แหล่งท่องเที่ยวธรณีวิทยา หินบะซอลต์ ที่ตูบฮ่อมดอย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

สวัสดีเพื่อนๆ ทุกคนนะคะ กระทู้นี้อยากจะมาเล่าเรื่องแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาที่น่าสนใจค่ะ เผื่อเพื่อนๆ คนไหนเป็นสายท่องเที่ยวแบบนี้ อยากให้เก็บที่นี่ไว้ในลิสต์นะคะ หรือใครที่สนใจเรื่องธรณีวิทยามาอ่านก็น่าจะได้ความรู้เรื่องหิน และกระบวนการทางธรณีวิทยาไปบ้างไม่มากไม่น้อย

เริ่มด้วย หินบะซอลต์น่าสนใจยังไง?
หินบะซอลต์เป็นหินอัคนีพุ (extrusive rock) หรือหินภูเขาไฟ (volcanic rock) ถ้าพบหินบะซอลต์ที่ไหนแสดงว่าบริเวณนั้นอยู่ใกล้กับภูเขาไฟ หรืออยู่ใกล้แนวแยกของแผ่นธรณีภาค (แผ่นเปลือกโลก) แสดงว่าในไทยมีภูเขาไฟด้วยนะ เริ่มน่าสนใจแล้วใช่มั้ยหล่ะ

เมื่อสงกรานต์ปี 65 จขกท.ไปเดินดูหินแถวๆ บ้าน จากการชักชวนของพี่ดง เจ้าของตูบฮ่อมดอย ที่พักวิวทะเลหมอกในอำเภอแม่เมาะ พี่ดงบอกว่าเชิงเขาตรงร่องน้ำแม่น้ำจางมี่หินลาวาทอดยาวเกือบ 3 กิโลเมตร บวกกับพี่ๆ ที่กรมทรัพยากรธรณี (ลำปาง) ลงไปสำรวจดูแล้วมาบอกว่าสวยมากกกกให้ไปดูด่วน จึงต้องจัดไปตามการยุแยงบวกกับความความรู้อยากเห็น

แต่ก่อนจะเล่าต่อ ขอเกริ่นก่อนนิดนึงว่าพื้นที่บริเวณนี้  มีภูเขาไฟเก่าแก่อายุอยู่ประมาณ 900,000 - 600,000 ปี (ฺBP) ได้แก่ ภูเขาไฟ(ผาคอก)จำป่าแดด (เป็นชื่อพันธุ์ไม้) ตั้งอยู่ริมถนนเส้นเข้าเหมืองถ่านหินแม่เมาะ อ.แม่เมาะ และภูเขาไฟผาคอกหินฟู (ชาวบ้านเจอหินบะซอลต์ และสคอเรีย มีรูพรุน เลยเรียกว่า หินฟู) ตั้งอยู่อีกฝั่งของถนน แต่ในเขต อ.แม่ทะ ภูเขาไฟทั้ง 2 เป็นต้นกำเนิดของชั้นหินลาวาหรือหินบะซอลต์ที่เราจะได้ดูกันในกระทู้นี้

จุดดูหินของเราวันนี้มี 2 จุดนะคะ จุดแรกคือบริเวณน้ำตกแม่เกี๋ยง  และจุดที่ 2 คือ คือ บริเวณเชิงเขาตูบฮ่อมดอย 
#teso #earthscience #earthscienceteacher #geology 

แผนที่ตำแหน่งของภูเขาไฟผาคอกจำป่าแดด ภูเขาไฟผาคอกหินฟู ต้นกำเนิดลาวาบะซอลต์ และตูบฮ่อมดอย 

จุดที่ 1 น้ำตกแม่เกี๋ยงเป็นน้ำตกเล็กๆ 2 ชั้น ตั้งอยู่ติดกับตูบฮ่อมดอย เป็นจุดดูหินจุดแรกของเราในวันนี้ หลังป้ายเป็นน้ำตกชั้นแรก

เดินเลยป้ายทางเข้ามานิดนึง ก็เจอชั้นหินบะซอลต์เลยค่ะ เรียกว่าสวยงามกว่าที่คิดไว้ ชั้นหินบะซอลต์บริเวณนี้เกิดจากลาวาไหลหลากจากภูเขาไฟใกล้ๆ ซ้อนทับกันไปมา เมื่อเย็นตัวลง จึงปรากฏให้เห็นเป็นชั้นชัดเจน ลักษณะเนื้อหินบะซอลต์ที่เห็นตรงนี้ค่อนข้างเนียนละเอียด ไม่มีรูพรุน สีดำเข้ม ชั้นหินมีลักษณะโค้งเว้าคล้ายเป็นส่วนหนึ่งของโบก

เดินต่อเข้าไปอีกนิด คราวนี้เจอโบกเต็มๆ โบกค่อนข้างใหญ่ เลยไม่ได้เก็บภาพเต็มๆ มา ถ่ายมาให้ดูแค่ด้านเดียว โบก หรือ กุมภลักษณ์ (pothole) คือหลุมตรงบริเวณท้องน้ำ พบได้ในบริเวณน้ำตก หรือบริเวณทางน้ำไหลเชี่ยว เกิดจากก้อนหินเล็กๆ หรือกรวด ถูกกระแสน้ำพัดพามาตกไปในร่องรู หรือแอ่งบริเวณท้องน้ำ และพัดวนซ้ำๆ จนบริเวณหินท้องน้ำนั้นถูกขัดถูไปเรื่อยๆ และกร่อนเป็นหลุม ด้านในผนังโบกยังเห็นบะซอลต์เป็นชั้นๆ ชัดเจน ชั้นล่างๆ มีตะกอนหินปูนสีเทาๆ เกาะอยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากน้ำละลายเอาหินปูนจากภูเขาหินในบริเวณใกล้ๆ มา หินชั้นล่างที่จมน้ำจึงมีคราบหินปูนเกาะอยู่ 
     
*เพิ่มเติม* หินบะซอลต์เป็นหินอัคนีพุ (extrusive rock) หรือหินภูเขาไฟ (volcanic rock) กลุ่มเมฟิก (mafic) สีเข้ม เกิดจากการเย็นตัวของลาวาบะซอลต์ (basaltic lava) อย่างรวดเร็ว ทำให้แร่มีเวลาตกผลึกน้อย เม็ดแร่จึงมีขนาดเล็กละเอียด 
 
ถัดไปเจอ outcrop ของหินบะซอลต์ที่เริ่มมีแนวแตก (่joint) มองไปตรงกลุ่มหินด้านหลังจะเห็นแนวแตกเป็นเหลี่ยมๆ นอกจากนี้บะซอลต์บริเวณนี้ยังเป็นบะซอลต์ที่มีรูพรุน (vesicular basalt) แตกต่างจาก outcrop แรกๆ ที่เห็น
       
พอเดินลงมาที่น้ำตกชั้นล่างจะพบหน้าผาหินบะซอลต์ที่เห็นแนวแตกที่ชัดเจนขึ้น คล้ายแท่งเสาหินวางตัวนอนไปกับพื้น แต่ก็ยังไม่เห็นความเป็นเสาที่ชัดเจน ถ้าหันหลังออกจากหน้าผา จะเจอทางน้ำที่ต่อมาจากน้ำตกชั้นแรก

ฤดูนี้น้ำน้อยมากกกกกก ไม่มีน้ำเลย ทำให้เห็นก้อนหินกระจายเกลื่อนท้องน้ำ กลายเป็นลานหินบะซอลต์ พี่ดงบอกว่าถึงจะเป็นหน้าน้ำก็ไม่ค่อยมีน้ำอยู่ดี เพราะเหตุนี้แหละ ตรงนี้เลยไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ขนาดคนแม่เมาะอย่าง จขกท ยังไม่รู้เลยว่ามีที่แบบนี้ด้วย

“ฮ่าๆ เจ้าหินบะซอลต์ แกจงผุพัง (weathering) ไปซะ” รูปนี้ จขกท.จะเอาไปสอนนักเรียนค่ะ 555 รากไม้ที่กำลังชอนไชเข้าไปตามรอยแตกของหิน จัดว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของการผุพังทางกายภาพ (physical weathering) ของหิน เรียกว่า การผุพังโดยลิ่มสิ่งมีชีวิต (biological wedging) รวมถึง การขุดรู หรือการชอนไชของสัตว์บางชนิดด้วย

จากจุดแรกไปยังจุดที่ 2 เราขี่มอไซค์ไปกันค่ะ จริงๆ ถ้าเดินตามร่องน้ำไปจะทะลุถึงกัน แต่มันมีต้นไม้ขึ้นรก เดินลำบาก เลยใช้วิธีแว๊นแทน 555

จุดที่ 2 คือบริเวณเชิงดอยของตูบฮ่อมดอยค่ะ จุดนี้เรามีไกด์ด้วยนะคะ น้องชื่อกาแฟ เป็นสุนัขของพี่ดงเจ้าของตูบฮ่อมดอยค่ะ เชี่ยวชาญทางมากๆ 555 เดินตามไม่มีหลงค่ะ แต่ไกด์วิ่งเร็วไปหน่อย ตามแทบไม่ทัน

ไต่เขาตามน้องกาแฟลงมาประมาณ  200 m ก็มาจ๊ะเอ๋กับบะซอลต์สีดำเข้มตรงเชิงดอย  ว้าวมากกกกกกกค่ะ

บะซอลต์บริเวณนี้ไม่แสดงชั้น แต่ผิวด้านบนแสดงแนวแตกชัดเจน 

หันหน้าออกจาก outcrop เมื่อกี้มาเลี้ยวซ้าย เดินต่อไปอีกประมาณ 50 m ก็มาเจอ outcrop นี้ค่ะ จากภาพทางด้านซ้ายแท่งเสาวางตัวนอนแนวเหนือ-ใต้ (พุ่งมาข้างหน้าภาพ) ส่วนทางด้านขวา เลยกอไผ่ไปมีบางส่วนวางตัวตะวันออก-ตก 

แนวแตกเหล่านี้เกิดจากลาวาที่ไหลมาปกคลุมพื้นผิวโลกเย็นตัวลง แล้วสูญเสียน้ำและแก๊ส ทำให้เกิดการหดตัวและเกิดแรงตึงผิวในเนื้อหินที่กำลังเย็นตัว จนเกิดเป็นแนวแตกห้าเหลี่ยมหกเหลี่ยมที่มีแนวลึกสม่ำเสมอ แนวแตกลักษณะนี้ เรียกว่า แนวแตกรูปเสา (Columnar joint) 

พอเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นแท่งเสาค่อนข้างชัดเจน เรียกว่า เสาหินบะซอลต์ (Columnar Basalt) จริงๆ เรายังเดินไม่สุดทาง เพราะไกด์พาเดินวน 555 พี่ดงบอกว่าถ้าเดินต่อไปอีกสัก 200 m จะเจอเสาที่สวยและสมบูรณ์กว่านี้ เอาไว้คราวหน้าจะเก็บภาพมาฝากนะคะ แต่จริงๆ แค่นี้ จขกท.ก็ร้องว้าวววตลอดทางแล้วค่ะ


ขอบคุณที่อ่านมาจนจบนะคะ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ท่านใด อยากแลกเปลี่ยนความรู้กันสนุกๆ เรียนเชิญในคอมเมนท์ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่