JJNY : คาดค้าปลีกปี’68 โตต่ำสุดรอบ4 ปี│น้ำมันปาล์มมาเลย์ ทะลัก│สัญญาณศก.ซบเซา ฉุดธุรกิจ รพ.│ทีดีอาร์ไอสะท้อนกองทุนประกัน

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดค้าปลีกปี’68 โตต่ำสุดรอบ4 ปี เหลือ 3 %
https://www.matichon.co.th/economy/news_5058558
  
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกร คาดค้าปลีกปี’68 โตต่ำสุดรอบ4 ปี เหลือ 3 %
 
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกไทย ว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 4.12 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.8% ซึ่งเป็นอัตราต่ำกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยคาดการณ์ไว้กว่า 4.0% โดยไตรมาส 4/2567 เพิ่มขึ้น 3.8% ต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย ผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า และผลของเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ได้รับความเสียหาย และผู้บริโภคอาจมีการใช้จ่ายอย่างประหยัด จึงทำให้ทั้งปี 2567 ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกเติบโต 3.8% สำหรับปี 2568 คาดยอดขายธุรกิจค้าปลีกโดยรวมจะขยายตัว 3.0% ชะลอลงจากปี 2567 และต่ำสุดในรอบ 4 ปี หรือ มีมูลค่าอยู่ที่ 4.25 ล้านล้านบาท จากหลายปัจจัยเสี่ยง การเติบโตของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีความไม่แน่นอน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก ( RSI) เดือนมกราคม 2568 ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 หลังจากขยับขึ้นไปเกินระดับ 50 ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลงจากช่วงปลายปีที่เป็นเทศกาลปีใหม่ รวมถึงการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอีกว่า ในปี 2568 ยังไม่มีปัจจัยหนุนที่ชัดเจนต่อยอดขายและความเชื่อมั่นของธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูง และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคยังต้องวางแผนใช้จ่ายอย่างรัดกุม รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องในฝั่งผู้ประกอบการ ทั้งกับคู่แข่งในประเทศและต่างประเทศผ่านสินค้านำเข้า ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt (E-Tax) หรือการแจกเงินเฟส 3 (Digital Wallet) ช่วยกระตุ้นยอดขายของค้าปลีกให้เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมไม่มาก ซึ่งมาตรการ Easy E-Receipt หนุนยอดขายบางส่วนให้กับค้าปลีกสมัยใหม่ แต่ภาพรวมน่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้น้อยกว่าปีก่อน โดยเฉพาะเงื่อนไขของการใช้จ่ายกลุ่ม 20,000 บาท ในหมวดสินค้า OTOP หรือผ่านร้านค้าวิสาหกิจชุมชน อาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงและเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ทั้งนี้ สินค้าที่จะได้รับอานิสงส์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาหารและของใช้ส่วนตัวที่เป็นสินค้าจำเป็น รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องมือสื่อสาร ที่ผู้บริโภคมีแผนที่จะซื้อ/เปลี่ยนรุ่นใหม่
 
ในรายงาน ระบุอีกว่า มาตรการแจกเงินเฟส 3 แม้จะช่วยหนุนยอดขายค้าปลีกช่วงปลายไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ แต่คาดว่า ผู้บริโภคน่าจะนำเงินดิจิทัลที่ได้จากภาครัฐมาใช้จ่ายซื้อสินค้าแทนเงินของตัวเอง จึงทำให้ในภาพรวมของยอดขายค้าปลีกอาจจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้จ่ายสินค้าเหล่านี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัว แต่ทั้งนี้ คงต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะความพร้อมของระบบการใช้งาน กรอบเวลาของโครงการว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขของมาตรการฯ ทั้งในแง่ของรายการสินค้าและร้านค้าที่เข้าร่วม
 
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายโมเดิลเทรดปี 2568 น่าจะโต 4.8% แต่รายได้ของผู้ประกอบการแต่ละ Segment จะฟื้นตัวต่างกัน ดังนี้ กลุ่มที่ดีขึ้นกว่าช่วงโควิด คือ ร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ส่วนกลุ่มที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด คือ ร้านขายปลีกเสื้อผ้า/รองเท้า ร้านขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ และห้างสรรพสินค้า เนื่องจากจำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถเลื่อนการตัดสินใจซื้อไปก่อนได้
 


น้ำมันปาล์ม มาเลย์ ทะลักตีตลาด หลังราคาในไทยพุ่ง แพงกว่าลิตรละ 10 บาท
https://www.matichon.co.th/economy/news_5059313

น้ำมันปาล์ม มาเลย์ ทะลักตีตลาด หลังราคาในไทยพุ่ง แพงกว่าลิตรละ 10 บาท
 
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อรายงานจากจ.สงขลา ว่าราคาน้ำมันปาล์มของไทย ขนาดขวดลิตร ราคาขวดละ 68-70 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก พ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องใช้น้ำมันในการค้าขายจำพวกทอด ที่ต้องใช้น้ำมันวันละกว่า 10 กก. ทำให้เพิ่มต้นทุน และกำไรลดลง ทำให้พ่อค้าแม่ค้า หาทางออกด้วยการลดต้นทุน หันมาใช้น้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย แทนน้ำมันปาล์มของไทย
 
โดยราคาน้ำมันปาล์มมาเลเซีย ขนาด 1 กิโลกรัม 1 ลังมี 12 กก. ราคา อยู่ที่ 670 – 680 บาท เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ ประมาณ 57 บาท ซึ่งถูกกว่าน้ำมันปาล์มของไทย ประมาณลิตร 10 กว่าบาท
 
จากการนำมาใช้ทอดก็มีคุณภาพใกล้เคียงกัน เหมือนน้ำมันปาล์มไทยเกรดเดียวกัน ทำให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถลดต้นทุนลงได้ ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ และยังพอมีกำไรอยู่บ้าง อีกทั้งจะต้องขายสินค้าในราคาปกติ ให้กับลูกค้า ในช่วงที่น้ำมันปาล์มแพง ซึ่งลูกค้าทุกคน ต่างก็เข้าใจ และเห็นใจแม่ค้า เช่นเดียวกัน
 
จากการพูดคุยกับแม่ค้าพ่อค้า ที่ต้องใช้น้ำมันในการทอดในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณภาพน้ำมันปาล์มมาเลเซียใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์มไทย แต่ราคาถูกกว่ามาก อย่างเช่น ร้านข้าวเหนียวหมูทอด ห่อใบตอง บริเวณ ปากทางเข้าตลาดทรัพย์สิน พลาซ่า ตรงข้ามไปรษณีย์สงขลา ที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มในการทอดหมูและไก่ทอด / กล้วยทอด กระทะใบบัว 2 ใบ หน้าวัดสระเกศ ตรงข้างโรงเรียนวรนารีเฉลิมสงขลา ที่ใช้น้ำมันในการทอด ทั้ง 2 กระทะ เป็นจำนวนมาก
 
ร้านกล้วยทอดหม้ออลูมิเนียม ของป้าอร ร้านดังเมืองสงขลา ปากทางเข้าสวนสัตว์ ที่หันมาใช้น้ำมันปาล์มมาเลเซีย แทนน้ำมันปาล์มไทย หลังน้ำมันปาล์มไทยมีราคาแพงขึ้นเท่าตัว เพื่อลดต้นทุน ลงมา เนื่องจาก ยังคงขายราคาเดิม ไม่มีการปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด
 
รายงานว่าร้านข้าวเหนียวไก่ทอด น้องส้มโอ ร้านดังเมืองสงขลา ที่ขายไก่ทอด ราคาถูกที่สุด บริเวณปากซอย 9 วชิรา ถนนทะเลหลวง ก็ได้หันมาใช้ น้ำมันปาล์ม มาเลเซีย แทนน้ำมันปาล์มไทย แล้วเช่นเดียวกัน เพื่อความอยู่รอด เนื่องจาก ข้าวเหนียวไก่ ทอด ยังขายราคาเดิมอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาน้ำมันจะแพงก็ตาม แต่ในครั้งนี้ สู้ไม่ไหว เพราะน้ำมันปาล์มไทย ราคาแพงขึ้นมาเท่าตัว จึงจำเป็นต้องลดต้นทุนลงมา และหันมาใช้ น้ำมันปาล์มจากมาเลเซียแทน เนื่องจากราคาถูกกว่ามาก ทำให้ยังพอมีกำไรอยู่บ้าง แม้ไม่มากแต่ก็สามารถช่วยลดต้นทุนลงมาได้
 
ราคาน้ำมันปาล์มของไทย ยังไม่มีการแก้ไข ให้ราคาลดลงมา เหมือนเดิม ก็จะส่งผลกระทบ กับร้านค้า ที่สั่งน้ำมันปาล์มของไทยมาขายจะขายไม่ได้ จะไม่มีประชาชนเข้าไปซื้อ เนื่องจากมีราคาแพง อีกทั้งประชาชน ในจังหวัดสงขลา มีตัวเลือกจะหันมาใช้น้ำมันปาล์มของมาเลเซีย ที่มีราคาถูกกว่าแทน น้ำมันปาล์มของไทยเพราะมีคุณภาพใกล้เคียงกัน เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงอยากขอให้ รัฐบาลเข้ามาดูแล ในเรื่องนี้



ผอ.รพ.ดัง เผยสัญญาณเศรษฐกิจซบเซา ฉุดธุรกิจโรงพยาบาล 2เดือนแรกซึม รายได้ไม่ตามเป้า
https://www.matichon.co.th/economy/news_5058354
 
รับเศรษฐกิจซบฉุด ธุรกิจโรงพยาบาล 2 เดือนแรกของปีนี้ซึม “วิมุต-เทพธารินทร์“ลุ้นรายได้เข้าเป้า ยังเดินหน้าลงทุน 330 ล้านสร้างอาคารใหม่

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เห็นสัญญาณชัดเจนในภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซา โดยโรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ ไม่สามารถทำรายได้ได้ตามเป้าหมาย ด้วยจำนวนคนไข้ที่มาลดลง และบางรายชะลอการผ่าตัดออกไปก่อน ดังนั้นจะต้องดูช่วงเวลาที่เหลือของปี โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ว่าเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันยังตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 9% ในปีนี้
 
สำหรับผลประกอบการของโรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ในปี 2567 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยรายได้ 988.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.83% จากปี 2566 มาจากการขยายฐานลูกค้าทั้งผู้ป่วยทั่วไป บริษัทประกันและการรักษาเคสฉุกเฉิน พร้อมกับการพัฒนาแพคเกจฉีดวัคซีน และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างครอบคลุม 
 
แผนลงทุนของโรงพยาบาลยังเดินหน้าต่อเนื่อง ในการลงทุน 330 ล้านบาทสร้างอาคารใหม่ เริ่มก่อสร้างปีนี้ และจะเสร็จในปลายปี 2569 เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยอีก 53 เตียง จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 80 เตียง และจะเน้นการรักษาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง รวมทั้งเป็นศูนย์ผู้สูงวัย และรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน“ นายแพทย์สมเกียรติกล่าว
 
พร้อมกันนี้ในปีที่แล้วได้ลงทุนสร้างศูนย์จีไอ เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ประมาณ 35 ล้านบาท และเพิ่มการผ่าตัดศูนย์พลาสติก ประมาณ 40 ล้านบาท รวมทั้งปรับปรุงอาคารเดิม ภายใต้นโยบายมุ่งขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจสุขภาพด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกวัย โดยเฉพาะในช่วงเวลาท้าทายเช่นนี้ หลังจากที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และจะมีประชากรอายุเกิน 65 ปีเพิ่มขึ้นถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า
 
และในปีนี้การฉลองครบรอบ 40 ปีภายใต้แนวคิด ‘The Heart of Giving, The Gift of Caring’ จึงต้องการยกระดับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งการรักษา การป้องกัน และการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่สามารถสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันได้อย่างตรงจุดอย่างกลุ่มโรค NCDs
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่