atlas V 401 จากฐานปล่อยจรวด SLC-41 ณ แหลมคะเนอเวอรัล ฟลอริดา ภารกิจนี้ถูกออกแบบมาเพื่อศึกษาดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ซึ่งเป็นกลุ่มวัตถุที่โคจรร่วมกับดาวพฤหัสบดีและอาจเก็บรักษาหลักฐานเกี่ยวกับยุคแรกของระบบสุริยะ
หลังจากการปล่อย Lucy เดินทางผ่านโลกสองครั้งเพื่อทำ Gravity Assist และเพิ่มความเร็ว ก่อนที่จะเข้าสู่แถบดาวเคราะห์น้อยหลักและสำรวจวัตถุเป้าหมายในระหว่างทาง ดาวเคราะห์น้อย 52246 Donaldjohanson เป็นเป้าหมายที่สองของยาน หลังจากที่ Lucy ได้ทำการสำรวจดาวเคราะห์น้อย Dinkinesh และดวงจันทร์ของมัน Selam ในเดือนพฤศจิกายน 2023 ไปแล้วเรียบร้อย
ภาพของ Donaldjohanson เมื่อถ่ายจากกล้องบนยาน Lucy ในวันที่ 20 และ 22 กุมภาพันธ์ 2025
ที่มา – NASA/Goddard/SwRI/Johns Hopkins APL
ยาน Lucy จะบินโฉบผ่าน 52246 Donaldjohanson ในวันที่ 20 เมษายน 2025 ที่ระยะห่างประมาณ 960 กิโลเมตร โดยยานจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับรูปร่าง องค์ประกอบ และพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการสำรวจเป้าหมายถัดไป
Donaldjohanson เป็นดาวเคราะห์น้อยในแถบหลักระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ได้รับการตั้งชื่อตาม Donald Johanson นักมานุษยวิทยาที่ค้นพบฟอสซิลของ Australopithecus afarensis ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ ฟอสซิลดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า “Lucy” ซึ่งแน่นอนว่าก็เป็นที่มาของชื่อภารกิจของ NASA
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จัดเป็นวัตถุในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักที่อยู่ในประเภท C (Carbonaceous) ซึ่งบ่งชี้ว่ามีองค์ประกอบที่อุดมไปด้วยคาร์บอน เส้นผ่านศูนย์กลางของมันอยู่ที่ประมาณ 3.9 กิโลเมตร และมีคาบการหมุนรอบตัวเองที่ยาวนานถึง 252 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่หมุนช้า นอกจากนี้ยังมีค่าความสว่างสูงถึง 1.7 แมกนิจูด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่ามีรูปร่างยาวหรืออาจเป็นระบบดาวเคราะห์น้อยคู่
Donaldjohanson โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระยะห่างระหว่าง 1.94 ถึง 2.83 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) โดยใช้เวลาประมาณ 3.67 ปี หรือประมาณ 1,340 วัน ในการโคจรครบหนึ่งรอบ
หลังจากการสำรวจ 52246 Donaldjohanson เสร็จสิ้น Lucy จะเดินทางต่อไปยังกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจัน โดยเป้าหมายแรกในกลุ่มนี้คือ 3548 Eurybates และดวงจันทร์ของมัน Queta ซึ่งยานจะไปถึงในปี 2027 จากนั้นจะทำการสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันอีกหลายดวงตลอดระยะเวลา 12 ปีของภารกิจ ซึ่งจะช่วยเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับต้นกำเนิดของระบบสุริยะและบทบาทของดาวเคราะห์น้อยโทรจันในการก่อตัวของดาวเคราะห์ชั้นใน
สุดคมชัด..........
NASA เผยภาพดาวเคราะห์น้อย Donaldjohanson จากยาน Lucy ขณะเฉียดเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 68 ด้วยระยะห่างเพียง 960 กิโลเมตร [img]https://static.xx.fbcdn.net/images/emoji.php/v9/t6e/1/16/1f534.png[/img] รับชมวิดีโอได้ที่
ขอบคุณภาพจาก
NASA/Goddard/SwRI/Johns Hopkins APL/NOIRLab
ที่มา:- สมาคมดาราศาสตร์ไทย
ยาน Lucy เตรียมบินผ่านดาวเคราะห์น้อย Donaldjohanson พร้อมส่งภาพชุดแรกกลับโลก
ที่มา – NASA/Goddard/SwRI/Johns Hopkins APL