ขับเคลื่อน “เมืองศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์” เล็งนำร่องจังหวัดมีศักยภาพ ทุนวัฒนธรรม อัตลักษณ์โดดเด่น เดินหน้าพัฒนาพื้นที่-คน


“รมว.สุดาวรรณ” นำทีมผู้บริหารวธ.จับมือผู้ตรวจการแผ่นดินขับเคลื่อน “เมืองศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์” เล็งนำร่องจังหวัดมีศักยภาพ ทุนวัฒนธรรม อัตลักษณ์โดดเด่น เดินหน้าพัฒนาพื้นที่-คน หนุนอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ 



นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการประชุมหารือ เรื่อง แนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของหน่วยงานรัฐ โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ กระทรวงวัฒนธรรม โดยในที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อน “เมืองศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์” ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 230 (3) และมาตรา 57 (1) เกี่ยวกับแนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรมของหน่วยงานรัฐ  โดยจากการลงพื้นที่จังหวัดต่างๆเพื่อรวบรวมข้อมูลและนำมาจัดทำแนวทางดำเนินการพบว่ามีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ 1) การประสานงานและบูรณาการเชิงพื้นที่ 2) การเชื่อมโยงมิติด้านศิลปะ วัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์และด้านอื่นๆ 3) การมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมของหน่วยงาน ประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ 4) การสร้างความเข้มแข็งและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม 5) การมีแผนปฏิบัติการร่วมกันในพื้นที่หรือจังหวัดเป้าหมาย 6) การขยายพื้นที่สาธารณะทางศิลปวัฒนธรรม 7) การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและยกระดับรายได้ 8) การสืบสานและต่อยอดองค์ความรู้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งงบประมาณและคน 
 
ขณะเดียวกันผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์หรือลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพใน 14 มิติ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เมืองศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 1) ลักษณะเด่นทางวัฒนธรรม 2) วิถีชีวิตและวิถีชุมชน 3) ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์ท้องถิ่น 4) ศิลปะแขนงต่างๆและเมืองแห่งศิลปะ 5) งานประเพณีและเทศกาล 6) การมีจุดเด่นด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 7) การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี 8) สินค้าศิลปวัฒนธรรม 9) การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม 10) มูลค่าทางเศรษฐกิจ 11) การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 12) การสืบทอดและต่อยอด 13) การมีศูนย์กลางการเรียนรู้ และ 14)การสื่อสารสาธารณะ พื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยผ่านกลไกการขับเคลื่อน 2 ระดับ ได้แก่ กลไกระดับนโยบาย เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Soft Power 11 สาขา สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Thailand Creative Culture Agency -THACCA) และกลไกขับเคลื่อนการปฏิบัติระดับพื้นที่ เช่น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการเมืองศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์  กระทรวงวัฒนธรรมและเครือข่ายทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ยังได้นำเสนอวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์วธ. รวมทั้งนโยบายรมว.วธ.ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนใน 4 มิติ ประกอบด้วยการพัฒนา 1) ทุนทางวัฒนธรรม 2) ระบบนิเวศทางวัฒนธรรม 3) คนในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 4) สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ผ่านรูปแบบการดำเนินงานคือ รักษาสิ่งเดิมและเพิ่มเติมสิ่งใหม่ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายโดยผลักดันให้เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งวธ.ได้อนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรมมาโดยตลอด และมีผลงานที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1) การอนุรักษ์โดยดำเนินการบูรณะโบราณสถานทั่วประเทศ รวมทั้งจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์ต่างๆ 2) การพัฒนาระบบนิเวศ ปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพการให้บริการของหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดแห่งชาติ 3) การฟื้นฟู ส่งสริมมรดกภูมิปัญญา ศิลปะและวัฒนธรรม เช่น การผลักดันมรดกทางวัฒนธรรมของไทยสู่สากลทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ การสืบทอดงานช่างไทยโบราณ จัดการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีสัญจร 4) การพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand - CPOT) จากอัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างอาชีพและรายได้สู่ประชาชนและชุมชน รวมทั้ง 5) การสร้างการมีส่วนร่วมและบูรณาการ เช่น จัดตั้งสภาวัฒนธรรมระดับต่างๆ ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  เป็นต้น 

 
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า  ขณะเดียวกันในที่ประชุม วธ.และผู้ตรวจการแผ่นดินได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกันโดยมีข้อสรุปร่วมกันเรื่องแนวทางอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรม ได้แก่ 1.การส่งเสริมเมืองศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ควรดำเนินการใน 2 ส่วนคือ ส่วนแรกในเชิงพื้นที่ ควรเริ่มต้นจากจังหวัดที่มีความพร้อมด้านบริหารจัดการอยู่แล้ว เช่น จังหวัดที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จังหวัดที่เป็นเมืองศิลปะ ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นรักษาสิ่งเดิม เพิ่มเติมสิ่งใหม่ โดยพิจารณาจากทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่และเพิ่มเติมการบริหารจัดการที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดการต่อยอดพัฒนาสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรม ช่วยสร้างอาชีพ รายได้สู่ประชาชนและชุมชน และส่วนที่สอง เป็นเรื่องของคนซึ่งเป็นคลังปัญญาด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ  โดยเฉพาะบ้านศิลปินแห่งชาติ เป็นแหล่งองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่า ควรส่งเสริมให้มีการสืบทอดองค์ความรู้ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ สร้างแรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนศิลปินแห่งชาติช่วยสร้างศิลปินรุ่นใหม่ 
 
นอกจากนี้ จะต้องส่งเสริมศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ผู้ประกอบการและเครือข่ายด้านวัฒนธรรมได้มีโอกาสและพื้นที่แสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ทักษะและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เด็ก เยาวชนและประชาชน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ศิลปิน ผู้ประกอบการและเครือข่ายด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ เบื้องต้นคณะผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ขับเคลื่อนจังหวัดร้อยเอ็ดและพิษณุโลกเป็นเมืองศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ต้นแบบ เนื่องจากในการลงพื้นที่พบว่า ทั้งสองจังหวัดนี้มีต้นทุนวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่นและเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ และ 2.การพัฒนาคน จะต้องเสริมพลังสร้างสรรค์ให้คนเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมให้การสนับสนุนวธ.ในการเสนอของบประมาณดำเนินการจากรัฐบาลและการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ 
 
“การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและนโยบายของวธ.ในเรื่องดังกล่าวโดยมุ่งเน้นบูรณาการความร่วมมือกับผู้ตรวจแผ่นดิน หน่วยงานรัฐ เอกชน จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ศิลปิน ชุมชน เครือข่ายด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมและภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งทุกฝ่ายทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว




พาพันรดน้ำต้นไม้พาพันปั่นจักรยานพาพันแอบดู
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่