ขุดลึกทุนใหญ่ญี่ปุ่นเจ้าของ Z.com โบรกเกอร์ขาดทุนพันล้านในไทย



เจาะประวัติ GMO Group บริษัทแม่ Z.com ขาดทุนต่อเนื่อง ก่อนปิดบัญชีมาร์จิ้นหมื่นล้าน อาจส่งผลกระทบตลาดหุ้นไทย 20 ธ.ค.นี้

ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนไทยต่อการประกาศยุติบริการบัญชีมาร์จิ้นของ บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Z.com ภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทแม่ของ Z.com คือกลุ่มบริษัทด้านไอทีของญี่ปุ่น GMO Internet Group

Z.com เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งในไทยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 7,279 ล้านบาท และทุนชำระแล้ว 4,779 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิงส์ อิงค์ (GMOFHD) ถือหุ้น 299,999,997 หุ้น ส่วนที่เหลือถือโดยผู้บริหารชาวญี่ปุ่นคนละ 1 หุ้น

ผลประกอบการของ Z.com ในประเทศไทยไม่สู้ดีนัก แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 1,040.07 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 1,115.56 ล้านบาทในปี 2566 แต่บริษัทมีรายจ่ายสูงถึงกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

ในขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายนนั้น Z.com มีรายได้รวมอยู่ที่ 527.64 ล้านบาท ลดลงจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 647.68 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสำหรับงวดดังกล่าวอยู่ที่ 1,006.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 361.67 ล้านบาท

ทั้งนี้ GMO Internet Group ก่อตั้งขึ้นในปี 2534 (1991) โดยนายมาซาโตชิ คูมาไก ปัจจุบันอายุ 60 ปี เริ่มต้นจากธุรกิจมัลติมีเดีย ก่อนปรับทิศทางสู่ธุรกิจบริการด้านอินเทอร์เน็ตในปี 2538 (1995) บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในปี 2542 (1999) 

ปัจจุบัน GMO Internet Group มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น 9 บริษัท และมีบริษัทในเครือทั่วโลก 106 บริษัท ธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต การเงินออนไลน์ สินทรัพย์ดิจิทัล ไปจนถึงสื่อและโฆษณาออนไลน์

จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิงส์ (GMOFHD) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 (2012) เป็นบริษัทร่วมทุนที่ GMO Internet Group ถือหุ้น 65.26% ทำหน้าที่เป็น Holding Company ด้านการเงิน มีบริษัทในเครือ 5 แห่ง รวมถึง Z.com ประเทศไทย

ในไตรมาสแรกของปี 2567 (2024) GMOFHD  มีรายได้จากการดำเนินงาน 12,880 ล้านเยน ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการค้าหลักทรัพย์และฟอร์เร็กซ์ (10,877 ล้านเยน) และการเทรดสินทรัพย์คริปโต (1,907 ล้านเยน) บริษัททำกำไรในปี 2566 (2023) รวม 7,650 ล้านเยน

GMO Internet Group เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยในครึ่งแรกของปี 2563 (2020) ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 50% ขณะที่ดัชนี Nikkei 225 ติดลบ 5% นายมาซาโตชิ คูมาไก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ กลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563

ล่าสุด GMO Internet Group มียอดขายสุทธิ ณ สิ้นปี 2566 (2023) อยู่ที่ 258,643 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 5.3% จากปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินการ 42,471 ล้านเยน แม้จะลดลง 2.9% จากปีก่อน แต่ยังแสดงถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน

การที่ Z.com ประกาศยุติบริการบัญชีมาร์จิ้นในไทยสร้างความกังวลอย่างมาก เนื่องจากบริษัทมีวงเงินปล่อยกู้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีหลักทรัพย์ภายใต้สัญญากว่า 100 ตัว ปัจจุบันบริษัทมีคณะกรรมการ 5 คน นำโดยนายเมกุมุ โมโตฮิสะ และนายประกฤต ธัญวลัย
การตัดสินใจครั้งนี้อาจสะท้อนถึงความท้าทายในการขยายธุรกิจต่างประเทศของกลุ่ม GMO ซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากต่างประเทศเพียง 4% แม้ผู้บริหารจะตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ในอนาคต แต่การขาดทุนต่อเนื่องของ Z.com ในไทยอาจเป็นบทเรียนสำคัญในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศของกลุ่มบริษัท

เครดิตจากฐานเศรษฐกิจ

https://www.thansettakij.com/finance/stockmarket/614844
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่