ทุนมังกรปักฐาน 7.7 แสนล้าน 7 ปีเทรดวอร์ไทยขาดดุลจีนพุ่ง ปี 67 ทะลุ 1.6 ล้านล้าน

7 ปีสงครามการค้า ไทยรับอานิสงส์ทุนจีนแห่ปักฐาน 7.7 แสนล้าน บีโอไอชี้แนวโน้มปี 68 โตต่อเนื่อง หลัง “ทรัมป์” จ่อขึ้นภาษีจีนรอบใหม่ อีกด้านทัพสินค้าจีนหนีกำแพงภาษีมะกันทะลักไทยเพิ่ม ทำขาดดุลการค้า ปี 67 พุ่ง 1.6 ล้านล้านบาท จับตารุกหนักอาหาร เครื่องดื่ม บริการดิจิทัล

สงครามการค้า (Trade War) สหรัฐอเมริกา-จีนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ (ทรัมป์ 1) ต่อเนื่องมาในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เพิ่งพ้นวาระไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐคนใหม่เป็นครั้งที่ 2 (ทรัมป์ 2.0) ซึ่งสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกระเพื่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกไม่หยุด อย่างไรก็ดีจากสงครามการค้าที่ยังดำรงมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการค้าและการลงทุน ระหว่างไทย-จีนอย่างมีนัยสำคัญ

จีนลงทุนไทย 7.7 แสนล้าน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากจีนในไทย ตั้งแต่ปี 2561 - 2567 มีโครงการขอรับการส่งเสริม จำนวน 1,941 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 779,623 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดของการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย (FDI) ซึ่งหากดูเฉพาะในปี 2567 มีการลงทุนจากจีนขอรับการส่งเสริม จำนวน 810 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 174,638 ล้านบาท (ตัวเลขข้างต้นไม่นับรวมการลงทุนของจีนอีกหลายบริษัทที่ลงทุนในไทยผ่านสิงคโปร์)
 
ทั้งนี้สาขาอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงจากจีนใน 3 อันดับแรกได้แก่
1.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าเงินลงทุน 146,984 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) การผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) และการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
2.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าเงินลงทุน 120,006 ล้านบาท ประกอบด้วย การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ และการผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์
3.อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มูลค่าเงินลงทุน 45,876 ล้านบาท มีทั้งการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม
   
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการลงทุนสูง เช่น ดิจิทัล โดยเฉพาะ Data Center และ Cloud Service และกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์โลหะต่างๆ เป็นต้น
 
ทุนจีนทะลักไทย! กวาดธุรกิจกว่า 4 แสนล้าน จับตาอสังหาฯ-ร้านอาหาร
“การลงทุนของจีนในไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ทั้งผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อีกทั้งรัฐบาลจีนเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ประกอบกับประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและมีจุดแข็งหลาย ๆ ด้านที่ตอบโจทย์นักลงทุนจีน ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคที่ดี บุคลากรมีคุณภาพ ซัพพลายเชนครบวงจร ทำเลที่ตั้งที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทย-จีน และนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลไทย”
แนวโน้มปี 68 โตต่อเนื่อง

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่า การลงทุนจีนในไทยในปี 2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยหนุนที่สำคัญ คือ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามการค้าและการกีดกันทางเทคโนโลยีระหว่างจีนกับชาติตะวันตก ที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต้องเร่งกระจายฐานการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง

โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้านในการรองรับการลงทุนจากจีน ทั้งศักยภาพของปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ และความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ ทำให้ไทยสามารถเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างมหาอำนาจได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจีนจึงมองว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีความมั่นคงปลอดภัย และโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค

ปักฐานนิคมฯไทย 2.8 แสนล้าน
 สอดคล้องกับนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ที่เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนไทยเป็นจำนวนมาก โดยกระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลายพื้นที่ เฉพาะอย่างยิ่งนิคมฯที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพื่อลดผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้ากับสหรัฐ

ช่วง 5 ปีล่าสุด (2563-2567) การลงทุนตั้งโรงงานของนักลงทุนสัญชาติจีนในนิคมอุตสาหกรรมของไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 443 แห่ง เงินลงทุนรวม 284,705.92 ล้านบาท ใช้พื้นที่รวม 8,385.05 ไร่ เพิ่มการจ้างงาน 67,593 คน เฉพาะในปี 2567 ล่าสุด ได้เข้ามาตั้งโรงงานถึง 203 แห่ง เงินลงทุนรวม 109,095.30 ล้านบาท พื้นที่รวม 3,834.91 ไร่ จำนวนคนงาน 30,260 คน

อุตสาหกรรม/ ธุรกิจหลักที่จีนเข้ามาลงทุน จะเป็นประเภทโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยก หรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลที่ไม่ใช้แล้ว ,โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว ,เซมิคอนดักเตอร์ โดยปัจจุบันมีการลงทุนในกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มมากขึ้นจากหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแค่จีนเท่านั้น

7 ปีไทยขาดดุลจีนพุ่งกระฉูด
ด้านการค้าระหว่างไทยกับจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย (ส่งออก+นำเข้า) จากการตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรของ “ฐานเศรษฐกิจ” ช่วงปี 2561-2567 ที่เกิดสงครามการค้า การค้าไทย-จีนได้เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ โดยที่ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปี 2561 การค้าไทย-จีนมีมูลค่า 2.59 ล้านล้านบาท ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 3.30 ล้านล้านบาท ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 3.67 ล้านล้านบาท และปี 2567 ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 3.74 ล้านล้านบาท

ในปี 2561 ไทยขาดดุลการค้าจีน 650,455 ล้านบาท ปี 2564 ขาดดุล 960,955 ล้านบาท ปี 2565 ขาดดุล 1.29 ล้านล้านบาท และปี 2567 ล่าสุดไทยขาดดุลจีน 1.62 ล้านล้านบาท ซึ่งนักวิชาการและผู้นำภาคเอกชนชี้ตรงกันว่า การขาดดุลการค้าไทยที่มีต่อจีน เป็นผลพวงจากสินค้าจีนถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐ ต้องหาทางระบายสินค้ามายังภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง หากไทยไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ดีสินค้าจีนจะทะลักมายังไทยเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และจะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีนมากยิ่งขึ้น

บุกหนักอาหาร-เครื่องดื่ม
นายสุภัค หมื่นนิกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ “Siam Steak” และไส้กรอกพรีเมี่ยม “อีซี่ส์”กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน แบรนด์อาหารจีนในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจุดแข็งของทุนจีนที่เข้ามาแข่งขันในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด เน้นการสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่แตกต่างและน่าประทับใจ เช่น การตกแต่งร้านที่ทันสมัย การบริการที่รวดเร็ว และการนำเสนอเมนูอาหารที่หลากหลายที่มีเอกลักษณ์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแบรนด์อาหารจีนอย่าง Haidilao ที่มีการบริการลูกค้าที่ครบวงจร ตั้งแต่การทำเล็บ ไปจนถึงการชมการแสดง
นอกจากนี้ บริษัทจีนยังมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการต้นทุน ทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าได้ในระดับที่แข่งขันได้ และขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างรวดเร็ว การเข้ามาของทุนจีนส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในการแข่งขันด้านราคาและการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อดึงดูดลูกค้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องของความรู้และความเข้าใจตลาดในประเทศ รวมถึงวัฒนธรรมการบริโภคของคนไทย

รุกคืบบริการดิจิทัล
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group ผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซ และการตลาดดิจิทัลเมืองไทย กล่าวว่ากลุ่มทุนจีน ขยายการลงทุนเข้ามาในไทยครอบคลุมทุกธุรกิจ โดยก่อนหน้านี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์รายใหญ่ถูกจีนยึดไปหมดแล้ว ขณะนี้จีนกำลังรุกการลงทุนอาหาร ผลไม้ ส่วนเทคโนโลยี จีนกำลังขยายการลงทุน และขยายตลาดรถยนต์อีวี และแบตเตอรี่

ที่น่าจับตามองคือ การรุกคืบเข้ามาของทุนจีนทางด้านบริการดิจิทัล โดยคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ XiaoHongShu (เสี่ยวหงชู) แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียของจีน ที่ทะยานขึ้นมาอยู่อันดับหนึ่งใน App Store ของแอปเปิล และ Play Store ของกูเกิล จากกระแสคำสั่งแบนแอปพลิเคชั่น TikTok จะขยายบริการมาในไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเทคโนโลยี AI เช่น “Deepseek” Chat GPT ของจีน ที่มีความเก่งเทียบเท่ากับ Open AI และมีความเก่งภาษาไทยมากกว่า และถูกกว่า 95%

“จีนมีความเข้าใจตลาดอาเซียน แนวการขยายตลาดของจีน จะเข้ามาเป็นอีโคซิสเต็ม และเน้นราคาต่ำเป็นสำคัญ”

70% จีนกุมล้งทุเรียนไทย
นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า นอกจากจีนเข้ามาขยายธุรกิจและกิจการในไทยในหลากหลายสาขาแล้ว ที่ผ่านมาทุนจีนยังเข้ามาทำธุรกิจโรงคัดบรรจุสินค้า (ล้ง)ผลไม้ในไทย เฉพาะอย่างยิ่งล้งทุเรียนเพื่อส่งออกไปจีน ซึ่งปัจจุบันล้งทุเรียนในจีนนสัดส่วนมากกว่า 70% มีจีนถือหุ้นโดยตั้งรกรากในไทยมามากกว่า 10 ปี แล้ว อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญรัฐบาลต้องกำกับดูแลให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบ และตามกฎหมายไทย และมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ให้มาฉวยโอกาสหรือทำลายตลาด

Cr. https://www.thansettakij.com/economy/trade-agriculture/617744


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่