4 สัญญาณเตือนว่าคุณอาจเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

ื   
หลายคนที่มีอาการปวดท้องมักคิดว่าเป็นโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน แล้วแก้ปัญหาด้วยการกินยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่รู้หรือไม่? อาการแบบนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของนิ่วในถุงน้ำดี! มารู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมเช็กตัวเองก่อนที่อาการจะรุนแรงจนสายเกินแก้

นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร?
นิ่วในถุงน้ำดีคือก้อนของแข็งที่เกิดจากน้ำดีสะสมตัวในถุงน้ำดี โดยปกติ น้ำดีช่วยย่อยไขมันในอาหาร แต่เมื่อมีความผิดปกติ เช่น การสะสมของคอเลสเตอรอลหรือเกลือในน้ำดี อาจทำให้น้ำดีจับตัวเป็นก้อนนิ่วได้
โรคนี้อาจไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่ถ้าปล่อยไว้ นิ่วอาจทำให้เกิดการอุดตันในท่อน้ำดี หรือการอักเสบที่อันตรายต่อชีวิตได้

4 สัญญาณเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี
รู้ทันอาการเหล่านี้ จะช่วยให้คุณได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
1. ปวดท้องรุนแรงและเฉียบพลัน
นิ่วขนาดเล็กที่ไหลไปอุดกั้นท่อน้ำดีหรือตับอ่อน อาจทำให้เกิดการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา อาการปวดอาจลามไปถึงไหล่หรือสะบักด้านขวาได้ บางรายปวดจนเหงื่อออกและเป็นลม
2. แน่นท้อง ท้องอืดหลังมื้ออาหาร
หากคุณรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมในกระเพาะบ่อยๆ หลังทานอาหารมันๆ อาการนี้อาจไม่ใช่แค่อาหารไม่ย่อย เพราะอาจเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีที่อุดกั้นการไหลของน้ำดี
3. คลื่นไส้และอาเจียน
ถ้าถุงน้ำดีติดเชื้อหรืออักเสบ อาจทำให้คลื่นไส้และอาเจียนร่วมกับอาการปวดท้องได้ ในกรณีที่ตับอ่อนอักเสบ อาการอาเจียนมักรุนแรงมากขึ้น
4. ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้สูง
หากคุณเริ่มสังเกตเห็นอาการตัวเหลือง ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือปัสสาวะมีสีเข้ม อาจเป็นสัญญาณของนิ่วที่อุดกั้นท่อน้ำดี ควรรีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะหากมีไข้หรือหนาวสั่นร่วมด้วย

วิธีตรวจและวินิจฉัย
ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองมีนิ่วในถุงน้ำดี อาการจะชัดเจนก็ต่อเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบหรือตับอ่อนอักเสบ
วิธีตรวจที่แม่นยำที่สุดคือการ อัลตราซาวด์ช่องท้อง ซึ่งไม่เจ็บตัวและสามารถตรวจพบก้อนนิ่วได้แม้ในระยะเริ่มต้น การตรวจนี้มักทำร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปี

อย่ารอจนสายเกินแก้
ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีระยะแรกอาจไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่เมื่อเริ่มรู้สึกปวดท้องบ่อยๆ หลังมื้ออาหาร ควรรีบไปตรวจให้แน่ใจ หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น การกินอาหารมันบ่อยๆ น้ำหนักตัวเกิน หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้
อย่าปล่อยให้อาการเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีในวันพรุ่งนี้! 

อ่านเพิ่มเติม ที่  HDcare Blog
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่