′อำนาจแห่งเอกลักษณ์: ลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรี′ โดย เกษียร เตชะพีระ

หนังสือเรื่อง Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-buri (Cornell Southeast Asia Program Publications, 2011; สิทธิอำนาจทางการเมืองกับเอกลักษณ์จังหวัดในประเทศไทย: การสร้างบรรหารบุรี) เล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่น ดร.โยชิโนริ นิชิซากิ แห่งคณะรัฐศาสตร์, National University of Singapore เขาวิจัยภาคสนามหาข้อมูลในสุพรรณบุรีอยู่นาน 7 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนทั่ว 111 ตำบลที่นั่น และสัมภาษณ์สนทนากับคนสุพรรณฯกว่า 400 คน และคนต่างถิ่นอีกกว่า 170 คน ทั้งยังค้นคว้าเอกสารหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและตัวเลขสถิติงบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องอีกมากกว่าจะประมวลเรียบเรียงวิเคราะห์เปรียบเทียบออกมาเสร็จสมบูรณ์


นิชิซากิ เล่าถึงการสนทนากับหนุ่มคนงานก่อสร้างวัย 30 ตอนปลายชาวอำเภอสองพี่น้อง บนรถเมล์เล็กเมื่อแรกเขาไปถึงสุพรรณบุรีว่าพอรถแล่นผ่านสนามกีฬาประจำจังหวัดซึ่งคุณบรรหารได้ใช้งบหลวงปรับปรุงใหม่ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 คนงานผู้นั้นก็เอ่ยชมความใหญ่โตงดงาม อลังการของสนามกีฬาว่าเป็นเพราะบรรหารทำทีเดียว เพื่อยั่วให้เขาพูดมากขึ้น นิชิซากิแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องรู้ราวและถามต่อว่า:

นิชิซากิ: บรรหารเป็นใครหรือครับ?

คนงานก่อสร้างทำท่าแปลกใจที่นิชิซากิไม่รู้จักบรรหาร แล้วก็สาธยายประวัติภูมิหลังของบรรหารที่เป็น ส.ส.ตลอดกาลของสุพรรณฯและช่วยพัฒนาสุพรรณฯไปเป็นอันมาก

นิชิซากิ: ท่าทางคุณจะชอบบรรหารมาก ใช่ไหมครับ?

คนงานก่อสร้าง: แน่นอน ผมชอบท่าน! คำถามพรรค์นั้นไม่ต้องมาถามแถวนี้หรอก ใครก็ตามที่เกิดที่สุพรรณฯต้องชอบท่านทั้งนั้น ถ้ามีใครไม่ชอบท่านละก็ คนๆ นั้นไม่ใช่คนสุพรรณฯ!



ข้อเสนอหลักในหนังสือของนิชิซากิก็คือ [สิทธิอำนาจทางการเมืองของคุณบรรหาร/ Political Authority] มีที่มาจาก [พื้นฐานทางสังคมจิตวิทยาของชาวสุพรรณบุรีที่เกิดความภาคภูมิใจในจังหวัดของตนร่วมกัน] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจการเมืองของคุณบรรหารเกิดจาก [ลัทธิ จังหวัดนิยมหรือเอกลักษณ์จังหวัดแบบบรรหารบุรี Banharn-buri Provincialism or Provincial Identity] นั่นเอง



เขาได้ขยายความตำนานบรรหารบุรีให้พิสดารขึ้นว่า:

-อำนาจครอบงำของบรรหารเป็นผลผลิตของวีรกรรมต่อเนื่องเป็นชุดของเขาในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาสุพรรณบุรีในท่ามกลางบริบททางอุดมการณ์แห่งการพัฒนาระดับชาติและโลกที่ตราหน้า "ความล้าหลัง" ว่าเป็นสิ่งน่าอับอายอดสู

-เดิมทีสุพรรณบุรีเป็นแบบฉบับของจังหวัด "ล้าหลัง" ในเมืองไทยเนื่องจากรัฐส่วนกลาง ทอดทิ้งละเลย อย่างไรก็ตาม นับแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 มา บรรหารได้แก้ไขสภาพดังกล่าวโดยใช้เงินทุนส่วนตัวบวกกับอำนาจเชิงสถาบันในภาครัฐจนถึงจุดที่บัดนี้สุพรรณฯคุยเขื่องได้ว่ามีถนน โรงเรียน และโครงการพัฒนาคุณภาพเลอเลิศเหนือจังหวัดอื่นทั่วไปมากมาย

-เหตุที่ชาวสุพรรณฯสนับสนุนบรรหารก็เพราะบรรดาการริเริ่มโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เขาทำให้เห็นประจักษ์ อันเป็นตัวแทนความมานะพยายามอย่างอาจหาญของเขาที่จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ เกียรติคุณ ชื่อเสียงหรือสถานภาพทางสังคมของจังหวัดของพวกเขา

-สำหรับชาวสุพรรณฯ บรรหารเป็น "โรบิน ฮู้ด" ผู้ใจดีมีเมตตาและเก่งกล้าสามารถ เขาได้พัฒนาสุพรรณฯที่เคยล้าหลังให้แทนรัฐส่วนกลางซึ่งทั้งใจไม้ไส้ระกำ ทำอะไรก็ไม่ได้เรื่องและเฉื่อยเนือยแฉะแบะ เหล่านี้ส่งผลก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์จังหวัดเชิงบวกที่แรงกล้า ซึ่งบรรหารและโครงการริเริ่มทั้งหลายของเขาเป็นส่วนประกอบหนึ่งอันมิอาจแยกได้

-สรุปคือบรรหารได้ปลุกชาวสุพรรณฯให้ภาคภูมิใจในความเป็นคนสุพรรณฯ พวกเขาไม่ต้องอับอายขายหน้าที่จังหวัดตัวเองล้าหลังอีกต่อไป ความภูมิใจรวมหมู่นี้รองรับสิทธิอำนาจอันชอบธรรมของบรรหารในสุพรรณบุรี

นิชิซากิ ประมวลวิเคราะห์ว่ามีเหตุปัจจัย 4 ประการ ที่เอื้ออำนวยให้เอกลักษณ์จังหวัดแบบบรรหารบุรีก่อตัวขึ้นมาได้ กล่าวคือ: -

1) ในเชิงประวัติศาสตร์: มรดกการถูกรัฐละเลยทอดทิ้ง และความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอันล้าหลังของจังหวัดสุพรรณบุรี

2) ในเชิงกิจกรรมทางสังคม: บรรหารทั้งบริจาคเงินอย่างใจกว้าง, เอางบฯหลวงมาลง, และชี้นำล้วงลึกระดับท้องถิ่นอย่างเข้มงวดถึงลูกถึงคน ซึ่งสะท้อนบุคลิกละเอียดจู้จี้แบบเถ้าแก่หลงจู๊ของเขา

3) ในเชิงสถาบัน: รัฐประชาธิปไตยอุปถัมภ์ (patrimonial democratic state) หลังช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้กิจกรรมทางสังคมของบรรหารเป็นไปได้

4) ในเชิงกลุ่มผู้ประกอบการทางการเมือง: เครือข่ายลูกน้องบริวารมหึมาที่คอยตีฆ้องร้องป่าวโฆษณาโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งทำในนามของคุณบรรหาร

นิชิซากิ ยืนยันว่าลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรีคือฐานที่มาแท้จริงแห่งอำนาจทางการเมืองอันยั่งยืนของคุณบรรหาร ไม่ใช่การใช้กำลังรุนแรง, การซื้อเสียง, หรือการอุปถัมภ์ส่วนตัว อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหลักยิ่งกว่าการเมืองแบบดึงงบประมาณโครงการพัฒนาของรัฐบาลมาลง ในพื้นที่จังหวัดโดดๆ อย่างเดียวด้วย เพราะแม้ปัจจัยหลังนี้จะมีส่วนส่งผลต่อคะแนนนิยมอยู่บ้าง แต่ลำพังตัวมันเองไม่เพียงพอจะอธิบายกรณีผิดปกตินอกกรอบ (anomalies) ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ (เช่น ชาวสุพรรณฯที่ไม่ได้ประโยชน์เชิงวัตถุเงินทองโดยตรงใดๆ จากโครงการเหล่านี้ก็ยังสนับสนุนบรรหาร, ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นบางรายที่ได้ประโยชน์ชัดเจนจากบางโครงการกลับเพิกเฉยไม่หาเสียงช่วยคนของบรรหารก็มี)

อีกทั้งยังสะท้อนทรรศนะมุมมองต่อคนสุพรรณฯที่คับแคบ เห็นพวกเขาเป็นแค่สิ่งมีชีวิต นิยมผลประโยชน์ทางวัตถุ..... ราวกับว่าเป็นคนละเผ่าพันธุ์สปีชีส์ ไม่เหมือนคนกรุงหรือนักวิชาการที่มีการศึกษา ยึดมั่นอุดมการณ์การเมือง รักความเป็นไทย ไม่ขายเสียง ไม่บ้าประชานิยม ฯลฯ อันเป็นมายาคติหลงตัวเองและหลอกตัวเองที่ต่อต้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างหนึ่ง!


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1359698297&grpid=03&catid=&subcatid=

คิดว่าผู้วิจัยยังค้นข้อมูลไม่ละเอียดพอ

แต่ละสิ่งก่อสร้างโครงการมีเบื้องลึกขัดแย้งกับชาวบ้านอย่างไร
วัตถุประสงค์แต่เริ่มแรกในการเล่นการเมือง
กลเกมในการเอาชนะการเลือกตั้ง
ถ้าพรรคเพื่อไทยและทักษิณยังอยู่คิดว่าจะเหลือ สส. ในสุพรรณเท่าไร
ได้สัมภาษณ์ฝ่ายตรงข้ามภายในจังหวัดไหม อัตราส่วนของคนชอบไม่ชอบเท่าไร
เมื่อหมดยุคทุกอย่างที่สร้างมาจะมีคนสานต่อดำรงได้นานแค่ไหน?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่