บั๊ก119 BUCK119 หนึ่งในมีดใช้งานกลางแจ้งระดับตำนาน

Buck 119

บั๊ก 119 หนึ่งในมีดสนามที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆของอเมริกา ในช่วงที่มันถูกสร้างออกมาใหม่ๆ ขายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็ร่วมๆหกสิบเจ็ดสิบปี เป็นสินค้าขายดีคู่กับมีดพับบั๊ก110 มหาตำนานแห่งมีดพับระบบล็อกแบ็ก

สมัยก่อนวงการมีดมันไม่ได้กว้างเหมือนสมัยนี้นะครับ โดยเฉพาะในประเทศไทย มีดยี่ห้อที่พบเจอหรือได้ซื้อหามาไว้ใช้กันเรียกว่านับตัวได้ นับยี่ห้อได้ บั๊กก็เป็นหนึ่งในนั้น ในยุคโน้น ที่ผมเป็นเด็กๆ ถ้าคุยกันเรื่องมีด หรือมีนักนิยมมีดมาพบกันแล้วเราจะคุยถึงมีด หรือเอามีดมาดู มันไม่ได้มีมากจนกระทั่งเป็นพันเป็นหมื่นชนิดเหมือนทุกวันนี้นะครับ

ถ้าเราจะเจอ เราจะเจออะไร ในยุคนั้นของไทยๆก็เจอมีดแม่บ้านพระรามหก , มีดอีเติ่ง , มีดอรัญญิก ทางเหนือนี่ก็เจอมีดช่างทอง โพธิสุวรรณ มีดนายดาบหรือมีดจ่าตุ่มสมัยโน้นจริงๆผมไม่เคยเห็น เห็นแต่ในทีวีโจ๋ยบางจาก นอกนั้นก็มีดปลายปืนแบบต่างๆ มีดวิกตอร่น็อก , มีดตราตา , มีดแบบเยอรมัน , มีดปูม่า เคยเห็นแต่ปูม่าสกินเนอร์ แม้แต่พรานผิวขาวยังไม่เคยเห็นเลย

แต่มีดบั๊กนี่เจอเยอะมาก พอๆกับมีดคาร์บา หรือมีดออนตาริโอ บั๊ก 110 นี่เจอบ่อย ยังจำได้เจอบั๊ก ครอสล็อก ดีใจเหมือนเห็นดาบฆ่ามังกร

มีดบั๊ก 119 รุ่นนี้ก็ผลิตมานานนะครับ ตั้งแต่ยุคแรกๆของบั๊กเมื่อปี 1940 กว่าๆ ก็มีมีดพกหรือมีดสนามในรูปแบบโบวี่หรือบูอี้อย่างนี้อยู่แล้ว แต่ที่เป็นพิมพ์ 119 จริงๆน่าจะมาช่วงทศวรรษ 60

อย่างเล่มนี้ถ้าสืบค้นข้อมูลตามบัญชีของบั๊ก ดูตามสัญลักษณ์ที่คอมีด ตัวหนังสือสามแถวคือ BUCK 119 U.S.A จะเป็นช่วงระยะเวลา 14 ปี ระหว่างปี 1972 - 1986

และมีดรุ่นนี้จะแยกรายละเอียดไปอีกหลายอย่าง เช่นแผ่นรองคอด้ามหรือสเปเซอร์ ที่ใช้แผ่นไมคาตาร์ รองคอด้ามจะแบ่งเป็น 4 แผ่น , ทำก่อน และ 3 แผ่น ช่วงสั้นๆ และ 2 แผ่น เป็นช่วงหลังๆถึงยุคปัจจุบัน

เล่มนี้มี 3 แผ่น จะอยู่ในช่วงปี 1974 - 1981

และยังแบ่งระยะด้วยซองมีดอีก แต่ผมยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด คาถาไม่เพียงพอ ที่แน่ๆคือมีดเล่มนี้คงสร้างขึ้นในช่วงปี 1974 - 1981 นี่แหละ

ขนาดก็พอเหมาะ ใบมีดยาวราวๆ 5 3/4 นิ้ว ยาวเกินไปนิดสำหรับแนวคิดของมีดบูชคราฟในสมัยปัจจุบัน แต่ความจริงในประวัติศาสตร์ข้อนึงก็คือว่าในยุคหนึ่ง มีดของคนใช้ชีวิตกลางแจ้ง นิยมใช้มีดทรงโบวี่ และบั๊ก 119 ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทุกวันนี้ตลาดมีดนิยมไปทางมีดแทกติคอล มีดประเภทฮันติ้ง ก็เลยเหมือนว่าจะเงียบๆซาๆไป ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่ถ้ามีใครหยิบมันขึ้นมาคาดเข้ากับเข็มขัดและออกไปเผชิญชีวิตในทุ่งโล่งแจ้งหรือในป่าทึบ มีดเก่าหรือมีดล้าหลังแบบนี้ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้ดีเหมือนที่เคยทำมา

เหล็ก 420HC
 
จริงๆแล้วผมอยากจะเรียกว่าเหล็กบั๊ก หรือบั๊กสแตนเลสซะด้วยซ้ำไป เพราะไม่มียี่ห้อไหนนิยมใช้หรือพัฒนาเหล็กเบอร์นี้ นอกจากบริษัทบั๊ก กับหน่วยงานของพอล บอส
 
คนที่ไม่เคยใช้เหล็กเบอร์นี้ ถ้าดูชื่อหรือส่วนผสมแล้ว อาจจะนึกว่ามันเป็นสแตนเลสเกรดพื้นๆของวงการมีดในระบบอุตสาหกรรม ปริมาณคาร์บอนค่อนข้างน้อยถ้าเทียบกับเหล็กหรือสแตนเลสตัวอื่นๆที่ใช้ในวงการมีด โดยเฉพาะวงการมีดพับในสมัยของเรา จริงๆคือสมัยนี้แหละ ซึ่งมันก็ไม่ใช่สมัยของผมเท่าใดนัก
 
Chemical Composition
Carbon.45%
Manganese.80%
Chromium13.00%
Silicon..80%
Nickel<.50%
 
ถ้ามองไปที่คาร์บอน ผมเชื่อถือเหล็กที่มีคาร์บอนประมาณ 0.8 - 1 % และโครเมียม ซึ่งโดยปรกติผมไม่ค่อยสนใจมันนัก ซึ่งในเหล็กบั๊กนี่ใส่อยู่ 13 % ซึ่งเลย 12 % ขีดระดับที่แยกเหล็กกล้าออกจากสแตนเลสขึ้นไปไม่มากนัก ดูๆหน้าตาก็ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ
 
แต่ผมเคยใช้มีดบั๊ก อยู่ 4-5 เล่ม ปรากฏว่ามันอยู่รับใช้ในกระเป๋าได้ยาวนานกว่าที่คิด ซึ่งถ้าเทียบกับเหล็กที่ได้รับการใช้สูงสุด หรือนิยมใช้ทำมีดมากๆอย่างชนิดที่ว่าไปทางไหนก็เจอ อย่าง 8Cr13 หรือ 8Cr14 ผมยังเทคะแนนว่าเหล็กบั๊กหรือ 420HC ใช้ได้ดีกว่า เรียกว่าเทียบได้ระดับ AUS-8 รุ่นเก่าเลยทีเดียว
 
เหล็กเบอร์นี้ก็มีมาร่วมๆ สี่สิบห้าสิบปีเหมือนกันนะครับ แต่ก็ยังใช้ทำมีดได้อยู่ ในสภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเหล็กกล้าชั้นสูงส่วนผสมหนักๆ แต่มีดบั๊กก็ยังคงใช้เหล็กตัวนี้เป็นหลักเรื่อยมา และมีดบั๊กทุกเล่มแสดงให้เห็นว่าเหล็กตัวนี้มันทำงานได้จริงๆ
 
เหล็กที่ส่วนผสมใกล้เคียงหรือชื่อคล้ายๆกันก็อย่าง 410 , 420 ปรกติ , 420J , 420J2 , 425 , 425M เรื่อยไปจนถึง 440B ที่ส่วนผสมสูงกว่ามากแต่ก็ยังถูกจัดอยู่ในหมวดนี้เหมือนกัน AUS-4 , AUS-6 ก็ด้วย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่