"ชัชชาติ"เผยญี่ปุ่นสนใจรถไฟความเร็วสูง

"ชัชชาติ"เผยญี่ปุ่นสนใจรถไฟความเร็วสูง



รัฐมนตรีคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ระบุการหารือระหว่างรัฐบาลไทยกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย

ที่มา http://www.nationchannel.com/main/news/economy_business/20130118/27835582/

+++++++++++++++++++++++++++++ๅ

เซ็นSTEC-UNIQเร่งสีแดง เชียร์ยุ่นร่วมทุนลุยทวาย

ร.ฟ.ท.เซ็นสัญญาจ้าง STEC-UNIQ สร้างสถานีกลางบางซื่อ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รมว.คมนาคม เชียร์ญี่ปุ่นร่วมลงทุนประมูลทวาย
    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. มีการลงนามสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ประกอบด้วย งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ บมจ.ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น (STEC) บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น (UNIQ) โดยเชื่อว่าจะสามารถเร่งรัดงานก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น หลังจากล่าช้ามานาน คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน โครงการจะแล้วเสร็จ
    ส่วนการเซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายสีแดง สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างระบบราง ได้มีการส่งเรื่องให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจกา) ในฐานะผู้ให้เงินกู้พิจารณารายละเอียดของการลงทุนอีกครั้ง เชื่อว่าจะสามารถเร่งรัดให้มีการเซ็นสัญญาได้ในเดือน ก.พ.2556 ส่วนสัญญาที่ 3 อยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมายว่าด้วยบริษัทร่วมทุน ว่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้วประมูลหรือไม่ โดยเบื้องต้นไจกายืนยันมาแล้วว่าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้วประมูล
    นายชัชชาติกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการทวายที่ประเทศไทยร่วมกับเมียนมาร์ในการพัฒนา ว่า ประเทศญี่ปุ่น โดยนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี แสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุน  โดยได้ส่งทีมงานเข้าไปศึกษาพื้นที่อย่างละเอียด โดยเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศญี่ปุ่นเสนอให้ความช่วยเหลือมาแล้ว คือ เรื่องเทคโนโลยีและการฝึกอบรมบุคลากร ส่วนการประมูลก่อสร้างโครงการนั้น ประเทศไทยตั้งเป้าจะเปิดเป็นการประมูลนานาชาติ จึงหวังว่าญี่ปุ่นจะเข้าร่วมประมูลด้วยของดีในราคาที่เหมาะสม.

ที่มา http://www.thaipost.net/news/190113/68287


++++++++++++++++++++++++++++ๅ

ไทยเปิดรับญี่ปุ่นร่วมลงทุนรถไฟและโครงการทวาย





รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยเปิดรับญี่ปุ่นร่วมลงทุนโครงการทวายและพร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง หลังเคลียร์ปัญหาฮั๊วประมูลจบแล้ว

วันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจ้างผู้รับเหมารับระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต งานสัญญา 1 ซึ่งเป็นงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและกิจการร่วมค้าเอสยู โดยมีบริษัทก่อสร้างในโครงการร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เน้นย้ำเรื่องการเชื่อมต่อระบบคมนาคมไปยังสถานี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการ เนื่องจากที่ผ่านมามีบทเรียนจากแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งประชาชนใช้บริการยาก โดยจะผลักดันให้มีระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะทุกประเภทเชื่อมต่อ เนื่องจากเป็นจุดคมนาคมใจกลางเมือง ส่วนสัญญาจ้างที่ 2 คาดว่าจะเริ่มเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนสัญญาจ้างที่ 3 อยู่ระหว่างการตรวจสอบทางด้านกฎหมายกรณีข้อกังขาถึงการฮั๊วประมูลของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เสนออยากเข้าร่วมลงทุนยินดีเปิดให้มีการประมูลระดับนานาชาติ ซึ่งมองว่าญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในเชิงเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงนามการก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานการจัดซื้อตัวรถและระบบอาณัติได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้

หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมายังสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เพื่อเป็นประธานการประชุมบทบาทของโครงการทวาย กับการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทย โดยรัฐมนตรีฯกล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้แสดงเจตจำนงค์อยากเข้าร่วมการลงทุน มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งญี่ปุ่นสามารถร่วมลงทุนได้ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน คือ เส้นทางคมนาคมไปยังนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ และอีกส่วนคือการร่วมลงทุนในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นอาจสนับสนุนในเรื่องของการให้กู้เงินลงทุน ส่วนภาคเอกชนจะมีบทบาทในการเป็นบริษัทร่วมทุน ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรเป็นบริษัทเดียวในการลงทุนทั้ง 2 ส่วน เพื่อง่ายต่อการแบ่งปันผลประโยชน์และรวดเร็วในการก่อสร้าง

ทั้งนี้ในวงเสวนา ซึ่งมีตัวแทนจากสภาพัฒน์ กรมทางหลวง สนข. และเอกชน ทั้งจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ เห็นตรงกันว่าโครงการทวายจะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งในแง่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และอุตหสากรรมต้นน้ำ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลจัดทำเวิร์คช็อปกับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการถึงต้นทุน การขนส่งที่จะต้องเคลื่อนย้ายมาใช้ท่าเรือน้ำลึกทวายจากเดิมที่ใช้ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากระยะทางที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว และยังต้องมีค่าใช้จ่ายภาษีศุลกากรข้ามแดนไปยังเมียนมาร์ด้วย


ที่มา http://goo.gl/V08sz
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่