โรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่ (โลกเปลี่ยน…เด็กๆ เปลี่ยน…โรงเรียนปรับตัว…พ่อแม่ปรับหรือยัง???)

สวัสดีค่ะ คุณแม่ขอใช้พื้นที่นี้ในการแลกเปลี่ยนแนวคิด เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่ รวมถึงการศึกษาในประเทศไทย แต่อาจจะพูดถึงโรงเรียนนี้เยอะหน่อยเพราะมาจากประสบการณ์ตรงของแม่ แต่จริงๆ แล้วทุกคนสามารถอ่านได้แม้จะไม่ใช่ผู้ปกครองต้นกล้านะคะ กระทู้นี้แม่ตั้งใจเขียนมากๆ ซึ่งตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่าควรจะเขียนดีไหม แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ท่านค่ะ
.........................................................
 
โลกเปลี่ยน…เด็กๆ เปลี่ยน…โรงเรียนปรับตัว…พ่อแม่ปรับหรือยัง?

คุณแม่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนต้นกล้า มีลูก 2 คน ที่กำลังเรียนอยู่ และมีหลานอีก 2 คน ที่ตอนนี้เรียนอยู่ต้นกล้าคนนึง และจบออกไปแล้วคนนึงค่ะ ที่มาของกระทู้นี้คือแม่เขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีลูกหลานเรียนอยู่ที่นี่ และจากความรู้ที่พอจะมีจากการเรียนจบทางด้านการศึกษา รวมถึงข้อมูลที่ได้รับมาจากโรงเรียน และบางส่วนก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของแม่เองนะคะ 

ก่อนอื่นแม่ขอแยกแยะมุมมองของแต่ละคนที่มีต่อโรงเรียนต้นกล้าจากข้อมูลที่แม่ได้รับมาด้วยตนเองทั้งหมดนะคะ

โรงเรียนต้นกล้าในมุมมองของบุคคลทั่วไป คือ โรงเรียนที่เด่นด้านความสุขของนักเรียน เน้นการเล่น ไม่เน้นวิชาการ (ผิดถูกอย่างไร ขอให้ตามอ่านให้จบแล้วค่อยพิจารณาดูนะคะ) แม่เคยได้ยินผู้ปกครองท่านหนึ่งพูดว่า โรงเรียนนี้ดีเฉพาะระดับอนุบาล แต่พอขึ้นประถมแล้วต้องย้าย ไม่งั้นจะเรียนไม่ทันเด็กโรงเรียนอื่น แม่ฟังแล้วรู้สึกว่าแม่ต้องเขียนกระทู้นี้ เพราะอะไรเดี๋ยวแม่จะอธิบายต่อไปนะคะ

ส่วนโรงเรียนต้นกล้าในมุมมองของนักวิชาการด้านการศึกษา คือ โรงเรียนที่จัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศไทย และเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ (ตรงนี้แม่เอาข้อมูลมาจากไหน อยากให้ลองตามอ่านกันต่อนะคะ)

เมื่อแม่ได้รู้แบบนี้แล้วก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า … ทำไม “พระเอก” ในสายตาของนักการศึกษา จึงกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาผู้ปกครองบางคนไปได้ แม่คิดอยู่นาน…จนได้คำตอบมากมาย และขอสรุปมาให้อ่านดังนี้ค่ะ

ระบบการศึกษาของไทย (และประเทศอื่นๆ) ที่มีมาอย่างยาวนาน เราเน้นผลลัพท์เป็นสำคัญ หมายถึง การวัดผลด้วยเกรด คะแนนสอบ การจัดอันดับ ซึ่งเป็นวิธีการวัดผลที่ง่ายที่สุด และเหมาะกับยุคที่เราเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เราใช้วิธีวัดคุณภาพของนักเรียนที่จบออกจากโรงเรียนด้วยวิธีเดียวกันกับการตรวจสอบผลผลิตที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อโลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสังคมดิจิตอล มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมากมายจนแทบตามไม่ทัน …เมื่อก่อนเราเคยเห็นข่าวเด็กฆ่าตัวตายเพราะสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด แต่เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในยุคนี้ เพราะเด็กสมัยนี้มีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น

พ่อแม่หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินเรื่องทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เด็กๆ จำเป็นต้องมีกันบ้างแล้ว ซึ่งการเรียนและการวัดผลแบบเดิมๆ นั้นอาจใช้ไม่ได้ผลแล้วกับยุคปัจจุบัน …แต่ทำไมเรายังใช้กันอยู่

อันที่จริงเรื่องของระบบการศึกษาที่ล้มเหลวนี้ไม่ใช่เรื่องเก่าเลย เป็นเรื่องที่เรา(ทั้งโลก)พูดถึงกันมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีแล้ว (ตั้งแต่สมัยที่แม่เรียนปริญญาตรีอยู่คณะศึกษาศาสตร์) หลายๆ คนสิ้นหวังกับระบบการศึกษาที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางพัฒนาได้ แม้แต่เด็กนักเรียนเองในยุคนี้ที่บางคนก็ยังรู้สึกว่าการศึกษาในโรงเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขา เราได้ยินคนด่ากระทรวงศึกษาธิการกันจนเบื่อแล้ว…

แต่ทำไมปัญหานี้ถึงยังไม่ดีขึ้นสักที แล้วคนที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้จริงๆ แล้วคือใคร… ในมุมมองของแม่คิดว่า มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากๆ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ไม่ใช่เป็นหน้าที่แค่ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือโรงเรียน แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนรวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย 

แม้ในยุคหลังๆ เราจะเริ่มเห็นว่าโรงเรียนทั้งรัฐบาลและเอกชน ได้เริ่มปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมยุคใหม่กันบ้างแล้ว มีการยกเลิกการบังคับนักเรียนตัดผมทรงลานบิน นักเรียนชายสามารถไว้ผมยาวได้ตามเหมาะสม บางโรงเรียนไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนในบางวัน มีการให้สิทธิเสรีภาพกับนักเรียนมากขึ้น การลงโทษด้วยการตีเป็นเรื่องที่ครูไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพจคุณหมอเด็กต่างๆ ได้เขียนถึงเรื่องการไม่เร่งเรียนในวัยอนุบาลให้ผู้ปกครองอ่านกันอยู่บ่อยๆ
 
แล้วโรงเรียนต้นกล้าเป็นแบบไหน… 
ถ้าพูดถึงเฉพาะในประเทศไทย แม่ขอให้นิยามว่า…”โรงเรียนที่มาก่อนกาล” ความจริงแล้วยังมีบางโรงเรียนที่คล้ายๆ กัน ซึ่งในยุคหนึ่งถูกเรียกว่าโรงเรียนทางเลือกหรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เหมือนกันของโรงเรียนเหล่านี้คือเป็นโรงเรียนที่ไม่เชื่อในระบบการศึกษาแบบเดิมๆ

ในเรื่องที่โรงเรียนอื่นๆ เริ่มปรับตัวตามที่แม่เขียนไปแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้อิสระกับเด็กในด้านต่างๆ ส่วนตัวแม่ได้เห็นว่าโรงเรียนต้นกล้าทำมานานแล้ว แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับ “แก่น” หรือแนวทางการจัดการเรียนรู้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่โรงเรียนทำมาตลอด

แม่เริ่มรู้จักโรงเรียนนี้ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว เมื่อหลานคนโตของแม่ได้เข้าเรียนที่นี่ และแม่ได้รู้จักกับคุณครูที่โรงเรียน ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ แม่เห็นอะไรหลายอย่างในโรงเรียน ทั้งสิ่งที่โรงเรียนพยายามสื่อสาร และผลลัพท์ที่เกิดขึ้นกับหลานๆ และลูกๆ ของแม่เอง

แม่ได้รู้ว่าโรงเรียนได้รับคำชื่นชมมากมายจากนักการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร และฟินแลนด์ที่เรียกได้ว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ถ้าติดตามข่าวสารของโรงเรียนก็คงจะเคยเห็นกันอยู่บัาง และมีโรงเรียนหลายๆ แห่งจากทั่วประเทศได้มาศึกษาดูงานที่โรงเรียนต้นกล้าเพื่อนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ …บางโรงเรียนเป็นโรงเรียนชื่อดังระดับต้นๆ … ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น …โรงเรียนต้นกล้าพิเศษอย่างไร

แม่คิดว่าด้วยแนวทางของโรงเรียนที่ไม่ได้เน้น “ผลลัพท์” เป็นสำคัญ(เหมือนกับโรงเรียนทั่วไป) แต่ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการเรียนรู้”

แม่เคยเห็นป้ายที่โรงเรียนเขียนไว้เด่นชัดเลยว่า “Trust The Process” ที่จริงข้อความนี้ได้บอกทุกอย่างไว้หมดแล้ว แต่น่าเสียดายที่หลายๆ คนอาจยังไม่เข้าใจความหมายได้อย่างถ่องแท้…แม่จึงขอสรุปคร่าวๆ ตามความเข้าใจของแม่นะคะ 

แม่ได้เห็นว่าโรงเรียนมักจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม Project Base Learning ซึ่งแทนที่เด็กจะนั่งรอรับความรู้จากคุณครูที่สอนอยู่หน้าห้องเรียน แต่เด็กจะเป็นผู้ค้นหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ของตัวเอง ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน เป็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะความคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน และการประยุกต์ใช้ความรู้ ส่วนการประเมินผลก็จะโฟกัสที่วิธีการทำงานของเด็ก ไม่ได้โฟกัสที่คำตอบ การสอบก็ไม่ใช่สอบเพื่อให้ผ่าน หรือให้ได้อันดับดี แต่สอบเพื่อประเมินความก้าวหน้าในเด็กแต่ละคน 

การเรียนแบบนี้ก็เพื่อให้เด็กได้พัฒนาทักษะในการเรียนรู้หรือความสามารถในการหาความรู้ด้วยตัวเอง เพราะการรอรับความรู้จากครูนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปในโลกปัจจุบันที่มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง สร้าง self esteem ซึ่งเกิดจากการได้ลงมือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยตนเองจนสำเร็จ เด็กมีความกล้าคิดกล้าแสดงออกและเป็นตัวของตัวเองสูงมาก (หากใครมีลูกหลานเรียนอยู่ที่นี่จะคุ้นเคยกับภาพเหล่านี้เป็นอย่างดี)

ซึ่งต่างจากการเรียนแบบเดิมๆ ที่เด็กมีหน้าที่เพียงรอรับความรู้จากครูที่มาป้อนให้ และสอบให้ได้คะแนนสูงๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งการสอบผ่านหรือได้คะแนนสูงนั้นเกิดจากการติว การเรียนพิเศษ หรือการอัดท่องจำความรู้เพื่อไปสอบ โดยไม่ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ใดๆ เลย …มีเพียงความสามารถในการทำข้อสอบเท่านั้น และเรานำสิ่งนี้มาเป็นมาตรวัดความสำเร็จของเด็ก แทนการประเมินผลอย่างรอบด้าน 

เด็กแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน หากเราใช้วิธีการวัดผลแบบเดิมๆ ถ้าลูกของเราเป็นเด็กที่สอบเก่งก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าลูกของเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นล่ะ ถ้าเขามีความถนัดด้านอื่นที่เราควรส่งเสริมล่ะ เรายังจะเอาอันดับผลสอบในวิชาที่ลูกเราไม่ถนัดมาตัดสินว่าเขาไม่ได้เรื่องหรือ ส่วนเด็กที่สอบเก่งนั้น เขาก็ต้องรู้ด้วยว่าตัวเองมีความสนใจและถนัดด้านไหน เพราะถ้าเด็กสอบเก่งแต่ไม่รู้เป้าหมายในชีวิต รู้เพียงแค่ต้องสอบให้ได้คะแนนดี ก็ไม่มีประโยชน์ การที่เด็กได้ทดลองลงมือทำหลายๆอย่าง มากกว่าการอ่านหนังสือสอบ จะทำให้เขารู้จักตัวเองและค้นหาตัวเองเจอ

เราอาจโตมาในยุคที่เราเชื่อว่าเด็กที่สอบได้คะแนนดีคือเด็กเก่ง เรามีค่านิยมว่าโรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนที่เด็กสอบได้คะแนนสูงๆ … ส่วนตัวแม่คิดว่าการตัดสินแบบนี้เป็นการตีกรอบที่แคบเกินไป …เป็นความจริงที่น่าเศร้าที่โรงเรียนอีกหลายแห่ง และผู้ปกครองหลายๆ ท่านยังคงหลงทาง และติดอยู่กับชุดความคิดที่ล้าหลังนี้

ทำไมเราจึงต้อง “Trust The Process” และทำไมถึงยากที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อและค่านิยมแบบเดิมๆ … เพราะผลของการจัดการศึกษาตามแนวทางใหม่นี้…จะให้ผลที่ดีกว่า แต่ต้องใช้เวลา… และคำตอบที่อธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุดก็คือกราฟนี้ค่ะ 
  
พัฒนาการของเด็กตามแนวทางนี้ จะเติบโตแบบ Exponential ถ้าเราดูจากกราฟก็จะเห็นว่าในช่วงแรกๆ นั้น จะค่อยๆ เติบโตหรือแทบจะไม่เติบโตเลย (จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้ผู้ปกครองหลายๆ คนเริ่มไม่เชื่อมั่น) แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เด็กๆ ได้สั่งสมทักษะทุกอย่างจนพร้อมแล้ว กราฟจึงจะเริ่มวิ่งขึ้นและยิ่งนานวันก็ยิ่งเติบโตสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

การเรียนแบบนี้แม้จะยังไม่เห็นผลในระยะแรก แต่ให้ผลที่ดีกว่าในระยะยาว เพราะเด็กจะไปได้ไกลกว่าและพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง 

 แม้ในวันที่เขาเรียนจบแล้วก็จะยังพัฒนาต่อไป ไม่เอาความรู้คืนคุณครูหรือหยุดตัวเองไว้แค่กับใบปริญญาที่ได้รับมา อย่างที่เราได้เห็นกันจากผลของการศึกษาแบบเดิมๆ ที่มักเป็นไปตามกราฟด้านล่างนี้ ซึ่งเติบโตเร็วในช่วงแรกแต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะหยุดการเติบโตไว้เพียงเท่านั้น
  
ในเมื่อเราอยู่ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว … มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ความรู้ที่เด็กเรียนในวันนี้ อาจจะใช้ไม่ได้แล้วในอนาคตข้างหน้า ความสามารถในการหาความรู้ใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและการจัดการศึกษาแบบนี้จึงมีความสำคัญ

แต่ในเมื่อผลลัพท์จะปรากฏก็ต่อเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น จึงเป็นการยากที่จะทำให้ผู้ปกครองเข้าใจและรอคอยวันนั้นได้ ซึ่งแม่เข้าใจเป็นอย่างดี เพราะช่วงหนึ่งแม่ก็เคยเป็นเหมือนกัน เมื่อลูกชายที่อยู่ K1 ยังไม่มีทีท่าว่าจะพูดภาษาอังกฤษได้เลย ทั้งๆ ที่เรียนกับครูต่างชาติทุกวัน แม่ได้พูดคุยสอบถามกับคุณครู ก็ได้คำตอบว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการ input ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรโฟกัสจึงไม่ใช่การเค้นให้เด็กพูด แต่เป็นการทำให้เด็กเปิดใจรับให้มากที่สุด ซึ่งวิธีการที่โรงเรียนใช้ก็คือการสอนแบบธรรมชาติ เหมือนเรียนรู้ภาษาจากแม่ และสอดแทรกเข้าใปในการเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก และเมื่อถึงเวลาที่เด็กพร้อมเขาจะพูดออกมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งต่างจากการเรียนแบบท่องจำแล้วนำมาพูดที่อาจเห็นผลเร็วกว่าแต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ซึ่งก็เป็นไปตามที่ครูได้บอกเพราะเมื่อลูกแม่เริ่มโตขึ้น อยู่ๆ เขาก็พ่นภาษาอังกฤษออกมาให้ได้ยินมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคำศัพท์และสำเนียงที่เหมือนกับเจ้าของภาษา โดยที่ทางบ้านไม่ได้ติวหรือสอนเพิ่มเลย 

ขอยกตัวอย่างอีกเคสของหลานแม่เอง ที่ตอนนี้เรียนจบจากโรงเรียนต้นกล้าแล้ว ... (อ่านต่อได้ใน ความคิดเห็นที่ 1 นะคะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่