คามิโซริ หรือนิฮองคามิโซริ 日本剃刀 มีดโกนแบบโบราณของญี่ปุ่น

คามิโซริ หรือนิฮองคามิโซริ 日本剃刀

มีดโกนญี่ปุ่นลับหินญี่ปุ่น

สวัสดียามเช้าครับผมพี่น้องนักนิยมมีดญี่ปุ่นทุกท่าน วันนี้วันดีมีมีดมาให้ชมเล่มนึงครับผม มีดโกนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม พิมพ์โบราณ จริงๆแล้วยังมีโบราณกว่านี้อีกพิมพ์นึงนะครับ แต่ผมไม่มีเอิ้ก เอิ้ก

ผมได้มีดโกนญี่ปุ่นมาเล่มนึงครับผม มีดโกนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าคามิโซริ หรือนิฮองคามิโซริ 日本剃刀

มีดโกนเล่มนี้พอดีว่าเป็นมีดโกนที่มีประวัติยาวนาน จัดว่าหายากพบเจอได้น้อยแม้แต่ในญี่ปุ่นเอง มีดโกนยี่ห้อชิสุซาบุโร่ 志津三郎 ซึ่งเล่มนี้พิเศษกว่าเล่มอื่นๆหน่อย คือมีตราหรือสัญลักษณ์มารุซาน หรือมารุซัง ㊂ ซึ่งเป็นยี่ห้อหรือสัญลักษณ์ของมีดโกนยี่ห้ออิวาซากิ 岩崎 ซึ่งเป็นมีดโกนระดับแถวหน้าของวงการมีดโกนญี่ปุ่น

บนใบมีดด้านซ้ายของมีดโกนเล่มนี้มีตังอักษรประทับไว้ด้วยกันทั้งหมด 14 ตัว รวมกับตราสัญลักษณ์มารุซานอีกก็เป็น 15 ตัว
特別請合
特級
登録商標

志津三郎

ตามข้อมูลที่หาได้มีดโกนสองยี่ห้อนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่บ้าง คือมีการทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน อย่างเล่มนี้บ้างก็ว่าเป็นยี่ห้ออิวาซากิที่ทำหรือใช้เหล็กของชิสุซาบุโร่ บ้างก็ว่าเป็นของชิสุซาบุโร่ที่ทำโดยอิวาซากิ

แม้แต่คุณ Fikira เจ้าของเว็บ [https://historyrazors.wordpress.com/](https://l.facebook.com/l.php...) ที่เราคุ้นเคยกันดีก็ยังไม่แน่ใจหรือไม่มีข้อมูลว่ามีดเล่มนี้หรือมีดโกนสองยี่ห้อนี้เกี่ยวข้องกันยังไง

ทั้งอิวาซากิและชิสุซาบุโร ก็เชี่ยวชาญในการใช้เหล็กทามะฮากาเนะหรือเหล็กที่ถลุงจากแร่ทรายเหล็กด้วยเตาทาทาระแบบญี่ปุ่น เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการแยกหรือตั้งบริษัทยาสึกิขึ้นมาซะอีก

ผมเองค่อนข้างแน่ใจว่ามีดโกนเล่มนี้ทำจากเหล็กทามะฮากาเนะ มีดโกนยี่ห้ออิวาซากิ ค้นคว้าเรื่องเหล็กทามะฮากาเนะจนได้กระบวนการผลิตและอบชุบใบมีดที่แข็งแกร่ง แทบแข็งกว่าเจ้าอื่นๆ ในยุคต้นๆใช้เหล็กทามะฮากาเนะก่อนจะมาใช้เหล็กยาสึกิในภายหลัง

มีดเล่มนี้สภาพผ่านการใช้งาน ผ่านการลับ มีสนิมกินทั่วทั้งเล่ม แต่หน้าคมยังกว้าง การปาดแนวคมแบบเดิมๆยังเหลืออยู่ จัดว่าสภาพพอดูได้ เหมาะกับการใช้ศึกษาทดลองเรื่องโลหะวิทยาและการลับมีดคมบางด้วยหินค่าความละเอียดสูงๆ
ลองลับด้วยหินญี่ปุ่น เนื้อละเอียดๆแต่เป็นการลับอย่างหยาบๆนะครับ คือแต่งผิวไม่เรียบร้อยและข้ามชั้นหรือข้ามเบอร์หินมากเกินไป คืออยากรู้ว่าหน้าคมจะตอบสนองกับการลับยังไง

หินที่ใช้เป็นหินธรรมชาติญี่ปุ่น หินนากายาม่า

中山合砥

中山合砥 นากายาม่าอวาเซโตะ หมายถึงหินละเอียดแบบหินลับมีดโกนที่ได้มาจากแหล่งทางตะวันออกและทางเหนือของเมืองเกียวโต หินชนิดนี้ก็มีหลายสายหลายแหล่งนะครับ ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป รวมไปถึงหินนากายาม่าเหมืองเก่าที่เรียกว่านารุตากิ 鳴滝

แต่โดยรวมๆแล้วก็คือแหล่งของหินลับมีดเนื้อละเอียด หินลับมีดโกน หินแต่งคมขั้นท้ายๆหรือขั้นคมมากๆ

หินนากายาม่า 中山 แปลความหมายตรงๆก็คือภูเขาที่อยู่ตรงกลาง 中 นากาคือตรงกลาง 山 ยาม่าคือภูเขา 合砥 อวาเซโตะ คือหินตกแต่ง หรือหินเก็บรายละเอียด หมายถึงหินละเอียดที่เก็บคมมีดขั้นท้ายๆ

หินก้อนที่ว่านี่เป็นหินนากายาม่าแน่นอนครับ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นนากายาม่าแหล่งไหน คือหินนากายาม่าก็มีหลายสาย หลายแหล่ง จากเมืองเกียวโต แต่ต้นตอหรือแหล่งดั้งเดิมเค้ามักจะเรียกว่า ฮอนยาม่า หรือโชฮอนยาม่า 正本山 คือหินนากายาม่ากรุเก่า แหล่งเก่า ขุดกันมาแต่ดั้งเดิม ก็นับเป็นแหล่งกำเนิดของหินนากายาม่าเก่าที่เรียกว่านารุตากิ 鳴滝

ก็เป็นหินจากแหล่งต่างๆของเมืองเกียวโต ตามทิวเขาที่ล้อมรอบเมืองที่ชื่อว่าอาตาโกะ 愛宕 หรืออาตาโกยาม่า 愛宕山 ตามทิวเขาสลับซับซ้อนนี่เป็นแหล่งหินลับมีดชั้นดีที่เรารู้จักกันรวมๆว่านากายาม่า ก้อนที่ว่านี่ก็มาจากแหล่งไหนตอนนี้ผมยังบอกไม่ได้ครับผม คาถาไม่เพียงพอ แต่ก็มีเม็ดแร่ ชั้นหิน สายแร่ การตัดขอบ และขนาด พอให้สืบค้นกันได้ในโอกาสต่อไป

ผมลองลับดูนิดหน่อยจากหินเนื้อหยาบของไทยขึ้นมาเรื่อยๆ ยังลับไม่เรียบนัก ต้องการแค่ทำความรู้จักกับมีด และเก็บคมสุดท้ายด้วยหินลับมีดโกนของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ หินนากายาม่า เป็นนากายาม่าหรือหินธรรมชาติของเกียวโตสายนึงครับ คาดว่าเป็นอาตาโกยาม่า ซึ่งตัดรูปทรงที่เรียกว่าคามิโซริโตะ หรือหินลับมีดโกน

ใบมีดแข็งมาก แข็งเท่าๆกับอัลลอยด์หรือบลูสตีล ให้ความคมละเอียด ไม่ค่อยเรียบนัก เพราะมีรอยตามดอยู่ทางด้านซ้ายหรือด้านเว้า มีดคมมากๆ

สรุปได้ง่ายๆว่า ผมจะไม่เอามีดที่คมขนาดนี้ไปไว้ที่ริมฝีปากแน่นอน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่