เปิดยิ่งใหญ่ มหกรรมอัตลักษณ์วัฒนธรรมชายแดนใต้ "เทศกาลเสน่ห์วัฒนธรรม SENI Cultural Festival" ดึง Soft Power แดนใต้


เปิดยิ่งใหญ่ มหกรรมอัตลักษณ์วัฒนธรรมชายแดนใต้ "เทศกาลเสน่ห์วัฒนธรรม SENI Cultural Festival" กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย 5 จังหวัด รวมพลัง ดึง Soft Power แดนใต้ กระตุ้นเศรษฐกิจ - โชว์อัตลักษณ์ - มรดกภูมิปัญญา – อาหารถิ่น การแสดงพื้นบ้าน - ดนตรีพื้นบ้าน พร้อมขนผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของดีของดังจำหน่าย
ส่งเสริมท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน 5 จังหวัดชายแดนใต้



เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมอัตลักษณ์วัฒนธรรมชายแดนใต้ "เทศกาลเสน่ห์วัฒนธรรม SENI Cultural Festival" ภายใต้โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและโครงการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดนราธิวาส (หลังเก่า) ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
 
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนด้วย “เศรษฐกิจวัฒนธรรม” โดยหัวใจของการขับเคลื่อนคือ“ผลักดันจากรากฐานอย่างเข้มข้น ขับเคลื่อนสู่สากลอย่างเข้มแข็ง” ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของ วธ.ในการบำรุงรักษา “ต้นน้ำ” ของชาติ นั่นคือความคิด วิถีชีวิต และจิตวิญญาณของคนไทย และต่อยอดให้เป็นที่ประจักษ์สู่ระดับโลก ด้วยการขับเคลื่อนผ่าน 4 นโยบาย 3 แนวทาง 2 รูปแบบ สู่ 1 เป้าหมาย คือ 1.“ส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ” 2.“เสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม” 3.“เสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม” และ 4. “พัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก
 
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม


นายประสพ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมฯ ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ในการพัฒนาสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม เนื่องจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้มีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ทางด้านภาษา อาหาร การแต่งกาย ประเพณี วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สามารถนำมาสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรม และเชื่อมร้อยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนาและศิลปะ นำไปสู่ความสันติสุข เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการนำอัตลักษณ์ภาคใต้มาต่อยอดสู่มิติใหม่ ๆ ที่สำคัญเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
 
ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานมหกรรมฯ อาทิ ขบวนแห่อัตลักษณ์วัฒนธรรมชายแดนใต้ การเดินแบบแฟชั่นเอกลักษณ์ผ้าชายแดนใต้ มีการจัดนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการ "ภาษาถิ่น ดินแดนมลายู" นิทรรศการ "ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้" นิทรรศการ "พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน" และนิทรรศการ "การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์" นอกจากนี้มีการเสวนา “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์จากคุณค่าสู่มูลค่า” และยังมีกิจกรรมเรียนรู้อัตลักษณ์ "ประเพณีวัฒนธรรมชายแดนใต้" ได้แก่ การกวนอาชูรอ การเขียนศิลปะ และลวดลายเรือกอและ การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านกูบังบาเดาะ การทำหัวกริช และการละเล่นพื้นบ้าน สาธิตและจำหน่ายอาหารถิ่น "1 จังหวัด 1เมนูเชิดชู อาหารถิ่น" (The Lost Taste) สาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เช่น ดิเกร์ฮูลู, มโนราห์, กลองบานอ เป็นต้น นอกจากนี้ มีตลาดนัดวัฒนธรรมจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย หรือ CPOT จากจังหวัดปัตตานี ยะลา สงขลา นราธิวาสและสตูล และจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย 5 จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย



พาพันแอบดูพาพันดี๊ด๊าพาพันรดน้ำต้นไม้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่