นิทานชาวสวน (๔)

นิทานชาวสวน ๑๒ ก.พ.๕๖

ชุด ชีวิตระหว่างสงครามเอเซีย

๔.ความทุกข์ของชาวบ้าน

๒๕ มกร ๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นต้นไป เพราะประเทศทั้ง ๒ นี้ ได้รุกรานประเทศไทย ในระยะเดือนธันวาคม และมกราคม นี้ ทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ ทางอากาศ ๓๐ ครั้ง ทางพื้นดิน ๓๖ ครั้ง สุดที่ประเทศไทยจะอดทนต่อไปได้ จึงประกาศสงคราม

สาเหตุที่อ้างนั้นทางอากาศพอจะรวม การที่มีเครื่องบินล้ำเข้ามาในเขตแดนประเทศไทย ในเวลานั้นทั้งหมด แต่ทางพื้นดินนึกไม่ออกว่าอ้างเหตุใด ไม่มีใครอธิบายให้ทราบจนบัดนี้

จากนั้นก็มีการสร้างหลุมหลบภัยเป็นการใหญ่ ทั้งทางราชการและประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่แนะนำรูปแบบของหลุมหลบภัย แบบเปิดก็คือการขุดดินลงไปให้ลึกพอที่จะปูเสื่อนั่งกับพื้นแล้วศีรษะไม่พ้นหลุม ถ้าบ้านไหนคนน้อยเนื้อที่น้อย ก็ขุดไม่ยาวนัก แต่ถ้ามีคนมากและมีที่กว้างเช่นโรงเรียนก็ขุดเป็นทางยาวคดเคี้ยวไปหรือที่เรียกว่า ซิกแซ็ก หักมุมไปมา ส่วนที่ทางราชการสร้างในที่สาธารณะ จะเป็นคอนครีตทั้งด้านข้างและหลังคา ตั้งอยู่บนพื้นดินหรือลึกลงไปจากพื้นเพียงครึ่งเดียว มีทางเข้าออกสองทาง ปัจจุบันดูตัวอย่างของจริงได้ ที่ในสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ต่อมาในปลายสงครามได้มีการสร้างหลุมหลบภัยตั้งอยู่กลางถนนสายใหญ่ ๆ เป็นการก่อสร้างด้วยเสาและฝาไม้สองชั้น ระหว่างฝาไม้ก็บรรจุดินเหนียวอัดให้แน่น แต่ดูแล้วเหมือนบังเกอร์ในสนามรบมากกว่า

ที่บ้านผมไม่มีที่ดินว่างพอจะขุดเป็นหลุมหลบภัยได้ และมีผู้ชายอกสามคืบอย่างผมคนเดียว จึงอาศัยปูเสื่อนอนนอกชายคาเวลาหลบภัย เท่านั้น ต่อมาเพื่อนบ้านรั้วติดกันมีเงินมาก ได้ซื้อหลุมหลบภัยสำเร็จรูปที่เขาทำขาย เป็นรูปทรงเหมือนถังส้วมใต้ดินของอาคารขนาดใหญ่สมัยนี้ แต่ทำด้วยคอนกรีตหนาเตอะ หลุมชนิดนี้ใช้พื้นที่ไม่กว้าง แต่ต้องขุดหลุมลึกแล้วก็วางถังลงไปเอาดินกลบ เหลือแต่ปากปล่องซึ่งกว้างพอที่คนจะหย่อนตัวลงไปได้ทีละคน ภายในตรงกลางป่องออกไปมีที่นั่งรอบถังพอสำหรับคนประมาณ ๖ -๗ คน บ้านเขามีคนเหลือจากอพยพอยู่น้อย ก็เอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านข้างเคียงอาศัยหลบภัยด้วย แล้วก็อัดกันเข้าไปขนาดให้เด็กนั่งซ้อนตักผู้ใหญ่ด้วย อากาศจึงไม่ค่อยพอหายใจ ผมจึงขออนุญาตไม่ลง ขอนอนหงายข้างปากหลุม ซึ่งมองดูเหตุการณ์บนท้องฟ้าได้สบาย

อย่านึกว่าผมเป็นคนกล้าหาญ ความจริงผมก็กลัวเหมือนกับคนอื่น ๆ กลัวตั้งแต่เริ่มได้ยินเสียงสัญญาณภัยทางอากาศแล้ว ส่วนใหญ่จะมีอาการสั่นไปทั้งตัว พูดออกมาเสียงสั่นเครือ กระดูกหัวเข่ากระตุกงึก ๆ อาการนี้เป็นขึ้นเอง และบังคับให้หยุดไม่ได้ บางคนพอได้ยินเสียงสัญญาณ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเสียงหวอมา กำลังจะวิ่งไปลงหลุมหลบภัย เกิดปวดท้องฉี่ขึ้นมาทันทีก็ได้ ชาวบ้านทุกคนจะเตรียมห่อสมบัติที่จำเป็นหรือมีค่าของตนไว้ทุกวัน พอได้ยินเสียงหวอ ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็คว้าห่อหรือกระเป๋าสมบัติติดตัวไปด้วยเสมอ และทีขาดไม่ได้ก็คือพระเครื่อง ไม่ว่าจะพวงเล็กหรือพวงใหญ่ต้องมีติดตัวทุกคน อย่างผมไม่เคยมีสายสร้อยคอ ก็เอาพระเครื่องใส่ถุงผ้าเล็ก ๆ เอาเข็มกลัดติดกับเสื้อไปด้วยทุกที ที่ร้ายกว่านั้นบางคนก็มีผ้ายันต์ผูกคอหรือตัดเป็นเสื้อกั๊ก ถ้าผืนใหญ่ก็ทำเป็นธง พอมีเสียงเครื่องบินผ่านมาใกล้ จะได้ยินเสียงสวดมนต์เบา ๆ แข่งกันอื้ออึง คนมีธงยันต์ก็โบกธงเหมือนจะปัดลูกระเบิดได้ พอเสียงเครื่องบินผ่านพ้นไปแล้วจึงค่อยมีเสียงพูดคุยกันบ้าง

เรื่องทิศทางของเครื่องบินนี้ สัมพันธ์กับทิศทางของลูกระเบิดด้วย ถ้าเครื่องบินผ่านเราไปทางด้านข้าง ไม่ต้องกลัวมาก เพราะลูกระเบิดไม่ลงตรงที่เราอยู่แน่นอน ถ้าเครื่องบินผ่านมาตรงหัวเป๊ะ ต้องสวดมนต์ภาวนาตั้งแต่เห็นมัน จนกว่ามันจะมาถึงกลางศีรษะ จึงจะพ้นภัย เพราะรู้มาว่าลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมานั้น มันจะวิ่งลงไปข้างหน้าเครื่องบินเสมอ ดังนั้นเมื่อมันมาอยู่ตรงหัวเรา ลูกระเบิดมันต้องไปตกห่างเราแน่ ๆ

เสียงของลูกระเบิดก็ทำให้เราขวัญเสีย แทบสติแตกไปเลยก็ได้ ถ้ามันตกไกลเรา ก็จะได้ยินเสียงระเบิดเหมือนฟ้าร้อง ถ้ามันใกล้หน่อยก็พอจะได้ยินเสียงโลหะแหวกอากาศ แต่ถ้าใกล้มากเสียงมันดังแหลมยาวบรรยายไม่ถูก เมื่อถึงพื้นมันจะเงียบไปอึดใจหนึ่ง แล้วก็ระเบิดดังแก้วหูแทบแตก แผ่นดินสะเทือน แล้วก็มีเศษดินเศษหินหรือถ้าถูกบ้านเรือน ก็มีเศษไม้ลอยกระจายไป เหมือนอย่างที่ได้ดูในหนัง แต่มันน่ากลัวมาก เพราะถ้ามันโดนเรา ก็จะเจ็บและตายจริง ๆ ไม่ใช่ล้อเล่น

การทิ้งระเบิดของเครื่องบินข้าศึก จากฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น เมื่อแรกเป็นเครื่องบินสองเครื่องยนต์ใบพัด ลำไม่โต และมาเวลาเดือนหงาย ทิ้งระเบิดไม่แม่นยำ สังเกตจากบริเวณใกล้เคียงกับจุดยุทธศาสตร์ เช่น วัดเลียบใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้า วัดสร้อยทองใกล้กับสะพานพระรามหก วัดอะไรใกล้กับไปรษณีย์กลาง ย่านชุมชนใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง หมู่บ้านปากคลองบางกอกน้อย ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี (แถวบ้านสวนของอังศุมาลิน) ต่างก็โดนลูกระเบิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง บางคืนแสงไฟไหม้สว่างท้องฟ้า มองจากสวนอ้อยแลเห็นถนัด แล้วเดาถูกทุกที

แล้วก็มาถึงวันอังคาร ๒๗ มกร ๘๕ แม่บันทึกไว้ว่า

ตั้งแต่เช้าถึงเย็นเหตุการณ์เป็นปกติ เวลา ๒๐.๑๕ น.มีเครื่องบินผ่านเข้ามา แต่ไม่มีเสียงหวอ เวลา ๒๐.๓๐ น.มีเสียงระเบิดขึ้นแต่ไกล หวูดอันตรายก็ดังขึ้น ขณะนี้เครื่องบินแล่นอย่างเร็วผ่าน ร.พัน.๙ (ปัจจุบันเป็นกรมทหารมหาดเล็ก ร.๑ พัน.๔)ไปทางพระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเสียงดังบึ้ม ๆ ก็ดังขึ้น บ้านเราอยู่ใกล้ ร.พัน.๙ จึงเห็นการระเบิดของลูกระเบิดเพลิงสว่างจ้าขึ้น ๒ ครั้ง ข้าพเจ้าไม่รอดูต่อไปอีก เพราะขวัญเสีย ๆ แล้ว จูงลูกไปลงหลุมหลบภัยหลังบ้านนายอ๋อย ขณะนั้นเสียงระเบิดเสียงปืนประสานกันอยู่พัก ๆ แล้วก็เงียบไป เวลา ๒๓ นาฬิกาจึงเปิดหวูดหมดอันตราย รวมเวลาระหว่างอันตราย ๒ ชั่วโมงครึ่ง

น่าสงสารเด็กที่อยู่ในหลุมหลบภัย ถูกปลุกลงมานั่งให้ยุงกินกันใหญ่ มีเด็กจากบ้านอื่น ๕ คน บ้านเรา ๒ คน คอยหวูดจนง่วงนอนรวมกันเป็นกลุ่ม

วันพุธ ๒๘ มกร ๘๕ รุ่งเช้าขึ้นจึงได้ความว่า เครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดเมื่อคืนนี้ ๒ เครื่อง ได้ทิ้งระเบิดหลายแห่งมากว่า ๑๐ ลูก ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมด้าน ๔ ลูก ระเบิด ๒ ลูก โดนหลังคาตรงมุมด้านหลังพระที่นั่งพังและโหว่ไปหน่อย ทหารรักษาการตาย ๓ คน

ต่อมามีบันทึกว่า หลุมหลบภัยทุกแห่งเต็มไปด้วยน้ำฝน แต่เคราะห์ดีที่ตอนกลางคืนอากาศมืดมัวไม่แจ่มใส เครื่องบินข้าศึกจึงไม่มา มิฉะนั้นก็จะต้องไปนั่งแช่น้ำอยู่ในหลุม และสรุปว่า ในเดือนมกราคมนี้ เครื่องบินข้าศึกได้มารบกวนในพระนครรวม ๖ ครั้ง คือมาทิ้งระเบิด ๓ ครั้ง ในวันที่ ๘- ๒๔- ๒๗ มกราคม

เรื่องระเบิดเพลิงนี้ผมเคยเห็นด้วยตนเองครั้งหนึ่ง แถวถนนสุโขทัย บริเวณที่ตรงกับ ร.พัน.๙ สมัยนั้นเป็นถนนไม่กว้างมีต้นมะขามปลูกสองข้างทางเป็นระยะเท่า ๆ กัน ลูกระเบิดเพลิงเป็นท่อนเล็ก ๆ กว้างประมาณข้อมือ รูปหกเหลี่ยมยาวประมาณศอก เขาว่ามันลงมาเป็นพวงใหญ่แล้วแตกแยกกระจายออก เกิดเพลิงจากฟอสฟอรัส ที่เห็นนั้นมันปักอยู่ในดินข้างถนน มีรอยไฟไหม้ขาดครึ่ง ๆ นับสิบลูก แต่ข้างถนนไม่มีเชื้อเพลิง จึงมอดดับไปเอง มีบางลูกที่ลงตรงคลังของทหาร มีเสียงระเบิดดังตลอดคืน

ต่อมาตอนปลายสงคราม ในคืนเดือนมืด มีสิ่งแปลกใหม่มาแสดงให้เราชมอีกคือ พลุส่องแสง ที่เขาทิ้งลงมาจากเครื่องบิน แล้วมีร่มชูชีพกางลอยลงมาช้า ๆ แสงไฟสว่างจ้า ขนาดเราเห็นหน้ากันได้ถนัด หรือจะอ่านหนังสือก็ได้ สว่างยิ่งกว่าพระจันทร์ ประมาณลูกละ ๑๕ นาที คราวนี้เขาก็ไม่จำเป็นต้องรอข้างขึ้นเดือนสว่างกลางเวหาอีกแล้ว ข้างแรมเดือนมืดตื๋อก็มาได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือระเบิดเวลา หวอปลอดภัยขึ้นนานแล้วไม่มีเสียงเครื่องบินแล้ว แต่ยังมีเสียงระเบิดดังเป็นระยะจนถึงเช้า อย่างที่สามนี้จริงหรือเท็จไม่ทราบ เขาว่าลูกระเบิดมีโซ่ร้อยเป็นพวง ทิ้งที่สะพานพระรามหก ลูกระเบิดธรรมดาลอดรางรถไฟลงไประเบิดใต้น้ำ สะพานก็ไม่เป็นไร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีทางรถยนต์ขนานเหมือนตอนหลัง พอโดนลูกระเบิดพวงเข้าตอนสงครามใกล้จบ โซ่ทำให้ลูกระเบิดค้างอยู่บนโครงเหล็ก เล่นเอาหักกลางทิ่มลงไปในแม่น้ำทั้งสองด้าน เรื่องนี้ไม่มีใครยืนยัน ทั้งทางเอกสารหนังสือที่เขียนให้อ่านภายหลัง หรือคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์จริง

ในสมัยปัจจุบันเราคนไทยได้ดูการถ่ายทอดสด สงครามอ่าวหรือสงครามอิสราเอลรบกับอียิปต์ ทางโทรทัศน์ หรือเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดของสหรัฐอเมริกา หรือสงครามอัฟกานิสถาน ส่วนใหญ่เราก็ดูกันเหมือนดูหนัง แต่ใครจะขนลุกด้วยความสยองเหมือนอย่างผมเองบ้างก็ไม่ทราบ เพราะผมรู้ว่านั่นมันของจริง กระสุนจริง ลูกระเบิดและจรวดจริง ตึกพังจริงและคนตายจริง ๆ ไม่ใช่การแสดง

ผลของสงครามที่คนกรุงเทพได้รับ ตลอดเวลา ๔ ปี ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้จุดจบ ไม่ได้มีแต่ภัยทางอากาศเท่านั้น ภัยจากการเกิดข้าวยากหมากแพง สินค้าประเภทอุปโภคขาดแคลนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ของสำคัญเช่น น้ำมันเบ็นซิน น้ำมันก๊าด สบู่ ยาสีฟัน ไม้ขีดไฟ เสื้อผ้า ยารักษาโรค เครื่องอะไหล่รถยนต์ และพวกเครื่องก่อสร้าง เช่นเหล็กเส้น ปูนซีเมนต์ น็อต ตะปู ฯลฯ

รถยนต์ส่วนบุคคลต้องจอดเพราะขาดน้ำมัน รถของทางราชการก็ต้องใช้อย่างประหยัด รถโดยสารก็ต้องเปลี่ยนไปใช้แก๊ส ที่ผลิตจากเตาถ่านขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ท้ายรถ เหลือแต่รถรางและรถสามล้อถีบเท่านั้น ที่ให้บริการได้ดีไม่เปลี่ยนแปลง แต่สามล้อหรือรถเมล์ก็ขึ้นราคาเช่นกัน

ส่วนเครื่องบริโภคหรืออาหารการกินนั้น แม้จะไม่ขาดแคลน แต่ก็มีราคาแพงขึ้นเป็นลำดับทั้งข้าวสาร ข้าวเหนียว พืชผักผลไม้ หมู เป็ด ไก่ ปลา ฯลฯ จนทางราชการแนะนำให้ทำสวนครัว ปลูกพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารทุกบ้าน โดยเฉพาะการเพาะถั่วงอก ที่ใช้กินกับก๋วยเตี๋ยว และผัดไทย หรือ ผัดกับเต้าหู้โดยไม่ต้องปักป้ายว่าอาหารเจ

ถึงเดือนมีนาคม ๒๔๘๕ ผมมีอายุ ๑๑ ปี แม่บันทึกเรื่องสงครามไว้ ดังนี้

วันอังคาร ๑๐ มีน ๘๕ วันนี้ทั้งวิทยุและหนังสือพิมพ์ประกาศข่าว ย่างกุ้งแตกแล้ว และชวาขอยอมแพ้ แก่ญี่ปุ่น ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๘ มีน ทางราชการได้ชักชวนประชาชน ให้ชักธง ๓ วัน คือธงไตรรงค์คู่กับธงอาทิตย์อุทัย และประกาศเลิกพรางแสงไฟ เฉพาะรถราง รถยนต์เมล์ประจำทาง ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เป็นต้นไป

วันเสาร์ ๒๑ มีน ๘๕ ตั้งแต่ชะวาและย่างกุ้งอยู่ในปกครองของญี่ปุ่นแล้ว ในจังหวัดพระนครไม่มีหวูดภัยทางอากาศอีกเลย แต่ยังพรางไฟอยู่ตามเคย เพราะยังไม่ไว้วางใจว่าจะปลอดภัย โดยมันอาจจะมาด้วยป้อมบินก็ได้ ป้อมบินนี้จุคนตั้ง ๑๒๕ คน และจุน้ำมันได้มาก สามารถไปทางไกลได้ แต่ยังไม่เคยเยี่ยมโฉมหน้าเข้ามาเลย ขอเดชะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย จงบันดาลอย่าให้ป้อมบินของข้าศึกเข้ามาได้เลย เจ้าประคุณ

เวลาผ่านไปจนถึง วันเสาร์ ๒ พฤษภ ๘๕ แม่บันทึกต่อว่า วันนี้ ร.ร.เปิดเรียน และ ร.ร.ราษฎร์ทุกโรงเรียนก็เปิดเหมือนกันหมด แต่ ร.ร.รัฐบาลเปิด ๑๘ พฤษภาคม

วันอาทิคย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ก็มีข่าวร้ายว่า พี่สาวลูกของน้าไปเที่ยวสระบุรีและสิงห์บุรี ประสบอุบัติเหตุป่วยหนัก ถูกส่งตัวมารักษาที่วชิรพยาบาล มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง สาหัสมาก เพราะเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ตั้งแต่สะดือลงไปไม่มีความรู้สึก ช่วยตนเองไม่ได้ น้าจึงต้องอยู่เฝ้าตลอดทั้งวันทั้งคืน พี่สาวรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จนถึง ๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๕ จึงกลับมานอนรักษากันเองที่บ้าน แต่อาการก็คือทรงกับทรุด และสุดท้ายก็เสียชีวิตเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๖ อายุได้ ๒๔ ปี

เราจึงเหลือกันอยู่เพียง ๔ คนคือ น้า แม่ ตัวผมและน้องหญิงเท่านั้น ผจญกรรมกันไปจนกว่าสงครามจะสงบ โดยที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าเมื่อไร และเราจะรอดปลอดภัยอยู่จนถึงเวลานั้นหรือไม่กาลเวลาข้างหน้ายังอีกยาวนานนัก จนมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางเลย

#############

วางเมื่อ ๑๒ ก.พ.๕๖ เวลา ๐๘.๓๘
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่