เครดิตบูโร คืออะไร? ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่!

ทุกคนเคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเวลาที่เราขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงินแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ เป็นเพราะการติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรหรือเปล่า?
ในวันนี้คุณน้าจะพาทุกคนมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับเครดิตบูโร (Credit Bureau) คืออะไรกันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย!



เครดิตบูโร คืออะไร?
เครดิตบูโร (Credit Bureau) คือ ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตจากสถาบันทางการเงินต่าง ๆ ที่คุณทำการขอสินเชื่อไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อบ้าน, สินเชื่อรถยนต์,ประวัติการผ่อนชำระทรัพย์สินอื่น หรือแม้แต่ข้อมูลบัตรเครดิตทั้งหมดของคุณ เครดิตบูโรก็สามารถเช็กได้หมดค่ะ

ข้อมูลในเครดิตบูโร ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
1. ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานภาพ, อาชีพ และเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
2. ข้อมูลที่อยู่
3. ข้อมูลการสมัครขอสินเชื่อต่าง ๆ 
4. ประวัติการชำระหนี้
5. ข้อมูลคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเงินต่าง ๆ 
6. ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต

⭐ Tip เครดิตสกอริ่งคืออะไร? 
เครดิตสกอริ่ง (Credit Scoring) คือ คะแนนเครดิตที่แสดงถึงความน่าเชื่อถือทางการเงินของบุคคล ซึ่งสถาบันทางการเงินจะใช้เครดิตประกอบกับการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งในประเทศไทยได้แบ่งเครดิตสกอริ่งออกเป็น 8 ระดับ ดังนี้
คะแนน 753-900 : ระดับความเสี่ยง AA
คะแนน 725-752 : ระดับความเสี่ยง BB
คะแนน 699-724 : ระดับความเสี่ยง CC
คะแนน 681-698 : ระดับความเสี่ยง DD
คะแนน 666-680 : ระดับความเสี่ยง EE
คะแนน 646-665 : ระดับความเสี่ยง FF
คะแนน 616-645 : ระดับความเสี่ยง GG
คะแนน 300-615 : ระดับความเสี่ยง HH

วิธีการอ่านสถานะของเครดิตบูโร


ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมีจริงหรือไม่?
📢 หลาย ๆ คนชอบพูดกันว่า การติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ทำให้กู้สินเชื่อไม่ผ่าน แต่จากการอ้างอิงของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การเก็บข้อมูลของเครดิตบูโรไม่ได้จัดทำเพื่อขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์กับใคร ซึ่งในระบบไม่ได้มีข้อมูลของการขึ้นแบล็กลิสต์แต่อย่างใด 

ดังนั้น เครดิตบูโรไม่ได้เป็นตัวตัดสินการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อทั้งหมดค่ะ เพราะก่อนที่จะมีการขอสินเชื่อใด ๆ สถาบันการเงินจะมีเกณฑ์การพิจารณาหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น รายได้, ความสามารถในการชำระหนี้คืน, อายุ, อาชีพ และหลักประกัน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินค่ะ

3 วิธีแก้ไขปัญหาการติดเครดิตบูโรทำได้ยังไง?
1. ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้อง
>>> ขั้นตอนแรก คือ ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรให้ถูกต้อง เพราะหากข้อมูลเครดิตของคุณไม่ถูกต้องหรือเกิดข้อผิดพลาดบางอย่างให้คุณแจ้งไปที่สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อยื่นสิทธิขอตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลของตนเองกับเครดิตบูโรได้

และเมื่อได้รับการแจ้งผลตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว คุณยังไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบสามารถยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองเครดิตได้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้งสิทธิ

2. วางแผนชำระหนี้เก่าให้ครบถ้วน
>>> คุณควรชำระหนี้สินเก่าให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้ติดเครดิตบูโรค่ะ โดยคุณน้าขอแนะนำวิธีการชำระหนี้เก่าให้ครบถ้วน ดังนี้
- ชำระหนี้สินจำนวนน้อยก่อน โดยติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเจรจาต่อรอง สำหรับการผ่อนชำระหรือลดหย่อนหนี้
- กรณีมีหนี้สินหลายก้อน ให้คุณลองพิจารณาการรีไฟแนนซ์หรือรวมหนี้สินเป็นก้อนเดียว เพื่อให้การบริหารจัดการสามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
- จัดทำแผนการชำระหนี้ โดยกำหนดเป้าหมายการชำระหนี้สินในแต่ละก้อน
- หมั่นติดตามและควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อลดโอกาสในการสร้างหนี้สินใหม่

3. สร้างวินัยทางการเงิน
>>> คุณควรชำระค่างวดให้ตรงทุกงวดและพยายามรักษาจำนวนหนี้คงค้างให้ต่ำที่สุด โดยปกติแล้ว ข้อมูลเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลไม่เกิน 3 ปีค่ะ ดังนั้น คุณควรชำระหนี้เก่าครบถ้วนก่อน จากนั้นข้อมูลติดเครดิตบูโรของคุณจะหายไปหลังจากนั้น 1 เดือน และสิ่งสำคัญก็คือ คุณควรหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสียให้ได้มากที่สุดและควรชำระหนี้สินให้ตรงตามเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาประวัติการชำระหนี้ที่ดีนั่นเอง

🔍 ตรวจสอบเครดิตบูโรได้ที่ไหนบ้าง?
คุณสามารถตรวจสอบเครดิตบูโรด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ เลยค่ะ โดยสามารถเลือกใช้บริการได้ตามที่ช่องทางที่คุณสะดวก โดยคุณน้าขอยกตัวอย่าง 3 ช่องทาง ดังนี้ 

1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรมีทั้งหมด 4 สาขา ดังนี้
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา)
เครดิตบูโรคาเฟ่ – อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อกชั้น 3 (โซนธนาคาร) (BTS อารีย์ ทางออก 1)
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) 
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1 

คุณสามารถเข้าไปตรวจเครดิตบูโรได้โดยหลักฐานที่ต้องเตรียมนั่นก็คือ บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริงนำมาแสดงค่ะ 

2. ตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile banking
คุณสามารถตรวจเครดิตบูโรผ่าน Mobile banking โดยธนาคารจะส่งรายงานเครดิตบูโรให้ผ่านรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือผ่านไปรษณีย์ ซึ่ง Mobile banking ที่ให้บริการ มีดังนี้ 
- Bualuang mBanking
- MyMo
- Krungthai NEXT
- ttb touch
- KKP Mobile

3. ตรวจเครดิตบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร
คุณสามารถตรวจบูโรผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารที่เข้าร่วม ณ สาขาใกล้บ้านได้เลยค่ะ โดยมี 4 ธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 
สรุป
จะเห็นได้ว่า ข้อมูลในเครดิตบูโรถือว่ามีความสำคัญต่อการทำธุรกรรมของคุณเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในข้อมูลที่สถาบันทางการเงินจะขอดู เมื่อคุณต้องการขอสินเชื่อใด ๆ อย่างไรก็ตาม เครดิตบูโรไม่ได้เป็นข้อมูลที่ทำให้คุณติดแบล็กลิสต์ เพราะการติดแบล็กลิสต์นั้น หมายความว่า คุณมีประวัติในการชำระหนี้ที่ไม่ดีหรือมีหนี้เสียมากจนสถาบันทางการเงินเห็นว่า คุณไม่มีความสามารถในการชำระหนี้นั่นเอง แต่เครดิตบูโร มีหน้าที่เก็บข้อมูลและรายงานสถานะการชำระหนี้ตามความเป็นจริง ไม่ได้จัดเป็นการขึ้นแบล็กลิสต์ค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่