เหลียวหลัง มองศก.ปีมังกร โตชัวร์ 5 % +

กระทู้สนทนา
วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม 2012 เวลา 10:40 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 - คอลัมน์ : วิเคราะห์


ปี 2555  ที่เพิ่งอำลาไป ต้องถือเป็นศักราชแห่งความหวัง ที่ทุกภาคส่วนอยากเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับสู่ปกติเร็วที่สุด หลังผ่านเหตุการณ์" มหาอุทกภัย " ช่วงปลายปี 2554 จนฉุดให้จีดีพีในไตรมาส 4 /2554 หดตัวถึง 8.9%  ดึงให้ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2554 โตชะลอเพียง 0.1 %

    การบริหารประเทศหรือปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ซึ่งนอกจากจะต้องดำเนินการตามพันธะสัญญาที่ประกาศไว้ช่วงหาเสียง ในโครงการประชานิยม ยังถือเป็นปีที่รัฐบาล หยิบใช้เครื่องมือทั้งมาตรการคลัง และนโยบายการเงิน เป็นกระสุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากสุดก็ว่าได้

*มาตรการคลัง –การเงินกระตุ้นศก.

    เพราะหลังเหตุอุทกภัย ไตรมาสสุดท้ายปี 2554 ต่อเนื่องไตรมาสแรกของปี 2555  รัฐได้คลอดมาตรการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับภาคธุรกิจ และประชาชน ,มาตรการภาษีเพื่อช่วยภาคธุรกิจที่ประสบอุทกภัย การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23%  ,มาตรการลดภาษีสำหรับการนำเข้า สั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อใช้ในโรงงาน , โครงการบ้านหลังแรกดอกเบี้ย 0% ,การให้หักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาทนาน 5 ปีสำหรับบ้านหลังแรก  , รถคันแรก , การตรึงและลดภาษีพลังงาน

    การเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ โดยผ่านพระราชกำหนดเงินกู้ (พ.ร.ก. ) การบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท (ปลายกุมภาพันธ์ 2555 ) ตามด้วยการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทในกทม.และปริมณฑลวันที่ 1 เมษายน 2555  และเงินเดือนข้าราชการ ฯลฯ

    เดินควบคู่   การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายการเงิน เป็นเครื่องมือเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง  ดังจะเห็นได้จากนัดแรกของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในต้นปี  ( 25 มกราคม 2555 )  ธปท.หั่นดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % จาก 3.25 % เหลือ 3.00% ต่อเนื่องจากการประชุมนัดสุดท้ายเมื่อปลายปี 2554 ที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงก่อนหน้าอยู่แล้ว 0.25 จาก 3.50% มาอยู่ระดับ 3.25%  หรือรวมลด 0.50% ในช่วงเวลา 2 เดือน ,  มาตรการเงินกู้ซอฟต์โลน 300,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3 % นาน 5 ปี เพื่อช่วยเอสเอ็มอีและประชาชนรายย่อย  ( วงเงินนี้เป็นของธปท. 210,000 ล้านบาท ที่ดอกเบี้ย 0.01%) ฯลฯ

      ผลจากมาตรการและโครงการประชานิยมนี้เอง ได้เติมเชื้อให้ภาคการบริโภค- การลงทุนเอกชน เร่งขยายตัวขึ้น  ผลักดันเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าคาด   เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีเติบโต 0.4 % เทียบไตรมาส 4 ปี 2554 ที่ติดลบถึง 8.9%   ก่อนจะสปีดพุ่งเป็น 4.4 % ในไตรมาส 2 ปี 2555  และส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกโตเฉลี่ย  2.2%

    สร้างความมั่นอกมั่นใจว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีจะพุ่งโลด   กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชูเป้าจีดีพีที่ 7 %  และเป้าส่งออกที่ 15 %  ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  ธปท. ประชุมครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555  ได้ปรับเป้าจีดีพีจาก 5.7% ขยับขึ้นเป็น 6% , สภาพัฒน์  ปรับจากตัวเลข 5.5 % มาสูงสุดที่ 6.5 % เทียบจากตอนต้นปีที่ทั้งภาครัฐและเอกชน  ประเมินว่าอย่างเก่งเศรษฐกิจปีมังกร ผงาดเต็มที่  ที่ 5%
*ศก.โลก-วิกฤติหนี้ยูโรฉุดส่งออก

    อย่างไรก็ดีให้หลังไม่ถึงเดือนดี  ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่พร้อมใจดาหน้ากันมารุมเร้า  ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ,เศรษฐกิจสหรัฐ ฯ คู่ค้าสำคัญของไทยส่วนแบ่งตลาด 10.7 % ของมูลค่าตลาดส่งออกรวม ,ปัญหาวิกฤติหนี้ยูโรโซนที่ลามถึงประเทศอิตาลี เยอรมนี    ,เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ในเอเชีย  จีน , อินเดีย  ชะลอตัว  ประกอบกับภาคการผลิตบางส่วนที่ยังไม่ฟื้นจากผลกระทบอุทกภัย

    ส่งผลให้ภาคส่งออกไทยถึงกับทรุด จากที่ทำท่าว่าจะไปโลดโดยขยายตัวสูงสุดถึง 9.1% เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ได้ปรับฮวบลงอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน ,กรกฎาคม ,สิงหาคม เป็น  -2.4 % , - 3.9% และ  -5.1 %  ตามลำดับ  จนฉุดให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวเพียง 3% เทียบไตรมาส 2 ที่ 4.2 % โดยที่ 9 เดือนแรก ( มกราคม-กันยายน 2555 ) เติบโตที่ 2.6%

    สำนักวิจัยเศรษฐกิจ หันกลับมาทบทวนทยอยปรับเป้าเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจปีมังกรจะเติบโตบวกลบเฉลี่ยที่ 5 %   , ธปท. ปรับเป้าจีดีพีปี 2555  จาก 6% มาอยู่ที่ 5.7%  ก่อนปรับเป้าปี 2556 ตามมา จาก 5% มาที่ 4.6 % เป้าส่งออกจากเดิมที่ 8.5% เหลือ 7 % ในการประชุมกนง.เมื่อเดือนกรกฎาคม  ก่อนจะทยอยปรับเป้าส่งออกลงอีก 2 ครั้งตามมา ล่าสุดประเมินที่ 4.4%

    ขุนคลัง"โต้ง"   ซึ่งยืนกรานเป้าส่งออกที่ 15 % มาตั้งแต่ต้น จึงต้องออกตัวยอมรับ  ในเวที "โรดแมปประเทศไทย " หลังได้รับเชิญมาปาฐกถา  เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ว่า......ได้เห็นสัญญาณชะลอตัวของภาคส่งออกมาตั้งแต่ต้นปี แต่จำเป็นต้องตั้งเป้าสูง  ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่น  ก่อนจะกล่าวประโยคว่า

    "หัวหน้าเศรษฐกิจ ได้รับอนุญาตให้พูดไม่จริงได้ในบางเรื่อง หรือในทางสากล เรียกว่า White lie"  จนกลายเป็นวาทกรรมแห่งปี และเจ้าของฉายา "  "ลูกไก่  White lie " ประจำปี 2555 ที่สื่อทำเนียบตั้งให้

     มาตรการคลังยังได้ปั๊มเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงท้ายของปี  โดยเฉพาะการเพิ่มเงินกระเป๋าผู้บริโภคและลดการใช้จ่ายครัวเรือน  ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุบ้านหลังแรก ที่ขยายไปถึงไตรมาสแรกปี 2556  การต่ออายุโครงกาถรถคันแรกออกไปจนถึงสิ้นปี 2555  ซึ่งกรมสรรพสามิต ประเมินล่าสุดคาดว่าจะมีประชาชนแห่ยื่นขอสิทธิ์คืนภาษีสูงสุด 100,000 บาท  ทะลุ 1.2 ล้านราย เป็นวงเงินขอคืน 73,000-75,000 ล้านบาท สูงจากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 500,000 ราย วงเงินขอคืนภาษีราว 30,000 ล้านราย

    ขณะที่ฟากนโยบายการเงินได้ตัดสินใจประกาศลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง 0.25% มาเป็น 2.75 %  ตามมติเสียงส่วนใหญ่ 5 ต่อ 2 เสียงในการประชุมกนง.ครั้งที่ 7  ( 17 ตุลาคม )  ลงเร็วกว่า  ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเป็นต้นปี 2556  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอก และเสริมมาตรการคลังโด๊ปเศรษฐกิจ

    กระนั้นก็ดีสัญญาณเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กลับมาพลิกฟื้นช่วงต้นไตรมาส 4 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอัดฉีดเงินสู่ระบบ ผ่านมาตราการ  QE3/4   ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อสินค้าของไทย กลับมากระเตื้องขึ้นในเดือนกันยายน - เดือนตุลาคม 2555 และมีแนวโน้มจะขยายตัวดีในช่วงไตรมาสที่ 4ของปี

     รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ระบุว่าประเมินจากดัชนีเศรษฐกิจเดือนตุลาคม และตัวเลขในรอบ 10 เดือน (มกราคม- ตุลาคม )เศรษฐกิจปี 2555 มีโอกาสขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5.5%  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 3% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 0.8% ของจีดีพี

    สอดคล้องกับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2555 ,ปี 2556 มีโอกาสที่จะขยายสูงถึง 5.8 % และ 4.7 % ตามลำดับ  เพิ่มขึ้น 0.1% จากเป้าจีดีพีโดยธปท.ปัจจุบันที่ 5.7 % และ 4.6% ตามลำดับ

*5 ปัจจัยหนุนศก.ปีมังกรโต5 อัพ

    สำหรับ5 ปัจจัยส่งท้ายที่หนุนการเติบโตเศรษฐกิจปี 2555 กล่าวคือ
    1. ส่งออก  ในเดือนตุลาคม โต 14.4% และต่อเนื่องเดือนพฤศจิกายน โตที่ 26.86 % เทียบจากไตรมาส 3 ที่ติดลบ 3% ส่งผลให้  รอบ 11 เดือนมูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว  2.32 % ,  
    2. การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเดือนตุลาคม ขยายเพิ่ม 9.2 % เทียบ 5.2% ในไตรมาส 3   และรวม 10 เดือนของปีโต 4.8 %
    3. ลงทุนภาคเอกชนเดือนตุลาคม 2555 ขยาย 16.4% เร่งขึ้นจากไตรมาส 3 ที่ 14.3%  รอบ 10 เดือนการลงทุน โตขึ้น 12.4%   ,
    4 .ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน  เพิ่มขึ้น 36%  เทียบจากไตรมาส 3 ที่หดตัว 10.2% ขณะที่ในรอบ 10 เดือน  เติบโต 3.6%   ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคมอยู่ที่ 64.5
    5. การท่องเที่ยวเดือนตุลาคม ขยายถึง 60.6% เทียบไตรมาส 3 ที่ 8.6 % และในรอบ 11 เดือน มีปริมาณนักท่องเที่ยวรวมแล้วกว่า 19.8 ล้านคน ขยายตัว 13.6 %

    ดังนั้นเมื่อมองภาพรวมเศรษฐกิจปีมังกร จึงไม่เกินเป้าหมายจากที่คาดเมื่อต้นปีที่  5 % และดูจากโบนัสปลายปีที่ค่ายเอกชนแจก ๆกัน  ถือว่าไม่ขี้เหร่นักเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจปีเถาะที่บอบช้ำอย่างหนักจากมหา อุทกภัย
    ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556   ปีงูเล็ก จะเฮง หรือจะเป็นมะเส็งเส็งเคร็ง
    "ฐานเศรษฐกิจ" ขอนำพรพระราชทาน  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส.ค.ส. 2556 ว่า " ปีมะเส็ง ปีงูจงรู้จริง อย่ารู้แค่งู ๆ ปลา ๆ แล้วจะสบายตลอดปี"  เพื่อเตือนสติกสารใช้ชีวิตครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,805
วันที่  30  ธันวาคม พ.ศ. 2555 - 2  มกราคม พ.ศ. 2555
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่