ออกหุ้นเพิ่มทุนกับลดหุ้น มีผลอย่างไร (ความรู้มาฝาก)

กระทู้สนทนา
ออกหุ้นเพิ่มทุนกับลดหุ้นมีผลอย่างไร

Money Game : วิสิฐ องค์พิพัฒนกุล

นักลงทุนคงจะมีความคุ้นเคยกับการเพิ่มทุนและลดทุนของหุ้นที่เราถืออยู่ ความยากที่นักลงทุนพบอยู่เสมอคือ จะตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่ และการเพิ่มทุนและลดทุนของหุ้นตัวที่เราถืออยู่มีความหมายทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Benefit) อย่างไร?

หุ้นเพิ่มทุนอาจมีหลายลักษณะ เช่น อาจจะเป็นการออกหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในลักษณะ Right issues ซึ่งการออกหุ้นลักษณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทนั้นไม่ต้องการลดส่วนการถือหุ้นลง หรือถ้ามีการออก หุ้นเพิ่มทุนชนิดเฉพาะเจาะจง (Private Placement) แม้ราคาเพิ่มทุนอาจจะต่ำกว่าราคาปัจจุบัน จะต้องดูว่านักลงทุนที่ซื้อหุ้นบริษัทนั้นเป็น Strategic partner หรือเป็นผู้ถือหุ้นเดิม นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มทุนอีกวิธีคือ การขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่แก่สาธารณชนทั่วไป หรือที่เราเรียกว่า Public Offering (PO)

สำหรับกรณีหุ้นถูกลดทุน อาจจะเป็นลดจำนวนหุ้นลง โดยการลดทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว (Paid-up Capital) ซึ่งมักจะเป็นหุ้นที่ไม่มีกำไรสะสมเหลืออยู่ (Retained Earnings) แต่จะมีขาดทุนสะสม (Retained Loss) เป็นจำนวนมากจนกระทั่งถ้าบริษัทต้องการจ่ายเงินปันผล หรือมีหุ้นส่วนใหม่เข้ามา (Strategic Partner) จะต้องเอาส่วนขาดทุนสะสมมาหักกับทุนจดทะเบียนแทน คือผู้ถือหุ้นเดิมต้องรับส่วนสูญเสียไปก่อน

ผมขออนุญาตให้ข้อสังเกตว่า กลยุทธ์การเลือกหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นลดทุนประเภทใดที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น มีดังนี้

ข้อที่หนึ่ง ถ้าการเพิ่มทุนแล้วไม่เกิดการลดลงของกำไรต่อหุ้น แต่กลับเพิ่มกำไรต่อหุ้น ปรากฏการณ์นี้ในภาษาการเงินเราเรียกว่า Anti-dilution ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น

กรณี ก. นำเงินเพิ่มทุนไปใช้ในการคืนหนี้ จนทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยลดลง มากกว่าจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมักจะเกิดในภาวะดอกเบี้ยสูงมาก หรือ

กรณี ข. นำเงินเพิ่มทุนไปซื้อโครงการใหม่ หรือบริษัทใหม่ และบริษัทใหม่ที่ถูกซื้อนั้นสามารถทำกำไรให้บริษัทแม่ได้ทันที และกำไรที่ได้มากกว่าจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น คือ กำไรต่อหุ้นของจำนวนหุ้นใหม่ทั้งหมด มากกว่ากำไรต่อหุ้นเดิม หรือ

กรณี ค. ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Assets) ของบริษัทหลังการเพิ่มทุน และหลังจากซื้อกิจการบริษัทอื่นแล้วสูงกว่าอันเดิมมากๆ

ตัวอย่างต่างๆ เหล่านี้ การเพิ่มทุนจะเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้น

ข้อที่สอง ถ้าการเพิ่มทุนแล้วและไปซื้อกิจการเพิ่มแล้ว บริษัทใหม่ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการในบริษัทที่ซื้อ หรือ เงินปันผลจากบริษัทใหม่ไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนอื่น ในเชิงเปรียบเทียบ การเพิ่มทุนจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้น เช่น บริษัทในตลาดหลักทรัพย์บ้านเราไปซื้อกิจการในต่างประเทศ และไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมการบริหารงานในบริษัทต่างประเทศนั้นได้ สุดท้าย บริษัทในบ้านเรานั้นต้องขายคืนให้กับเจ้าถิ่นไป หุ้นเพิ่มทุนในลักษณะนี้ก็ไม่น่าซื้อ

ข้อที่สาม โดยปกติสถาบันการเงินจะเติบโตจากกำไรสะสมของตนเอง การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินจะมีน้อยมากซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปทำการตั้งสำรองหนี้สูญ เพราะฉะนั้น การเพิ่มทุนของสถาบันการเงินอาจจะเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก

ข้อที่สี่ Market Capitalization (มูลค่าการตลาด) ของหุ้นภายหลังการเพิ่มทุน โตเป็นจำนวน 8-10 เท่าของยอดขาย หมายความว่า ยอดขายอาจจะโตไม่ทันกับขนาดมูลค่าการตลาด ในที่สุดแล้ว หุ้นนั้นจะราคาตกอย่างรวดเร็ว หุ้นเพิ่มทุนในลักษณะนี้ควรหลีกเลี่ยง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่