“ไข้หวัดใหญ่” อันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงลุกลาม “ปอดอักเสบ”



“ไข้หวัดใหญ่” อันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงลุกลาม “ปอดอักเสบ”



จากข่าวกรณีการเสียชีวิตของนักแสดงสาวชื่อดังชาวไต้หวัน ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงความรุนแรงของ "ไข้หวัดใหญ่" ซึ่งไม่ใช่แค่โรคหวัดธรรมดา แต่หากรุนแรงมากขึ้นอาจนำไปสู่ “ภาวะปอดอักเสบ” ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นวันนี้เรามาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า...



ไข้หวัดใหญ่คืออะไร?
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ซึ่งเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน อาการสำคัญเด่นชัดที่สามารถสังเกตได้ เช่น
- ไข้สูงทันทีทันใด 
- ปวดศีรษะ 
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 
- อ่อนเพลีย

เชื้อไข้หวัดใหญ่มี 3 ชนิดหลัก ได้แก่
* ไวรัสชนิด A ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก
* ไวรัสชนิด B ระบาดในระดับภูมิภาค
* ไวรัสชนิด C มักมีอาการไม่รุนแรง ไม่ค่อยทำให้เกิดการระบาด

ติดต่อกันได้อย่างไร?
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสการแพร่เชื้อก็จะเกิดได้มาก นอกจากนี้อาจเกิดจากการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัส แล้วนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก หรือดวงตา



ไข้หวัดใหญ่…เสี่ยงปอดอักเสบได้อย่างไร?
แม้ไข้หวัดใหญ่จะหายเองได้ในคนทั่วไป แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต หรือมะเร็ง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงโดยเฉพาะ “ปอดอักเสบ” เพราะเมื่อภูมิต้านทานอ่อนแอ เชื้อแบคทีเรียอาจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิด ปอดอักเสบ หรือ การติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด 

** ปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่สามารถรุนแรงจนทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50% ** 

อาการปอดอักเสบ หลังจากเริ่มป่วยเป็นไข้หวัด 3-4 วัน อาจเริ่มมีอาการ
* ไอ เสมหะเปลี่ยนสี
* หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บแน่นหน้าอก
* อ่อนเพลีย มีไข้สูงต่อเนื่องตลอดเวลา
ส่วนอาการปอดอักเสบในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย คือมีอาการซึมลง หรือสับสน และไม่จำเป็นต้องมีไข้หรืออาการไอมาก่อน



ป้องกันไข้หวัดใหญ่ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน
* ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
* หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด และสวมหน้ากากอนามัย
* ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์
* รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อและบรรเทาความรุนแรงของโรคได้หากติดเชื้อ จึงควรฉีดเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แนะนำให้รับวัคซีนเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด



ดังนั้นใครที่เริ่มมีอาการไข้หวัดใหญ่และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีสัญญาณเสี่ยงปอดอักเสบ ควรรีบพบแพทย์ทันที!  

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดบ่อยทุกปีแต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติม >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/280
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่