พบ ‘สารเคมีตลอดกาล’ ใน ‘หลอดกระดาษ’ อันตรายต่อสุขภาพ ปนเปื้อนในดิน-น้ำ

พบ ‘สารเคมีตลอดกาล’ ใน ‘หลอดกระดาษ’ อันตรายต่อสุขภาพ ปนเปื้อนในดิน-น้ำ
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามยกเลิกการใช้ “หลอดกระดาษ” กลับมาใช้ “หลอดพลาสติก” โดยมีผลบังคับใช้ทันที พร้อมสั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางเลิกซื้อหลอดกระดาษ กำจัดหลอดกระดาษ และไม่มีการนำหลอดกระดาษมาใช้ภายในหน่วยงานรัฐอีก

ทรัมป์ต่อต้านการใช้หลอดกระดาษมาโดยตลอด เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “เรากำลังกลับไปใช้หลอดพลาสติก ผมเคยใช้มันหลายครั้งแล้ว มันไม่ได้เรื่องเลย บางทีก็เปื่อยหรือแตกออก ยิ่งถ้าใช้กับของร้อน ยิ่งใช้ได้แค่ไม่กี่นาที บางทีก็ไม่กี่วินาทีด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องไร้สาระ”

หลอดกระดาษถูกยกย่องว่าเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ในแง่การใช้งานแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไม่ตอบโจทย์จริงตามที่ทรัมป์พูด นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นยังระบุว่าหลอดกระดาษยังอาจไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพของมนุษย์มากนัก

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ในเบลเยียม ตรวจสอบหลอดกระดาษ 39 ยี่ห้อที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่ กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สเตนเลส และพลาสติก ผลการศึกษาพบสารเคมีตลอดกาล หรือที่เรียกว่า PFAS ในหลอดทั้งหมด ยกเว้นหลอดที่ทำจากสเตนเลส โดยพบ PFAS มากที่สุดในหลอดที่ทำจากวัสดุจากพืช เช่น หลอดกระดาษและหลอดไม้ไผ่

คณะกรรมการกำกับดูแลเทคโนโลยีระหว่างรัฐ ระบุว่าสารเคมีตลอดกาลถูกนำมาใช้กับหลอดกระดาษ เพื่อให้หลอดทนน้ำได้มากขึ้น เพราะสาร PFAS มีคุณสมบัติในการขับไล่คราบน้ำมัน น้ำ คราบสกปรก และดิน รวมถึงมีความเสถียรทางความร้อนและลดแรงเสียดทาน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการรักษาหลอดกระดาษให้คงสภาพ

แม้ว่าสาร PFAS ที่พบในหลอดกระดาษอาจจะไม่ได้มีปริมาณมากนัก เมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ๆ แต่สารเคมีตลอดกาลสามารถสะสมตัวอยู่ในร่างกายระยะยาวได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ทั้งภาวะน้ำหนักแรกเกิดต่ำ คอเลสเตอรอลสูง โรคไทรอยด์ และความเสี่ยงต่อมะเร็งไต มะเร็งตับที่เพิ่มขึ้น แต่นักวิจัยยังไม่รู้ว่าต้องมีปริมาณสารเคมีระดับใด ถึงจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
ทั้งนี้นักวิจัยระบุว่า ผู้บริโภคอาจไม่ต้องกังวลกับการใช้หลอดกระดาษเท่ากับพลาสติกต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง และแนะนำว่าหลอดทางเลือดที่ดีที่สุดคือ “หลอดสเตนเลส” เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่มีสาร PFAS และอีกทางเลือกที่ดีคือ “ไม่ใช้หลอด” ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทั้งทางเคมีและสิ่งแวดล้อมได้ในคราวเดียวกัน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่