ดื่มน้ำผิดเวลา กระทบระบบย่อย

หลายคนอาจหลงลืมหรือให้ความสำคัญน้อยเกินไป กับสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับร่างกาย อย่าง "น้ำดื่ม"

"ร่างกายของมนุษย์เรา มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 70%"…จากข้อความนี้ น่าจะทำให้เห็นความสำคัญของน้ำเพิ่มมากขึ้นนะคะ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของร่างกายมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ทุกหนแห่ง น้ำในร่างกายแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ น้ำที่ประกอบอยู่ในเซลล์ประมาณ 60% มีอยู่นอกเซลล์ประมาณ 30% และที่อยู่ในเนื้อเยื่อ หรือเลือดอีก 10% เหตุนี้จึงทำให้มนุษย์ต้องการน้ำ ประมาณ 2–3 ลิตรต่อวัน ในทางกลับกัน แต่ละวันร่างกายก็มีการขับน้ำออกในลักษณะของปัสสาวะ 0.5-2.3 ลิตร นอกจากนั้นยังมีการขับน้ำออกทางเหงื่อ อุจจาระ และลมหายใจ

หน้าที่ของน้ำในร่างกายนั้นมีมากมาย ทั้งช่วยย่อยอาหาร ละลายสารอาหารและออกซิเจนเพื่อขนส่งให้เซลล์ทั่วร่างกาย ช่วยให้หัวใจทำงานปกติ เลือดไหลเวียนดี ละลายสารพิษเพื่อขับออกจากร่างกาย ทำให้ข้อกระดูกเคลื่อนไหวได้สะดวก ทำให้ผิวพรรณสดใสไม่แห้งกร้าน ใบหน้าชุ่มชื้นดูมีเลือดฝาด เมื่อน้ำสำคัญมากขนาดนี้ จะดื่มน้ำกันอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายเรามากที่สุด?

น้ำที่ดื่มต้องสะอาด : เรื่องนี้สำคัญมากนะคะ หากเราดื่มน้ำที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน อาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น น้ำที่มีเชื้อจุลินทรีย์ปะปนในปริมาณมาก อาจทำให้อุจจาระร่วง ป่วยโรคบิดและไทฟอยด์ หากน้ำดื่มมีสารเคมี โลหะหนัก เช่น คลอไรด์, ไนเตรท, แมงกานีส, สังกะสี, ตะกั่ว ก็ยังส่งผลเสียต่อตับ ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง

ดื่มน้ำให้เพียงพอและถูกต้อง : โดยปกติเราควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร ควรดื่มน้ำทันทีหลังจากตื่นนอน  โดยตอนเช้าควรดื่มน้ำอุ่นทันที 2 แก้ว เพื่อช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดี ดื่มน้ำทุกครั้งที่รู้สึกกระหาย ไม่ควรดื่มน้ำเกินครึ่งแก้วก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที และภายใน 40 นาทีหลังมื้ออาหาร เนื่องจากทำให้น้ำย่อยเจือจางลง ส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร

ทั้งนี้การดื่มน้ำก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวในขณะนั้นด้วย เช่น อากาศที่ร้อน และแห้ง ร่างกายจะสูญเสียน้ำทางผิวหนังและลมหายใจมากกว่าปกติ ดังนั้น ผู้ที่อยู่กลางแจ้งและในห้องปรับอากาศที่เย็นจัดจะต้องการน้ำมากกว่าคนที่อยู่ในที่ร่มหรือในห้องที่อุ่นสบาย หรือผู้ที่ออกกำลังกาย มีไข้ ท้องเสีย อาเจียนก็ควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำด้วย ทั้งนี้ ควรดื่มน้ำทีละนิด แบบจิบทีละ 2–3 อึก จิบบ่อยๆ ไปตลอดทั้งวัน ซึ่งจะดีกว่าการดื่มน้ำครั้งละมากๆ เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับระบบขับถ่าย อย่าง ไต ปอด ม้าม และระบบย่อยอาหาร อีกทั้งร่างกายจะดูดซึมไม่ทัน และขับออกมาเป็นปัสสาวะ แม้ดื่มน้ำเข้าไปมากก็ยังรู้สึกหิวน้ำอยู่บ่อยๆ

การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยให้ไตทำงานได้ดี ซึ่งหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า ไต ต้องทำหน้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกำจัดสารพิษต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเกิดจากกระบวนการทำงานภายในเซลล์, ดูดสารอาหารที่มีประโยชน์กลับคืนเข้าสู่ร่างกาย, ควบคุมระดับความเป็นกรด ด่าง ของของเหลวในร่างกาย, กำจัดของเสียส่วนเกินแล้วขับออกทางปัสสาวะ, สร้างฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงและวิตามินดี..ถ้าร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ ไตก็ไม่สามารถทำหน้าที่ดังที่กล่าวได้ดี เช่นเดียวกับ ตับ ต้องทำงานหนักขึ้น เผาผลาญไขมันได้น้อยลง ทำให้ร่างกายมีการสะสมไขมันมากขึ้นอีกด้วย

หากปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำหรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายต้องดึงน้ำจากส่วนต่างๆ มาใช้โดยที่เราไม่รู้ตัว ส่งผลให้เลือดข้น ระบบไหลเวียนของเหลวผิดปกติ ผิวหยาบ ปวดศีรษะ เป็นตะคริว ความดันสูง

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังในการดื่มน้ำอยู่บ้าง เช่น ผู้ป่วยโรคไต ที่มีอาการบวมน้ำ ต้องควบคุมปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวันตามแพทย์กำหนด เพราะไตของผู้ป่วยไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้ตามปกติ น้ำปริมาณมากจึงคั่งอยู่ภายใน ส่งผลให้แขนขาบวม ความดันโลหิตสูง

ไม่ควรดื่มน้ำเย็นจัด : เพราะอวัยวะภายในร่างกายต้องปรับอุณหภูมิของน้ำที่เย็นจัดให้เท่ากับอุณหภูมิของร่างกายก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร เป็นผลให้ร่างกายอ่อนแอ ทางที่ดีควรดื่มน้ำอุ่นเป็นประจำเพื่อช่วยขับเหงื่อ

ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป : เพราะจะทำให้รู้สึกกระหายมากกว่าปกติ การดื่มน้ำมากเกินไปจะทำให้ร่างกายทำงานหนักและทรุดโทรมก่อนวัย

ทราบกันอย่างนี้แล้วก็ปรับวิธีการดื่มน้ำให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายเรากันนะคะ เพื่อสุขภาพของเราเอง และคนที่เรารัก อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat กันล่ะ.

"PrincessFangy"
twitter.com/PrincessFangy

อ้างอิงบางส่วนจาก www.thaihealth.or.th และ www.e-magazine.info
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่