Credit :
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=55025
ขอบคุณ คุณ Thai VI Article และ ดร.นิเวศน์ครับ
__________________________________________________
โลกในมุมมองของ Value Investor 2 กุมภาพันธ์ 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Stocks Mania
สถานการณ์หรือภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องของการ “เก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง” ในตลาดของทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกและในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปีเท่าที่ผมยังจำความได้ และแน่นอน ผมต้องนึกถึงประวัติของการเก็งกำไรระดับโลกที่ได้มีการจารึกไว้และเล่าขานต่อเนื่องกันมานานนั่นก็คือเรื่องของการเก็งกำไรอย่าง “บ้าคลั่ง” ในหัวดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงปี ค.ศ. 1634-1637 ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tulip Mania”
เล่ากันว่าในช่วงนั้นผู้คน “ขายบ้านขายช่อง” เพื่อที่จะนำเงินมาซื้อหัวทิวลิปที่มีลวดลายสวยงามที่เกิดขึ้นจากการที่มัน “ติดเชื้อไวรัส” หรือจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตามที่ทำให้มันแปลกตาและหายากที่ทำให้คน “อยากเล่น” เพื่อที่จะ “ขายต่อ” ให้คนอื่นที่จะเข้ามา “บิดราคา” เพื่อที่จะซื้อและก็ “ขายต่อ” ให้กับคนอื่นไปเรื่อย ๆ ผ่าน “ตลาดล่วงหน้า” ที่เป็น “สัญญากระดาษ” ว่ากันว่าในช่วงที่ราคาหัวทิวลิปขึ้นสูงสุดนั้น ทิวลิปที่ “สวยจริง ๆ” จะมีราคาเท่ากับรายได้ของช่างชำนาญงานถึง 10 ปี คนที่เล่นเก็งกำไรหัวทิวลิปนั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนร่ำรวย คนชั้นสูงและขุนนางที่ต่างก็ “ทนไม่ไหว” กับการที่เห็นคนอื่น “รวยเอา ๆ อย่างง่าย ๆ” โดยการเข้าไปซื้อหัวทิวลิปในตลาด
แน่นอนว่าราคาของหัวทิวลิปที่ขึ้นไปจน “เกินพื้นฐาน” ไปมาก ๆ นั้น ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้และก็ตกลงมาจนแทบจะไม่มีค่าหรือเท่ากับพื้นฐานของมัน ว่าที่จริง มูลค่าที่แท้จริงของทิวลิปนั้น ถ้าไม่คิดถึงสีสันลวดลายของมันที่เป็นเรื่องของจิตใจแล้ว มันก็คือดอกไม้ธรรมดา ๆ ที่มีค่าน้อยมาก การที่คนให้คุณค่ามันมากมายนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ คุณค่าของการ “เก็งกำไร” คือซื้อเพื่อหวังจะขายต่อในราคาที่สูงขึ้น แต่ตัวของมันสร้างรายได้หรือทำเงินน้อยมาก หลังจากกรณีของ “ฟองสบู่ดอกทิวลิป” แล้ว โลกและประเทศไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของการเก็งกำไรมาเรื่อย ๆ ราวกับว่าคนไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น หรือถ้าจะอธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ คนไม่ได้สนใจว่า “จุดสุดท้าย” จะเป็นอย่างไร พวกเขาอาจจะเพียงแต่คิดว่าในระหว่างที่ราคากำลังขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” นั้น โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว “ยิ่งรอก็ยิ่งเสียโอกาส” ดังนั้นเขาจึงเข้าไปเล่น เหนือสิ่งอื่นใด ฟองสบู่แต่ละครั้งมักจะอยู่นานเป็นปี ๆ
ในประเทศไทยเองนั้น ผมยังจำได้ว่าในช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ซึ่งก็ประมาณเกือบ 40 ปีมาแล้ว ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่อยู่ ๆ คนไทยก็เริ่มสนใจและเริ่มซื้อขายหินสวยงามชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โป่งข่าม” นี่คือหินที่มีสีและลวดลายแปลก ๆ ในแต่ละเม็ดไม่ซ้ำกัน ขนาดของแต่ละเม็ดก็แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของหิน เมื่อได้มาแล้วคนก็จะนำไปเจียระไนเพื่อนำไปทำหัวแหวนและเครื่องประดับอื่น ๆ เพื่ออวดกันในหมู่เพื่อนฝูง เมื่อความนิยมในสังคมมีมากขึ้น การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตามมา หนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ ก็เริ่มตีพิมพ์เรื่องราวและความสวยงามของหินชนิดนี้ และแล้วเรื่องราว“ปาฏิหาริย์” ก็ตามมา บ้างก็ว่าเมื่อสวมใส่โป่งขามแล้วทำให้โชคดี บ้างก็อ้างว่ามันมี “พลัง” ในตัวที่ทำให้โรคภัยบางอย่างของผู้สวมใส่เช่นอาการหืดหอบหาย ผู้หญิงบางคนบอกว่าใส่โป่งข่ามแล้วทำให้ใบหน้า “มีน้ำมีนวลขึ้น” ด้วย ราคาของโป่งข่ามพุ่งขึ้นไปสูงมาก บางเม็ดอาจจะขึ้นไปเป็นหมื่นหรือเท่าไรผมก็จำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าไป “เล่น” เลย แต่หลังจากนั้นความนิยมก็ลดลงเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีราคา เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักแล้วว่าโป่งข่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อราวซัก 10 ปีที่ผ่านมาเราคงจำกันได้ว่าคนไทยเริ่ม “บ้า” จตุคาม ที่เป็นเหรียญที่เข้าใจว่ามีคนจัดทำขึ้นเพื่อเป็น “สิ่งศักดิสิทธ์” เริ่มต้นจากนครศรีธรรมราชถ้าผมจำไม่ผิด ต่อมาก็มีคนจัดทำมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่วัดหรือหน่วยงานจะหารายได้มาทำนุบำรุงองค์กรของตน เมื่อมีการทำกันมากขึ้นก็เริ่มมีเรื่องราว “ปาฏิหาริย์” ตามมา บางคนก็เริ่มสนใจในความ “งดงาม” ของจตุคามที่ออกกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนแขวนจตุคาม “เต็มคอ” กลายเป็นแฟชั่น และก็เช่นเคย สื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์ก็เริ่มจับเรื่องนี้มาเล่น ราคาของจตุคามบางรุ่นถูก “ไล่ราคา” ขึ้นไป ผมก็ไม่แน่ใจว่ารุ่นที่แพงมาก ๆ เป็นเท่าไร แต่ราคาในระดับแสนบาทก็น่าจะมีอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม การเล่นจตุคามก็ตกลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ Supply หรือของใหม่นั้นออกมาได้เร็วและมากอย่างไม่มีข้อจำกัด เดี๋ยวนี้คนเลิกหมดแล้ว และผมเชื่อว่าจตุคามที่เคยโด่งดังก็คงมีราคาน้อยมาก
ความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่มีผลกระทบ “ระดับชาติ” ของไทยนั้นก็คือการเล่น “แชร์แม่ชม้อย” ซึ่งเป็น “แชร์ลูกโซ่” กองแรก ๆ ของไทยเมื่อประมาณซัก 35 ปีก่อน นั่นก็คือ การที่ “เจ้ามือ” เสนอการลงทุนในอะไรบางอย่างที่กำลัง “ร้อนแรง” เช่น น้ำมันในกรณีของแม่ชม้อย คนที่เข้ามาเล่นจะต้องจ่ายเงินค่าแชร์เช่น ซื้อน้ำมันหนึ่งคันรถอาจจะเท่ากับ 10,000 บาท หลังจากนั้นแต่ละเดือนเขาจะได้รับเงินปันผลตอบแทนเช่น 1,000 บาททุกเดือน แน่นอน เงินนั้นไม่ได้นำไปลงทุนซื้อน้ำมัน แต่ถูกนำไปจ่ายเป็นปันผลให้กับคนที่ลงทุนมาก่อน ตราบใดที่ยังมีคนใหม่มาลงทุนเพิ่ม คนเก่าที่ลงทุนไว้ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเดือนละ 10% ไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่ทำให้คนที่ยังไม่ได้ลงทุนเห็นและอยากเข้ามาลงทุนเพราะเป็นหนทางที่จะทำเงินได้ง่าย ๆ บางคนอาจจะ “ขายบ้าน” มาลงทุน เพราะ “ถ้าอยู่ได้ถึงปี เงินก็ได้คืนมาหมดแล้ว” ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคนที่เข้ามาตั้งแต่แรก ๆ และอยู่ได้เกินปีแต่น่าเสียดายที่ว่าเขาไม่ได้เงินคืนเลย เพราะเมื่อได้ปันผลมา เขาก็ “โลภ” แทนที่จะเก็บไว้ กลับนำไปลงทุนต่อ ซึ่งทำให้ต้องหมดตัวเมื่อแชร์ “ล้ม”
สุดท้ายของเรื่องความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่แทบทุกประเทศต้องเคยประสบถ้าตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่งเกิดก็คือ การเก็งกำไรในหุ้นที่รุนแรงจนกลายเป็น “ฟองสบู่” แน่นอน ประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่องของ “ฟองสบู่เซ้าท์ซี” และฟองสบู่ในปี 1929 ในตลาดสหรัฐที่มีผลกระทบกว้างขวางทั่วโลกและกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อ “ฟองสบู่แตก” ราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 10% แต่ความบ้าคลั่งหรือฟองสบู่ขนาดย่อม ๆ นั้นก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่ละครั้งก็มักจะทิ้งเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 15-20 ปีขึ้นไป ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศอาจจะมีน้อย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแล้ว บ่อยครั้งมันเป็น “หายนะ” เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้นนั้น แทบจะไม่มี “สัญญาณเตือน” หรือมีก็ “ไม่มีใครเชื่อ” เหตุเพราะว่า “ฟองสบู่” นั้นมักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ดีเยี่ยม โดยทั่วไปก็มักจะเริ่มต้นจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดี เศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นฐานใหม่ เช่น “การเปิดเสรีทางการเงิน” “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่” หรือไม่ก็หลาย ๆ เรื่องประกอบกันที่ทำให้คนเห็นว่า หุ้นนั้นจะมีแต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ทำให้ราคาที่สูงลิ่วนั้นคงอยู่ไม่ได้ ต่อเมื่อหุ้นตกลงมาแล้ว คนถึงได้รู้ว่าราคาที่เห็นนั้นเป็น “ฟองสบู่”
ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผมคงต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เป็นฟองสบู่แล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ ผมเพียงแต่รู้สึกว่าในช่วงเวลานี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังสนใจลงทุนในหุ้นกันมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้น ถ้าผมจะบอกว่าในช่วงนี้เป็นช่วง “Stocks Mania” หรือคนกำลังคลั่งไคล้ในหุ้น ก็คงไม่ผิดจากความจริงไปมากนัก
Stocks Mania/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ขอบคุณ คุณ Thai VI Article และ ดร.นิเวศน์ครับ
__________________________________________________
โลกในมุมมองของ Value Investor 2 กุมภาพันธ์ 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Stocks Mania
สถานการณ์หรือภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องของการ “เก็งกำไรกันอย่างบ้าคลั่ง” ในตลาดของทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกและในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปีเท่าที่ผมยังจำความได้ และแน่นอน ผมต้องนึกถึงประวัติของการเก็งกำไรระดับโลกที่ได้มีการจารึกไว้และเล่าขานต่อเนื่องกันมานานนั่นก็คือเรื่องของการเก็งกำไรอย่าง “บ้าคลั่ง” ในหัวดอกทิวลิปที่เกิดขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ในช่วงปี ค.ศ. 1634-1637 ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Tulip Mania”
เล่ากันว่าในช่วงนั้นผู้คน “ขายบ้านขายช่อง” เพื่อที่จะนำเงินมาซื้อหัวทิวลิปที่มีลวดลายสวยงามที่เกิดขึ้นจากการที่มัน “ติดเชื้อไวรัส” หรือจะเกิดขึ้นจากอะไรก็ตามที่ทำให้มันแปลกตาและหายากที่ทำให้คน “อยากเล่น” เพื่อที่จะ “ขายต่อ” ให้คนอื่นที่จะเข้ามา “บิดราคา” เพื่อที่จะซื้อและก็ “ขายต่อ” ให้กับคนอื่นไปเรื่อย ๆ ผ่าน “ตลาดล่วงหน้า” ที่เป็น “สัญญากระดาษ” ว่ากันว่าในช่วงที่ราคาหัวทิวลิปขึ้นสูงสุดนั้น ทิวลิปที่ “สวยจริง ๆ” จะมีราคาเท่ากับรายได้ของช่างชำนาญงานถึง 10 ปี คนที่เล่นเก็งกำไรหัวทิวลิปนั้นมีตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงคนร่ำรวย คนชั้นสูงและขุนนางที่ต่างก็ “ทนไม่ไหว” กับการที่เห็นคนอื่น “รวยเอา ๆ อย่างง่าย ๆ” โดยการเข้าไปซื้อหัวทิวลิปในตลาด
แน่นอนว่าราคาของหัวทิวลิปที่ขึ้นไปจน “เกินพื้นฐาน” ไปมาก ๆ นั้น ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้และก็ตกลงมาจนแทบจะไม่มีค่าหรือเท่ากับพื้นฐานของมัน ว่าที่จริง มูลค่าที่แท้จริงของทิวลิปนั้น ถ้าไม่คิดถึงสีสันลวดลายของมันที่เป็นเรื่องของจิตใจแล้ว มันก็คือดอกไม้ธรรมดา ๆ ที่มีค่าน้อยมาก การที่คนให้คุณค่ามันมากมายนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ คุณค่าของการ “เก็งกำไร” คือซื้อเพื่อหวังจะขายต่อในราคาที่สูงขึ้น แต่ตัวของมันสร้างรายได้หรือทำเงินน้อยมาก หลังจากกรณีของ “ฟองสบู่ดอกทิวลิป” แล้ว โลกและประเทศไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ของการเก็งกำไรมาเรื่อย ๆ ราวกับว่าคนไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น หรือถ้าจะอธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ คนไม่ได้สนใจว่า “จุดสุดท้าย” จะเป็นอย่างไร พวกเขาอาจจะเพียงแต่คิดว่าในระหว่างที่ราคากำลังขึ้นอย่าง “บ้าคลั่ง” นั้น โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว “ยิ่งรอก็ยิ่งเสียโอกาส” ดังนั้นเขาจึงเข้าไปเล่น เหนือสิ่งอื่นใด ฟองสบู่แต่ละครั้งมักจะอยู่นานเป็นปี ๆ
ในประเทศไทยเองนั้น ผมยังจำได้ว่าในช่วงที่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ซึ่งก็ประมาณเกือบ 40 ปีมาแล้ว ผมจำไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่อยู่ ๆ คนไทยก็เริ่มสนใจและเริ่มซื้อขายหินสวยงามชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โป่งข่าม” นี่คือหินที่มีสีและลวดลายแปลก ๆ ในแต่ละเม็ดไม่ซ้ำกัน ขนาดของแต่ละเม็ดก็แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของหิน เมื่อได้มาแล้วคนก็จะนำไปเจียระไนเพื่อนำไปทำหัวแหวนและเครื่องประดับอื่น ๆ เพื่ออวดกันในหมู่เพื่อนฝูง เมื่อความนิยมในสังคมมีมากขึ้น การซื้อขายเปลี่ยนมือก็ตามมา หนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ ก็เริ่มตีพิมพ์เรื่องราวและความสวยงามของหินชนิดนี้ และแล้วเรื่องราว“ปาฏิหาริย์” ก็ตามมา บ้างก็ว่าเมื่อสวมใส่โป่งขามแล้วทำให้โชคดี บ้างก็อ้างว่ามันมี “พลัง” ในตัวที่ทำให้โรคภัยบางอย่างของผู้สวมใส่เช่นอาการหืดหอบหาย ผู้หญิงบางคนบอกว่าใส่โป่งข่ามแล้วทำให้ใบหน้า “มีน้ำมีนวลขึ้น” ด้วย ราคาของโป่งข่ามพุ่งขึ้นไปสูงมาก บางเม็ดอาจจะขึ้นไปเป็นหมื่นหรือเท่าไรผมก็จำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เข้าไป “เล่น” เลย แต่หลังจากนั้นความนิยมก็ลดลงเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีราคา เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จักแล้วว่าโป่งข่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อราวซัก 10 ปีที่ผ่านมาเราคงจำกันได้ว่าคนไทยเริ่ม “บ้า” จตุคาม ที่เป็นเหรียญที่เข้าใจว่ามีคนจัดทำขึ้นเพื่อเป็น “สิ่งศักดิสิทธ์” เริ่มต้นจากนครศรีธรรมราชถ้าผมจำไม่ผิด ต่อมาก็มีคนจัดทำมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่วัดหรือหน่วยงานจะหารายได้มาทำนุบำรุงองค์กรของตน เมื่อมีการทำกันมากขึ้นก็เริ่มมีเรื่องราว “ปาฏิหาริย์” ตามมา บางคนก็เริ่มสนใจในความ “งดงาม” ของจตุคามที่ออกกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนแขวนจตุคาม “เต็มคอ” กลายเป็นแฟชั่น และก็เช่นเคย สื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์ก็เริ่มจับเรื่องนี้มาเล่น ราคาของจตุคามบางรุ่นถูก “ไล่ราคา” ขึ้นไป ผมก็ไม่แน่ใจว่ารุ่นที่แพงมาก ๆ เป็นเท่าไร แต่ราคาในระดับแสนบาทก็น่าจะมีอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม การเล่นจตุคามก็ตกลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ Supply หรือของใหม่นั้นออกมาได้เร็วและมากอย่างไม่มีข้อจำกัด เดี๋ยวนี้คนเลิกหมดแล้ว และผมเชื่อว่าจตุคามที่เคยโด่งดังก็คงมีราคาน้อยมาก
ความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่มีผลกระทบ “ระดับชาติ” ของไทยนั้นก็คือการเล่น “แชร์แม่ชม้อย” ซึ่งเป็น “แชร์ลูกโซ่” กองแรก ๆ ของไทยเมื่อประมาณซัก 35 ปีก่อน นั่นก็คือ การที่ “เจ้ามือ” เสนอการลงทุนในอะไรบางอย่างที่กำลัง “ร้อนแรง” เช่น น้ำมันในกรณีของแม่ชม้อย คนที่เข้ามาเล่นจะต้องจ่ายเงินค่าแชร์เช่น ซื้อน้ำมันหนึ่งคันรถอาจจะเท่ากับ 10,000 บาท หลังจากนั้นแต่ละเดือนเขาจะได้รับเงินปันผลตอบแทนเช่น 1,000 บาททุกเดือน แน่นอน เงินนั้นไม่ได้นำไปลงทุนซื้อน้ำมัน แต่ถูกนำไปจ่ายเป็นปันผลให้กับคนที่ลงทุนมาก่อน ตราบใดที่ยังมีคนใหม่มาลงทุนเพิ่ม คนเก่าที่ลงทุนไว้ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเดือนละ 10% ไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่ทำให้คนที่ยังไม่ได้ลงทุนเห็นและอยากเข้ามาลงทุนเพราะเป็นหนทางที่จะทำเงินได้ง่าย ๆ บางคนอาจจะ “ขายบ้าน” มาลงทุน เพราะ “ถ้าอยู่ได้ถึงปี เงินก็ได้คืนมาหมดแล้ว” ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคนที่เข้ามาตั้งแต่แรก ๆ และอยู่ได้เกินปีแต่น่าเสียดายที่ว่าเขาไม่ได้เงินคืนเลย เพราะเมื่อได้ปันผลมา เขาก็ “โลภ” แทนที่จะเก็บไว้ กลับนำไปลงทุนต่อ ซึ่งทำให้ต้องหมดตัวเมื่อแชร์ “ล้ม”
สุดท้ายของเรื่องความ “บ้าคลั่ง” ของการเก็งกำไรที่แทบทุกประเทศต้องเคยประสบถ้าตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่งเกิดก็คือ การเก็งกำไรในหุ้นที่รุนแรงจนกลายเป็น “ฟองสบู่” แน่นอน ประวัติศาสตร์ได้จารึกเรื่องของ “ฟองสบู่เซ้าท์ซี” และฟองสบู่ในปี 1929 ในตลาดสหรัฐที่มีผลกระทบกว้างขวางทั่วโลกและกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อ “ฟองสบู่แตก” ราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียงประมาณ 10% แต่ความบ้าคลั่งหรือฟองสบู่ขนาดย่อม ๆ นั้นก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่ละครั้งก็มักจะทิ้งเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 15-20 ปีขึ้นไป ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศอาจจะมีน้อย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแล้ว บ่อยครั้งมันเป็น “หายนะ” เกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้นนั้น แทบจะไม่มี “สัญญาณเตือน” หรือมีก็ “ไม่มีใครเชื่อ” เหตุเพราะว่า “ฟองสบู่” นั้นมักเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ดีเยี่ยม โดยทั่วไปก็มักจะเริ่มต้นจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตดี เศรษฐกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พื้นฐานใหม่ เช่น “การเปิดเสรีทางการเงิน” “การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” “การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจใหม่” หรือไม่ก็หลาย ๆ เรื่องประกอบกันที่ทำให้คนเห็นว่า หุ้นนั้นจะมีแต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ทำให้ราคาที่สูงลิ่วนั้นคงอยู่ไม่ได้ ต่อเมื่อหุ้นตกลงมาแล้ว คนถึงได้รู้ว่าราคาที่เห็นนั้นเป็น “ฟองสบู่”
ก่อนที่จะจบบทความนี้ ผมคงต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้หมายความว่าตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เป็นฟองสบู่แล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ ผมเพียงแต่รู้สึกว่าในช่วงเวลานี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังสนใจลงทุนในหุ้นกันมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้น ถ้าผมจะบอกว่าในช่วงนี้เป็นช่วง “Stocks Mania” หรือคนกำลังคลั่งไคล้ในหุ้น ก็คงไม่ผิดจากความจริงไปมากนัก