ปั้น Wealth "ชีวิตหลังเกษียณ"มือการเงิน"โรงแรมเซ็นทรัล"

ธุรกิจ : BizWeek
วันที่ 7 มกราคม 2556 01:00


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



เปิดแผนลงทุน “ชีวิตหลังเกษียณ” “ว่าที่เซียนหุ้นวีไอ” “รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์” มือการเงิน “โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า” “หุ้น ทองคำ ที่ดิน”

“รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์” ใครหลายคนคงคุ้นเคยกับเขาในฐานะ “สปีกเกอร์” การเงินประจำ “โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า” (CENTEL) หนึ่งในหลากธุรกิจของตระกลูจิราธิวัฒน์ ผ่านมากว่า 20 ปี เขาก็ยังคง “ปักหลัก” ทำงานอยู่ ณ ที่แห่งเดิม แม้จะผ่านเกณฑ์เกษียณอายุ 55 ปีมาแล้ว ก็ตาม

อีกมุมหนึ่ง “ชายวัย 56 ปี” ผู้นี้ เขาคือ “เซียนหุ้น” ผู้ที่กำลังจะผันตัวเองมาเป็น “นักลงทุนแนว VI” ตามคำเชิญของทีมงานรายการ Money Talk ที่มี "รศ.ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา” และ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย นั่งแท่นพิธีกร

“รณชิต” รู้สึกประทับใจ “ดร.นิเวศน์” ตั้งแต่เจอกันในงานประชุมผู้ถือหุ้นโรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า ซึ่ง “อาจารย์” ซักถามรายละเอียดธุรกิจชนิด “ถึงพริกถึงขิง” เรียกว่า ถามกันตั้งแต่ “สากกะเบือ ยันเรือรบ"

ย้อนไปดูประวัติ “รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร” ของ“โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า” ผู้นี้ พลันที่เรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2519 “รณชิต” เริ่มต้นชีวิตการทำงาน 3 ปีแรก ในตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชีใน บริษัท อาเธอร์แอนเดอร์เซิน จำกัด (KPMG) ก่อนจะย้ายมาทำงานตำแหน่ง Management Internal Control ในบริษัท เชสแมนฮัตตัน ไฟแนนซ์ แอนด์ ซีคิวริตี้ จำกัด

จากนั้นไม่นานเขาก็ย้ายมาช่วยงาน อากู๋ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เจ้าของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ในบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (บริษัทในเครือโอสถสภา เต๊กเฮงหยู) ระยะหนึ่ง ก่อนจะโยกตัวเองมานั่งทำงานกับ “สุธี นพคุณ” ในตำแหน่ง Chief Accountant Controller ในโรงแรม President Hotel หาดใหญ่ และย้ายกลับมาประจำที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่ดูแลโรงแรมในเครือ 6 แห่ง ทั่วประเทศ

“ดวงชีวิต” ของนักบัญชีรายนี้ เดินทางมาถึง "จุดเปลี่ยน" เมื่อเขาได้ผันตัวเองไปเป็น "ผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์" โรงแรมอมารีแอร์พอร์ทโฮเทล ดูแลในส่วนของการวางระบบคอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 2 ปี จนกระทั่งในปี 2527 โรงแรม ไฮแอทเซ็นทรัลพลาซา เปิดให้บริการ ทำให้ “รณชิต” ได้รับโอกาสให้ทำงานร่วมกับ “สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ในตำแหน่งผู้ช่วย Group Controller

ขณะนั้น “รณชิต” มีโอกาสศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบการศึกษาในปี 2528 ทำให้หน้าที่การงานก้าวสู่ตำแหน่ง Group Controller ตามด้วยตำแหน่งเลขานุการ นานกว่า 10 ปี จากนั้นในปี 2538 เขาได้รับการติดต่อจาก “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” ให้เข้ามาร่วมขยายธุรกิจโรงพยาบาลพญาไท ทำอยู่ได้ไม่นาน ด้วยความรักในสายงานธุรกิจโรงแรม ทำให้เขาตัดสินใจกลับมาร่วมงานกับ “สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” อีกครั้งในปี 2542

“รณชิต” ใช้เวลาหลังเลิกงาน บอกเล่าชีวิตการลงทุนในตลาดหุ้นให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟังว่า แม้ผมจะยังคงนั่งทำงานอยู่บนเก้าอี้ตัวเดิม แต่ชีวิตได้ผ่านวัยเกษียณมาแล้ว ฉะนั้นคงประมาณไม่ได้ ทำงานเป็นลูกจ้างเขา เกิดนายจ้างไม่พอใจ หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วผมจำเป็นต้องออกจากงานที่รักจะทำอย่างไร
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้อง "วางแผนการเงิน" ให้พร้อมเสมอ

เขา ย้อนความคิดในอดีตให้ฟังว่า วันหนึ่งผมกลับบ้านมานั่งนึกว่า “ชีวิตหลังเกษียณ” ของเราสองคน (สามี ภรรยา) ต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไร และจะหาเงินก้อนนั้นจากที่ไหน “ความคิดตกผลึก” ที่ว่า เราต้องการใช้เงินเดือนละ 30,000 บาทเท่ากับว่าผมต้องมีเงินฝากธนาคารประมาณ 12 ล้านบาท ถึงจะมีผลตอบแทน 3% ต่อปี หรือประมาณ 360,000 บาท เมื่อนำ 12 มาหาร จะตกเดือนละ 30,000 บาท นั่นละ ! คือเงินที่เราจะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

“ว่าที่เซียนหุ้น VI” เริ่มต้นเล่าการลงทุนให้ฟังว่า ทุกวันนี้พอร์ตลงทุนของผมไม่ใหญ่เท่าไรอยู่เพียงระดับ 5-6 ล้านบาทเท่านั้น ผมไม่ได้ลงทุนเพียงตลาดหุ้นเท่านั้น ยังซื้อสินทรัพย์อื่นๆด้วย อาทิ ตลาดหุ้น หุ้นกู้ ทองคำ ที่ดินเน้นแถบปริมณฑล เชียงใหม่ เชียงราย และอสังหาริมทรัพย์ เน้นปล่อยเช่าเดือนละ 20,000-30,000 บาท

ผมลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรก ตอนเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ตอนนั้นทำงานเป็นผู้สอบบัญชีแล้ว ทำให้มีเพื่อนร่วมสายงานเกี่ยวกับเงินทองๆค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบริษัทหลักทรัพย์
เรารวมตัวกัน 4-5 คน เพื่อลงขัน “เล่นหุ้น” เพื่อนๆมอบหมายให้คนที่ว่างที่สุดดูแลพอร์ตลงทุน (เขาไม่ยอมบอกชื่อเพื่อน) ตอนนั้นแก๊งค์ของเราเล่นเน็ตและมาร์จิ้นด้วย (หัวเราะ)ช่วงแรกๆลงทุนหุ้นประมาณ 4-5 ตัว เล่นไป เล่นมา บริษัทราชาเงินทุนซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยในปี 2521 - 2522 ดันล้มละลาย ทำให้เกิดหนี้เสียเป็นจำนวนมาก

ส่งผลให้หุ้นเกือบทุกตัว “ร่วงระเนระนาด” ช่วงนั้นพวกผมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเคลียร์หุ้นออกให้หมด เรา “โชคดี” นิดหน่อย ตรงที่ตอนนั้นราคาหุ้นมันสวิงตัวขึ้นลง ทำให้ผลตอบแทนออกมาเสมอตัว (โล่งใจมาก)
“ประสบการณ์ครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า...การลงทุนช่วงอายุน้อยๆเราจะขาดประสบการณ์ ที่สำคัญเราไม่ควรฟังคนอื่นมากไป”

จากนั้นผมและเพื่อนๆ ก็ “เลิกเล่นหุ้น” รวมกัน ต่างคนต่างแยกย้ายไปลงทุนกันเอง ผมยังคงวนเวียนอยู่ในตลาดหุ้นนานถึง 5-6 ปี ช่วงนั้นเริ่มหัดวิเคราะห์หุ้นเอง ด้วยการนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยในการตัดสินใจ ผลออกมา “โอเคมาก” (ยิ้ม)

ถามว่าเลือกช้อนหุ้นอะไรเป็นตัวแรก “รณชิต” ตอบแบบไม่คิด หุ้น CENTEL !!! เพราะตอนนั้นทำงานเป็นผู้ช่วย Group Controller ซึ่งเป็นช่วงที่ “โรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า” กำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเลยให้หุ้นพนักงานมาล็อตหนึ่ง ตอนนั้นซื้อมา 20 บาทต่อหุ้น พาร์ 5 บาท ปัจจุบันก็ยังถืออยู่ แต่ก็มีขายออกทำกำไรบางส่วน
ส่วนช่วงที่ไปทำงานในโรงพยาบาลพญาไท ผมก็มีโอกาสซื้อหุ้น ประสิทธิ์พัฒนา (PYT) แต่ตอนนี้ขายหมดแล้ว ลาออกก็เทเกลี้ยงพอร์ต จากนั้นไม่นานก็มาซื้อหุ้น สหพัฒนพิบูล (SPC) ตอนนั้นได้กำไรกลับมาเยอะมาก เพราะเป็นช่วงสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ในช่วงขาขึ้น

ในอดีตผมเคย “ปลื้ม” หุ้น บ้านปู (BANPU) มากที่สุด เพราะราคาหุ้นเคยขึ้นไปถึง 700 บาทต่อหุ้น ผมซื้อตั้งแต่ 30 บาท พอมีปัญหาราคาหุ้นเหลือแค่ 400 บาทต่อหุ้น (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ไม่ค่อยชอบแล้ว เพราะราคาถ่านหินยังไม่มีท่าทีจะฟื้นตัว

หุ้น ปตท. (PTT) เป็นอีกตัวที่ชอบมาก โดยเฉพาะสมัยที่ “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขาเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เวลาให้ข่าวนักลงทุนจะมองเห็นภาพโครงการต่างๆชัดเจนมาก ผมซื้อหุ้น PTT มาตั้งแต่ 35 บาท ขายตอนราคา 300 กว่าบาท แต่พอมาเป็นคนใหม่ (ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร) เขาไม่ค่อยมีข่าวไม่เหมือนสมัย “ประเสริฐ” แต่สุดท้ายไม่ว่าปากจะบอกว่าชอบหุ้นอะไร ก็ต้องหันมาลงทุนที่หุ้น CENTEL อยู่ดี ตัวนี้รักมาก (ทำท่าคิดอยู่นาน)

“รณชิต” เล่าต่อว่า วันนี้พอร์ตลงทุนของผม “กระจัดกระจาย” มีทั้งกลุ่ม พลังงาน อาทิ หุ้น ปตท. (PTT) หุ้น ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หุ้น บ้านปู (BANPU) หุ้น ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และหุ้น จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) เป็นต้น

หุ้นกลุ่มสื่อสาร ก็ซื้อ อาทิ หุ้น ชิน คอร์ปอเรชั่น (INTOUCH) หุ้น จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) กลุ่มอาหารก็ช้อนซื้อ เช่น หุ้น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ซื้อหุ้น 5 บาท ตอนนี้ราคาทะยานไป 30 บาทแล้ว รวมถึงหุ้น ซีพี ออลล์ (CPALL)

ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ผมก็ซื้อประดับพอร์ตไว้เหมือนกัน โดยเฉพาะหุ้น แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) และหุ้น แสนสิริ (SIRI) อย่างหุ้น SIRI เพิ่งซื้อเมื่อ 2 เดือนก่อน หลังไปซื้อบ้านในโครงการแสนสิริให้ลูก และเห็นว่าโครงการของเขาดีมาก พอกลับบ้าน ก็มานั่งหาข้อมูล ตอนนั้นราคาหุ้น 1 บาทกว่าๆ เอง
ผมโทรถามนักวิเคราะห์ เขาบอกว่าหุ้น SIRI มี “หนี้สินสูง” และเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมาก ก็เลยกลับมานั่งวิเคราะห์ไปมา พอเห็นราคาหุ้น SIRI วิ่ง เลยตัดสินใจซื้อตอนราคา 2 บาทกว่าๆ ผมเชื่อว่าราคาหุ้นน่าจะไปได้ถึงระดับ 4-5 บาท ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ยอมรับว่ากำลังดูๆ หุ้น กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เล็งมาตั้งแต่ราคาหุ้น 10 บาท เคยวิเคราะห์ธุรกิจเขามียอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ค่อนข้างมาก แถมแนวโน้มผลประกอบการน่าจะมีกำไรผมจะซื้อตั้งแต่ 10 บาท พอโทรไปหามาร์เก็ตติ้ง เขาดันบอกว่า “อย่าเลยราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาแล้ว” พอราคาหุ้น 20 บาท ก็จะซื้อโทรไปหามาร์เก็ตติ้งอีก เขาก็พูดเหมือนเดิม “อย่าเลย” ตอนนี้ราคาไปไกล 23 บาทแล้ว (หัวเราะ) ผมมองว่าราคาน่าจะไปได้ถึง 27-28 บาท
“หุ้นหลายตัวในพอร์ต ราคาทะยานไป 9-10 เท่าแล้ว”

“เซียนหุ้น” จบบทสนทนา ด้วยการพูดถึงกลยุทธ์การลงทุนว่า ผมจะดูภาพรวมของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆก่อนว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จากนั้นจะเข้าไปดูหุ้นรายตัว ด้วยการเจาะรายละเอียดต่างๆ อาทิ ผู้บริหารมืออาชีพหรือไม่ เป็นต้น ที่ผ่านมาผมติดตามการแถลงข่าวตลอดเวลา ดูงบการเงินว่ามีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเท่าไร รวมถึงพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของรายได้ และกำไรสุทธิ ผมจบบัญชีมาดูได้ทุกอย่าง

เขา ย้ำอย่างอารมณ์ดีว่า หุ้นทุกตัวในพอร์ตผมได้ต้นทุนคืนหมดแล้ว ส่วนที่เหลือปล่อยเป็นกำไร รอเงินปันผล ยอมรับมีบางตัวผิดพลาด “ขาดทุน” อาทิ หุ้น โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ตอนนั้นฟังมาร์เก็ตติ้งเขาทำนายว่าแนวโน้มค่าระวางเรือจะขึ้น แต่สุดท้ายมันไม่ไปไหน รวมถึงหุ้น อาร์ ซี แอล (RCL) แต่ตัวนี้ซื้อไว้นิดหน่อย ทำให้ “เจ็บตัว” แต่ไม่เยอะ

"เล่นหุ้นเราฟังเขาได้ แต่ต้องกลับมาวิเคราะห์เอง หาข้อมูลมาสนับสนุน ที่สำคัญต้องอ่านงบการเงินให้ขาด ต้องรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ และต้องพยายามติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ห้าม “ตื่นตูม” เมื่อราคาหุ้นร่วง จากประสบการณ์ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติในตลาดหุ้นแล้วราคาหุ้นแดงทั้งกระดาน ถ้าเป็นผมมีเงินสดอยู่ในมือจะทยอยเลือกหุ้นดีๆ รับรอง “กำไร” เหมือน “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่เขาทยอยขายทำกำไร กำเงินสด รอเวลาหุ้นตกค่อยเข้าไปซื้อเก็บ นี่คือ แนวทางลงทุนแบบวีไอ"

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่