สองใจในหนึ่งทาง

กระทู้สนทนา
สองใจในหนึ่งทาง
เรื่องสั้น โดย Haruki.13


“...ภาระของโลกนี้นั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครคนหนึ่งจะแบกรับ
และความทุกข์เทวษบนโลกนี้ก็หนักหนาเกินกว่าที่ใจดวงหนึ่งจะทานทน...”



ออสการ์ ไวล์ด (พระราชาหนุ่ม, 1891)




วันนี้เป็นวันสอบสัมภาษณ์ของเธอ...

'แพทย์หญิงกาญจนา' มองดูคนรอบข้าง ที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมวิชาชีพ และคู่แข่งขอเธอ  มีคนจำนวนมากมายที่ต้องการมาสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าเรียนต่อในสาขานี้  มันไม่ใช่เรื่องแปลก เธอรู้ว่าคนจำนวนไม่น้อยต้องการเรียนสาขาที่งานไม่หนัก และมีผลตอบแทนที่ดี

แพทย์หญิงมองดูพวกเขาเหล่านั้นที่แต่การอย่างสวยงามมีรสนิยม ผิวพรรณเปล่งปลั่งทั้งจากการดูแลและเครื่องสำอาง ในบางครั้งมันทำให้เธอรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองอยู่ผิดที่ผิดทาง ทั้งที่ความจริงแล้วในวันนั้น เธอก็ไม่ได้ดูแตกต่างไปจากพวกเขา  แม้ว่ามันจะเป็นการปรุงแต่งที่เธอจำเป็นต้องทำเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมก็ตาม

และท่ามกลางพวกเขาเหล่านั้น เธอก็เห็นใบหน้าหนึ่งที่คุ้นตา  เพื่อนร่วมชั้นของเธอชื่อ 'แพทย์หญิงหิรัญญา' เธอไม่แปลกใจที่หิรัญญาแต่งตัวสวยและมาสมัครเรียนในสาขานี้ มันดูเหมือนจะเป็นทางที่แน่ชัดสำหรับหิรัญญาอยู่แล้ว

กาญจนากับหิรัญญาไม่ได้ทักทายกัน  บางทีกาญจนาก็สงสัยว่าหิรัญญาจะจำเธอได้หรือไม่ เพราะในวันนั้นเธอคงดูแตกต่างจากเมื่อสมัยเรียนมาก

...แน่นอน เธอกับหิรัญญานั้นแตกต่างกัน

-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-

หิรัญญาจำกาญจนาได้...

หิรัญญาแปลกใจมาก ทั้งแปลกใจที่เห็นกาญจนาที่นั่นและที่เห็นกาญจนาในสภาพเช่นนั้น  แม้เธอจะรู้ตั้งแต่สมัยเรียนว่า กาญจนาเพื่อนของเธอเป็นคนหน้าตาสะสวยคนหนึ่ง แต่ความสะสวยนั้นมักถูกกลบเกลื่อนไปด้วยความไม่ใส่ใจ  ด้วยทรงผมที่เพียงรวบไว้ให้เรียบร้อย ด้วยใบหน้าที่เกลี้ยงไร้การตกแต่ง และถูกซ่อนไว้ใต้แว่นตาแทบจะตลอดเวลา

แพทย์หญิงจำได้ เพื่อนของเธอที่ชื่อกาญจนาคนนี้ แม้จะไม่สนิทกัน วิ่งวุ่นคอยดูแลคนไข้ตลอดเวลา  ทั้งส่วนที่เป็นหน้าที่และไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง  ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กาญจนาจะออกจากผู้ป่วยหลังสองทุ่ม แม้ว่าเธอจะไม่ได้อยู่เวร  ดูเหมือนว่าหิรัญญาจะใช้เวลาช่วงนั้น ในการนั่งคุยอย่างเปิดอกกับคนไข้และญาติทุกคนที่เธอเป็นเจ้าของไข้ (และอาจจะรวมถึงคนไข้คนอื่นๆ ที่บังเอิญต้องการคุยในช่วงเวลานั้นด้วย)

แม้จะชื่นชมในความทุ่มเทของเพื่อนมากเพียงใด หิรัญญาก็ตระหนักว่าเธอนัั้นแตกต่างกัน  เธอรู้ว่าตัวของเธอเองนั้นชอบงานสบาย และชอบแต่งตัวสวนมากกว่าขลุกอยู่ในโรงพยาบาลทั้งวัน ซึ่งงคนรอบข้างต่างก็รู้ดี  และด้วยเหตุนั้นหิรัญญาจึงขีดกรอบของตัวเอง เธอทำงานตามหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่มากหรือน้อยไปกว่านั้น

ตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่ หิรัญญาตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้ชัดเจน เธอมองหาการเรียนต่อในสาขาที่งานไม่หนักจนเกินไป และสาขาที่เธอจะได้มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง  และเธอก็มุ่งเป้าไปตามนั้นมาโดยตลอด  แม้มีเสียงค่อนแคะว่าเธอเป็นพวกไม่ทุ่มเท เธอก็ได้แต่พยายามคิดว่า ทุกคนมีสิทธิเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง

หิรัญญาแปลกใจที่เห็นกาญจนาที่นี่และมาสมัครเรียนในสาขานี้ เท่าที่เธอทราบมาตอนสมัยเรียน กาญจนาอยากเรียนในอีกสาขาหนึ่ง และก็ไปทำงานเบื้องต้นหลังเรียนจบโดยฝึกงานกับสาขานั้นโดยเฉพาะ  เธอรู้เพราะเพื่อนอีกคนที่ทำงานที่เดียวกับกาญจนาเล่าให้เธอฟังว่า กาญจนาทุ่มเทกับงานมากแค่ไหน และคนไข้ในแผนกรักกาญจนาแค่ไหน

ในตอนนั้น หิรัญญาไม่อาจจะคาดเดาสิ่งที่อยู่ภายในใจของเพื่อนเธอได้เลยจริงๆ

-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-

หลังเรียนจบ กาญจนาทำงานโดยฝึกอยู่กับสาขางานที่หิรัญญารู้มาจริง  มันเป็นสาขาที่งานหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสาขาที่ใครๆ ว่ากันว่าเป็น “หมอ” ยิ่งกว่าหมอในสาขาใดๆ  กาญจนาชอบเรียนในสาขานี้จากใจ เธอรู้สึกว่าผู้ป่วยเหล่านี้เปรียบเสมือนญาติ เปรียบเสมือนพี่น้องของตน  เธอดีใจที่ได้ช่วยให้พวกเขาหายป่วย ดีใจที่ได้ช่วยพวกเขาให้รอด  เธอจึงตั้งใจว่าจะเรียนให้เก่ง จะทำให้ดีที่สุด

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พยาบาลประจำหอผู้ป่วยที่เธอผ่านไป จะเห็นกาญจนา ตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ จวบจนหลังจากที่เรียนจบ อยู่ที่หอผู้ป่วยจนดึกๆ ดื่นๆ บางครั้งก็ไม่ได้กินทั้งข้าวกลางวันและข้าวเย็น  จนบางครั้งพวกเธอก็อดไม่ได้ที่จะบอกว่า “หมอกาญจนา หมอไปพักผ่อนบ้างเสียเถิด ตอนนี้ยังไม่มีอะไร พวกพี่พอจะดูแลกันเองได้ มีอะไรเดี๋ยวพวกพี่ค่อยเรียกหมอมา” ทว่าทุกครั้งที่ทำอย่างนั้น เหล่าพยาบาลก็จะได้คำตอบที่ว่า “ขอบคุณ แต่ไม่เป็นไร หมอยังทำงานไหวอยู่”

บางทีเรื่องมันคงเริ่มขึ้นในวันหนึ่งระหว่างที่กาญจนาฝึกงานอยู่หลังจากเรียนจบเพื่อรอจะมาเรียนต่อนั่นเอง  แน่นอน มันเป็นหน้าที่อยู่แล้วที่หมอทุกคนจะต้องไปดูคนไข้ทุกวัน ไม่เว้นแม้วันหยุดเสาร์อาทิตย์  แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกัน ที่เมื่อมีเหตุจำเป็น พวกเขาก็จะฝากเพื่อนร่วมงานให้มาตรวจดูผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยในตอนเช้าที่เรียกกันว่า 'ราวนด์' แทนกันในวันหยุด เมื่อมีใครสักคนไม่สามารถมาด้วยตนเองได้

ตอนนั้นกาญจนามีธุระของทางบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่ในอีกจังหวัดหนึ่ง และมันก็ต้องเดินทางไกลเกินกว่าที่จะไปกลับในวันเดียว ด้วยเหตุนี้ กาญจนาจึงจำต้องฝากคนไข้ในความดูแลของเธอไว้ในความดูแลของเพื่อนหมออีกคนหนึ่งระหว่างที่เธอไม่อยู่  กาญจนาทั้งเอ่ยฝากเขาด้วยวาจา บอกทุกสิ่งที่เธอเห็นว่าสำคัญไปจนหมดสิ้น ทั้งเขียนทุกอย่างลงในแฟ้มประวัติเผื่อว่าเพื่อนของเธอจะลืมไป

กาญจนาไปทำธุระของทางบ้านแล้วกลับมาในอีกสองวันถัดมา เมื่อนั้นเองที่เพื่อนของเธอแจ้งข่าวร้ายกับเธอ  'คุณลุง' ซึ่งเป็นคนไข้คนหนึ่งของเธอได้เสียชีวิตลง  ในตอนที่เธอกลับมานั้น ญาติได้นำร่างไร้วิญญาณของ 'คุณลุง' ไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้วและไม่ได้ติดใจอะไร อีกทั้งยังฝากผลไม้อีกตะกร้าหนึ่งไว้กับพยาบาลที่หอผู้ป่วยเพื่อนำมาให้เธออีกด้วย ในตะกร้านั้นมีการ์ดอยู่แผ่นหนึ่งเขียนว่าพวกเขาขอบคุณเธอที่ดูแล 'คุณลุง' มาตลอดเป็นอย่างดี

รับทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว เมื่อมีเวลา กาญจนาก็ไปที่หอผู้ป่วยที่ คุณลุงเคยนอนอยู่  และขอดูแฟ้มประวัติของคุณลุงซึ่งพยาบาลประจำหอยังไม่ได้ส่งไปเก็บรวบรวมที่คลัง  ภายในแฟ้มนั้นบันทึกข้อมูลของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่คุณลุงนอนอยู่ในโรงพยาบาล ชีพจรและสัญญาณชีพอื่นๆ ที่พยาบาลประจำหอผู้ป่วยลงบันทึกไว้  มีบันทึกตอนที่เพื่อนของเธอลงมาตรวจและการรักษาที่ได้ให้ไป

ครั้นเมื่อได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดกาญจนาก็ไม่แทบจะทรุดลงไปกอกับพื้น เพราะความจริงแล้วคุณลุงไม่ควรจะต้องจากไปเลย  เปล่าหรอก เพื่อนเธอไม่ได้ทำการรักษาผิดพลาดใด  ไม่มีสิ่งใดที่จะตำหนิเขาได้เกี่ยวกับการตัดสินใจของเขา  แต่กาญจนานั้นตระหนักดี เพื่อนของเธอรู้จักคุณลุงเพียงสั้นๆ จากวันที่เธอฝาก จะรู้รายละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพและความเจ็บไข้ของคุณลุงได้ละเอียดเท่าเธอที่ดูแลคุณลุงมาตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่คุณลุงนอนอยู่ในโรงพยาบาลได้อย่างไร

เพียงแต่... ถ้าเธออยู่ที่นี่ในวันนั้น... บางที... คุณลุงอาจจะไม่ต้องจากไป...

...หลังจากวันนั้น กาญจนายังคงมาทำงานทุกวันตามปกติ เพื่อนร่วมงานทุกคนของเธอ ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือพยาบาล หรือผู้ป่วย ทุกคนต่างเห็นว่าเธอยังเป็นปรกติดี ไม่มีใครแม้เพียงสักคนที่ระแคะระคายเลยแม้แต่น้อยว่า ในยามที่เธอเลิกงานแล้ว ในยามที่เธออยู่เพียงคนเดียวในหอพักแพทย์ของเธอ เธอนั้นแทบไม่ได้ทำอะไรตลอดเวลาหลายวัน นอกจากเพียงร้องไห้ น้ำตาชุ่มหมอนจนกระทั่งหลับไปด้วยความอ่อนล้า เพียงเพื่อที่จะตื่นขึ้นมาทำตัว 'ตามปกติ' ในวันถัดมา

จากวันนั้นเองที่เธอเริ่มคิด เธอเริ่มถามตัวเองอย่างหนัก  นี่เธอจะทำดีที่สุดได้อย่างไร มีทางเลือกคือเธอจะต้องทุ่มเทเอาทั้งชีวิตของเธอเพื่อการเป็นหมออย่างนั้นหรือ เธอควรจะพอใจใช่ไหม ใช่... มันไม่เลวร้ายเลยถ้าหากเพียงเธอจะยอมรับได้ว่าเธอจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลปีละสามร้อยหกสิบห้าวัน ไปไหนมาไหนได้ไม่เกินรัศมีที่จะไปกลับได้ภายในวันเดียว  บางทีมันคงเป็นเพียงทางเดียวที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบที่เกิดขึ้นกับคุณลุงขึ้นอีก

แต่กระนั้นอีกส่วนหนึ่งเธอก็แย้งขึ้นมา หากเธอทำแบบนั้นขึ้นมาแล้ว กาญจนา เธอจะยังเรียกว่าเธอเป็นลูกที่ดีได้หรือเปล่า พ่อแม่พี่น้องของเธอที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่งเล่า เธอคงไม่มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมของเธอเลยใช่ไหม

และส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเธอกดมันไว้ในมโนธรรมก็ส่งเสียงออกมา มันบอกว่าเธออยากจะเป็นเพียง 'กาญจนา' ที่ไม่ใช่ 'หมอกาญจนา' บ้าง เธออยากมีชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง

เธอไม่อาจทนเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณลุงได้อีกต่อไป เธอไม่อยากเห็น ไม่อยากรับรู้เกี่ยวกับมันอีก...

แล้วกาญจนาก็ตัดสินใจ...

-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-_-

แพทย์เฉพาะทางสาขานี้เป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากโรคในสาขานี้เป็นโรคมักเป็นโรคที่ไม่หนัก ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

แม้แต่กรรมการสอบสัมภาษณ์ก็ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่่า แต่ละคนคนที่มาสมัครนั้นมีวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในใจต่างกันอย่างไร

...และก็เป็นที่นี่เอง ที่กาญจนากับหิรัญญาได้มาพบกันอีกครั้ง หลังจากที่เรียนจบ!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่