หมดสิทธิ์ขอสินเชื่อเพราะ “เครดิตบูโร”

หมดสิทธิ์ขอสินเชื่อเพราะ “เครดิตบูโร”



“เครดิตที่สร้างมา….อย่าให้ถูกทำลายด้วยความไม่มีวินัยทางการเงิน”


“บัตรเครดิต” สิ่งอำนวยความสะดวกที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่จะต้องดิ้นรนให้ได้มาตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มทำงาน เพราะบัตรสี่เหลี่ยมใบเล็กๆ นี้เหมือนกับเป็นของวิเศษที่เนรมิตของที่เราต้องการให้มาอยู่ตรงหน้าได้เพียงแค่รูดปรื๊ดๆ แต่บัตรเครดิตนี้ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่หันกลับมาทำร้ายคนที่ไม่มีวินัยทางการเงินได้อย่างสาหัสเช่นกัน เมื่อไหร่ที่คุณใช้มันจนพอใจ แต่ละเลยไม่จ่ายค่างวดหรือจ่ายไม่ตรงเวลา มันอาจทำให้คุณไม่สามารถขอสินเชื่อใดๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือรถ…. เพราะคุณได้ “ติดบูโร” ไปแล้วนั่นเอง



เครดิตบูโรคืออะไร?
เครดิตบูโร คือองค์กรกลาง (บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด) ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อต่างๆ เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถ และบัตรเครดิต ซึ่งรวบรวมข้อมูลมาจากสถาบันการเงินและกลุ่ม Non-Bank ที่เป็นสมาชิกขององค์กร โดยองค์กรกลางนี้จะเป็นคนเก็บข้อมูลไว้ให้สมาชิกหรือบุคคลทั่วไปเข้ามาดูรายละเอียดสินเชื่อหรือบัตรเครดิตว่าเป็นอย่างไร มีประวัติหนี้ดีหรือเสีย พฤติกรรมทางการเงินเป็นอย่างไร ภาระหนี้สินที่มีมากน้อยแค่ไหน การชำระหนี้เป็นอย่างไร จ่ายครบ จ่ายตรงเวลาหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งองค์กรนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ หรือหนี้ทีไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบริษัทข้อมูลเครดิตฯ ไม่มีสิทธิ์ในการขึ้นบัญชีดำ แต่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลตามที่ได้รับมาจากสมาชิกเท่านั้น หน่วยงานที่มีสิทธิ์อนุมัติสินเชื่อก็คือแบงค์หรือสถาบันการเงินที่เราไปขอสินเชื่อนั่นเอง

ทำไมต้องตรวจเครดิตบูโร?
- เพื่อเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อต่างๆ
- เพื่อตรวจสอบว่าเรามีหนี้สินที่ไหนบ้าง มีทั้งหมดกี่บัญชีและการชำระเงินของแต่ละบัญชีเป็นอย่างไร
- เพื่อตรวจสอบว่ามีบัญชีสินเชื่อของบุคคลอื่นปะปนเข้ามาในประวัติของเราหรือไม่
- เพื่อเช็คประวัติการชำระหนี้ว่ามีหนี้สินที่ค้างชำระหรือไม่
- เมื่อชำระหนี้สินทั้งหมดแล้ว บัญชีหนี้สินนั้นถูกปิดจริงหรือไม่
- เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับตอบคำถามกับสถาบันการเงินที่เรากำลังจะไปขอสินเชื่อ
- เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลของเราเอง

ติดเครดิตบูโรแล้วจะเป็นยังไง?
เมื่อเรายื่นเอกสารเพื่อขอสินเชื่อต่างๆ แบงค์หรือสถาบันการเงินจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเครดิต และประวัติการชำระหนี้ของเราจากบริษัทข้อมูลเครดิตฯ หากแบงค์พบว่ามีหนี้เสีย คือไม่ชำระหนี้กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการรายอื่น โดยมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ข้อมูลก็จะขึ้นว่าเรา “ติดเครดิตบูโร” หรือ “Blacklist” แบงค์ก็จะไม่อนุมัติสินเชื่อให้เรานั่นเอง

ทำยังไงถึงไม่ให้ติดเครดิตบูโร?
เหตุผลที่แบงค์ไม่อนุมัติสินเชื่อก็เพราะแบงค์ตรวจสอบแล้วพบว่าเรามีหนี้ค้างชำระ หรือรายได้ของเราไม่สามารถรับภาระหนี้สินได้อีก ดังนั้น เราก็ต้องฝึกสร้างวินัยในการใช้เงินของเราเอง โดย

- รู้แผนการเงินของตัวเอง เพราะจะทำให้รู้ความสามารถในการใช้เงิน และสัดส่วนของรายได้ค่าใช้จ่ายสินทรัพย์และหนี้สินได้โดยไม่ควรมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนสูงเกินไป จนมีเงินไม่เพียงพอในการชำระหนี้ขั้นต่ำในแต่ละงวด
- ควรมีบัตรเครดิตในจำนวนน้อย ให้เพียงพอต่อความจำเป็น และควรปิดบัญชีบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้เพราะโดยปกติแบงค์หรือสถาบันผู้ให้สินเชื่อจะดูขีดความสามารถในการจับจ่ายว่าเรามีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ขนาดไหน หากมีจำนวนบัตรเครดิตมาก แนวโน้มในการก่อหนี้ก็จะมีมากขึ้น
- ควรชำระหนี้ทุกรายการตามใบแจ้งหนี้อย่างน้อยที่สุดคือเท่ากับจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด และภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ทางที่ดีคือควรชำระให้เต็มจำนวนที่เราได้ใช้ไป เพื่อไม่ให้มียอดหนี้ค้างชำระและดอกเบี้ยสะสมมาก
- หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด หรือพบว่าข้อมูลในใบแจ้งหนี้มีความคลาดเคลื่อน ควรรีบติดต่อกับสถาบันผู้ออกสินเชื่อทันทีและการดำเนินการร้องเรียนหรือแก้ไขข้อมูลควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร


อยากซื้อบ้าน แต่ติดเครดิตบูโรจะต้องทำยังไง?
หากแบงค์ไม่อนุมัติสินเชื่อเพราะเราติดเครดิตบูโร เราต้องตรวจเช็คให้มั่นใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้องจริงๆ และต้องรู้ว่าเรามีหนี้คงค้างชำระกี่บัญชีเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่จากนั้นก็วางแผนในการปลดล้างหนี้โดยติดต่อไปยังแบงค์ที่เป็นเจ้าหนี้เราโดยตรงเพื่อทำการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระยอดหนี้คงเหลือ หากมีเงินก้อนก็อาจจ่ายปิดยอดหนี้ทั้งหมด หรืออาจต่อรองขอผ่อนเป็นงวด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแบงค์หรือสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทข้อมูลเครดิตฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลสินเชื่อใดๆ นอกจากการเก็บข้อมูลเท่านั้น โดยหลังจากที่เราชำระหนี้สินหมดแล้ว แบงค์จะต้องรายงานการปิดบัญชีหนี้สินของเราไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตฯ ซึ่งโดยปกติแล้วแบงค์และสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกจะรายงานข้อมูลให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตฯ ทุกเดือนอยู่แล้ว โดยข้อมูลของบุคคลธรรมดาจะถูกเก็บไว้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตฯ เป็นเวลา 3 ปีนับจากวันที่ปิดบัญชีหนี้สินแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อมูลจะแสดงว่าบัญชีหนี้ของเราได้ถูกปิดไปแล้วหลังจากชำระหนี้จนหมด แต่จะไม่ถูกลบออกไปจากฐานข้อมูลจนกว่าจะครบ 3 ปีนั่นเอง

หลังจากที่เราปิดบัญชีหนี้ได้แล้ว เราก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ เพื่อยื่นเรื่องขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหลักๆแล้วแบงค์จะพิจารณาว่าเรามีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ โดยดูจากแหล่งที่มาของรายได้จำนวนรายได้ต่อเดือน ภาระหนี้ที่มีอยู่และประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา แต่ถ้าไม่สามารถกู้ได้ก็อาจจะต้องหาคนมากู้ร่วม โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ
“พลังลับของเงิน (คนอื่น)”  http://aekarnon.com/ลงทุนอสังหากับพลังลับ/

มาเช็คเครดิตบูโรกันเถอะ
เราสามารถตรวจสอบเครดิตบูโรของตัวเองได้ด้วยวิธีการ ดังนี้


เครดิตภาพจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


ที่มา: http://aekarnon.com/หมดสิทธิ์เพราะติดบูโร/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่