ถ้า 'คนรุ่นเก่า' นิยมกด 'Like’ กับทุกสิ่งทุกอย่างจนไม่มีความหมาย แล้ว ‘Like’ ของคนรุ่นใหม่ มันหมายความว่าอย่างไร?
ในชีวิตนี้เรากด ‘Like’ กันมากี่ครั้งแล้ว? แน่นอนคนจำนวนมากที่เล่นโซเชียลมีเดียตอบยาก เพราะเดือนๆ หนึ่งก็น่าจะกด Like แบบนับไม่หวาดไม่ไหวแล้ว การกด Like ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนบนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, YouTube และ Instagram และแน่นอน เรารู้ว่า Facebook เป็นผู้เริ่มฟีเจอร์นี้ในปี 2009 ก่อนจะระบาดมาใน YouTube ในปี 2010 และ Instagram ที่เปิดมาในปี 2010 ก็เรียกว่าเป็นโซเชียลมีเดียแรกที่มีปุ่ม Like ติดมาโดยกำเนิด และหลังจากนั้นก็เรียกว่าน่าจะไม่มีโซเชียลมีเดียใดที่เกิดมาโดยไม่มีปุ่มนี้หรือปุ่มที่มีหน้าที่แบบเดียวกันออกมาอีก
แน่นอน สำหรับคนจำนวนมาก การกด Like เป็นการแสดงมิตรไมตรีที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ได้ต่างจากการยิ้มให้คนโน้นคนนี้ของคนอัธยาศัยดีสักคน ที่ความหมายมันก็อาจเป็น 'รับรู้' 'เห็นด้วย' 'ยินดีด้วย' 'มันเยี่ยมไปเลย' ได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจง แค่รับรู้ถึงการส่งพลังบวกให้กันเป็นพอ
อย่างไรก็ดี ถ้าหลายคนเคยสังเกต เราจะพบว่าคนรุ่นใหม่ๆ เริ่มมีพฤติกรรมกด Like น้อยลง ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้แค่เกิดในไทย แต่พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่เกิดหลังปี 2000 หรือ Gen Z แทบทั้งหมดล้วนมีพฤติกรรมกด Like ที่ต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบเงียบๆ นานๆ จะมีกระแสเกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ก็มักจะไม่นำไปสู่การทำความเข้าใจอะไรทั้งนั้น
อย่างไรก็ดี ล่าสุดต้นปี 2024 ตำนานผู้รักษาประตูทีมชาติสเปนวัย 40 เศษอย่างอิเกร์ กาซิยัส (Iker Casillas) นั้นก็ตกเป็นข่าวในโลกภาษาสเปนด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่มีชาวเน็ตตั้งคำถามว่า ทำไมเขาถึงกด Like อะไรไปทั่วอินเทอร์เน็ตเลย โดยชนวนมันเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่ตำนานนักฟุตบอลคนนี้ไปกด Like โพสต์ของนักการเมืองสเปนทั้งฝั่งซ้ายและขวา ทำให้ 'คนรุ่นใหม่' งุนงงในพฤติกรรม และเริ่มไปขุดและยิ่งประหลาดใจที่เห็นว่าเขากดไลก์ให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง
และแน่นอน ความประหลาดใจของคนรุ่นใหม่ก็ทำให้คนรุ่นเก่าประหลาดใจเช่นกันว่ามันแปลกตรงไหนกัน? เพราะคนรุ่นเก่าๆ ทุกคนถ้าไม่มีพฤติกรรมแบบนั้นเอง ก็ย่อมรู้จักคนที่มีพฤติกรรม 'กด Like ไปทั่ว' มากมายนับไม่ถ้วน และก็ไม่มีใครมาสนใจตั้งแง่ว่าสิ่งที่ไปกด Like มันขัดแย้งกันหรือไม่อย่างไร
และนี่เองทำให้สื่อภาษาสเปนอย่าง El Pais ไปไล่ถามคนรุ่นใหม่กันจริงจังว่า เออ พฤติกรรมกด Like ไปทั่วแบบคนรุ่นเก่านั้นมันแปลกยังไง? และเอาเข้าจริงคนรุ่นใหม่เขากด Like ให้กับอะไรกันบ้าง?
คำตอบที่ได้รับเป็นคำตอบที่ดีเลย โดยเราอยากจะสรุปคำอธิบายตรรกะของการกด Like ของคนรุ่นใหม่ให้ฟังคร่าวๆ ดังนี้
พื้นฐานคือ คนรุ่นใหม่จะไม่กด Like ง่ายๆ คือจะไม่กดไปทั่วแบบไม่คิดอะไร หรือโดยคิดว่าเป็นการส่งพลังบวกแบบกว้างๆ เหมือนคนรุ่นเก่า และเวลาจะกด Like ให้กับอะไรสักอย่าง มันจะต้องสื่อถึงความหมายบางอย่างเสมอ ทั้งนี้ต้องอ่านให้ถูกกับบริบท
เช่นการกดไลก์โพสต์ของคนรุ่นใหม่ ไม่ได้เป็นการส่งพลังบวกให้กับโพสต์ของเพื่อนๆ ที่ส่งได้เรื่อยๆ วันหนึ่งเป็นสิบๆ ครั้งแบบคนรุ่นเก่า แต่การกด Like ของคนรุ่นใหม่ความหมายคือพวกเขาต้องชอบสิ่งที่กดไลก์จริงๆ และถ้าไปถามคนรุ่นใหม่เขาอาจตอบได้ด้วยซ้ำว่าชีวิตนี้เขากดไลก์มากี่ครั้งแล้ว เพราะเขาจะไม่กดบ่อยๆ แบบคนรุ่นเก่า
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ 'จริงจัง' กับการกด Like มาก และมันเป็นพื้นฐานว่าทำไมสำหรับคนรุ่นใหม่การไปกด Like สตอรี่ จึงถูกมองว่าเป็นการเกี้ยวพาราสีหรือถูกมองว่าเป็นการแสดงความสนใจแบบชู้สาวทันที มันไม่ได้ถูกมองแบบคนรุ่นเก่าที่การไปไลก์โพสต์หรือสตอรี่ของใครความหมายมัน 'กลาง' กว่ามาก ซึ่งเป็นได้ทั้ง รับรู้ เห็นด้วย ยินดีด้วย หรือชื่นชอบแบบไม่ใช่ในเชิงชู้สาวก็ได้ และโดยทั่วไปคนรุ่นเก่าๆ ก็ไม่มีใครคิดมากกับการที่มีคนมากด Like อะไร เว้นแต่จะเป็นการโผล่มากด Like ทุกโพสต์ ทุกภาพ แบบนั้นคนไม่คิดอะไรก็ดูจะ 'ซื่อ' จนเกินไป
การสงวนการกด Like ของคนรุ่นใหม่แบบไม่กดพร่ำเพรื่อทำให้มันมี 'ความหมาย' มากขึ้น ทั้งในแง่ดีและลบ เช่นการกดไลก์คอมเมนต์ที่เป็นการโต้แย้งคนคนหนึ่งนั้นไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่จะเห็นด้วยกับเนื้อหาในคอมเมนต์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการ 'ประกาศสงคราม' กับคนที่คอมเมนต์โต้แย้งเลย เช่น ถ้านาย A โพสต์ นาย B มาแย้ง คนรุ่นเก่าอาจไปกด Like ทั้งนาย A นาย B ก็ได้ เพื่อรักษามิตรภาพทั้งคู่ แต่คนรุ่นใหม่จะไม่ทำแบบนั้น ถ้าเขาจะแสดงออก เขาจะกดไลก์แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เขาเห็นด้วยเท่านั้น และนั่นคือการประกาศสงครามกับอีกฝ่าย ถึงแม้เขาจะไม่ได้คิดแบบนั้น คนรุ่นเดียวกับเขาก็จะตีความแบบนั้นอยู่ดี
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังบอกอีกว่า เวลามีการสนทนากันผ่านข้อความ การกด Like ข้อความมันมองว่าเป็นการ 'ตัดบท' ที่ค่อนข้างจะไม่สุภาพ เปรียบเหมือนยืนคุยกันอยู่แล้วตอบรับด้วยการยิ้มให้ แล้วก็หันไปคุยกับคนอื่น
แน่นอนประเด็นทั้งหมดนี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่ามันชวนสับสนมาก และพยายามจะสถาปนาความหมายของการ Like ให้ถูกต้องและเข้าใจตรงกัน แต่ความเป็นจริงในสเกลประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ความหมายที่เราคุ้นเคยและไม่คุ้นเคยนี้อาจเป็นสิ่งที่เกิดมาและดับไปชั่วอึดใจเท่านั้น เพราะเครื่องหมายอายุเพียง 15 ปีนี้ แค่คนเกิดห่างกันไม่กี่ปีก็ใช้ในความหมายที่ไม่ตรงกันแล้ว และเราก็ไม่สามารถไปกด Like คน 'รุ่นลูก' เราและให้เขาเข้าใจความหมายของเราได้ด้วย
แต่ก็นั่นเอง นี่ไม่ใช่ 'ถ้อยคำ' แรกที่มนุษย์ที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันเข้าใจไม่ตรงกัน และก็คงไม่ใช่อย่างสุดท้ายด้วย และเรื่องราวทั้งหมดนี้ก็อาจทำให้เราต้องคิดดีๆ ว่ามันอาจไม่ใช่แค่การกด Like ที่คนต่างรุ่นตีความไม่ตรงกัน อ่านเจตนาระหว่างบรรทัดไม่เหมือนกัน มันน่าจะมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ยังไม่ถูกยกมาคุย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดถ้าเราต้องการจะสื่อสารอย่างเที่ยงตรง เราก็อาจต้องใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนตรงไปตรงมาและแสดงความจริงใจว่ามันไม่ได้มีความหมายระหว่างบรรทัดอะไรให้ถอดรหัส และเราก็คงทำได้เต็มที่แค่นี้ในยุคที่ความหมายของสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปรวดเร็วกว่าที่เราจะตระหนักได้ด้วยซ้ำ
ที่มา : BrandThink
ถ้า 'คนรุ่นเก่า' นิยมกด 'Like’ กับทุกสิ่งทุกอย่างจนไม่มีความหมาย แล้ว ‘Like’ ของคนรุ่นใหม่ มันหมายความว่าอย่างไร?