Part บอกเล่าประสบการณ์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตราซาวด์เต้านม

กระทู้สนทนา
เพี้ยนสวัสดีเพี้ยนเผือกศึกษา

สวัสดีค่ะ วันนี้เจ้าของกระทู้ขอมาแชร์ประสบการณ์ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตราซาวด์เต้านม (Breast Cancer Screening Ultrasound and Digital Mammograms) เป็นข้อมูลไว้สำหรับเพื่อนๆที่สนใจนะคะ 
 
การตรวจเหมาะกับใคร:
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เหมาะสำหรับผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีสมาชิกครอบครัวเคยเป็นมะเร็งควรเข้ารับการตรวจเพื่อคัดกรองก่อนได้เลยค่ะ ควรทำแมมโมแกรมกับอัลตราซาวน์ในช่วงอายุ 35- 40 ปี 1 ครั้ง  หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไป ควรทำทุก 1 – 2 ปี
สามารถเลือกซื้อแพคเกจตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลที่สนใจหรือที่สะดวกเข้ารับการตรวจได้เลยค่ะ เสร็จแล้วโทรนัดหมายกับทางโรงพยาบาลก่อนเข้ารับการตรวจ
 
การเตรียมตัว: 
วันที่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม งดสเปรย์ต่างๆที่ช่วงหน้าอก รักแร้ เพื่อผลการตรวจแมมโมแกรมที่แม่นยำ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ทานทุกอย่างได้ตามปกติเลยค่ะ

พอถึงโรงพยาบาลแจ้งนัดหมายกับพยาบาลที่แผนกศัลยกรรม เจ้าของกระทู้มีเซฟหน้าจอแพคเกจที่ซื้อเตรียมไว้ในเครื่องด้วยค่ะเผื่อมีขอข้อมูลเพิ่มเติม
พยาบาลจะวัดชีพจร น้ำหนัก ส่วนสูง จากนั้นไปที่ห้องรังสีวิทยาเพื่อนทำการตรวจอัลตราซาวน์ช่วงหน้าอก และทำแมมโมแกรม
 
เจ้าหน้าที่เรียกคิวทำแมมโมแกรมก่อนค่ะ – การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม เป็นการตรวจเอกซเรย์เต้านมโดยใช้เครื่องมือเฉพาะ กดเต้านมให้แบนราบมากที่สุดและถ่ายภาพเต้านมข้างละ 2 ท่า ใช้เวลากดไม่นานแป้บเดียวก็เสร็จ แมมโมแกรมเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ มีความถูกต้องแม่นยำและแนะนำให้ผู้หญิงในช่วงอายุ 35- 40 ปีตรวจแมมโมแกรม 1 ครั้ง  หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไป ควรทำทุก 1 – 2 ปี การทำแมมโมแกรมจะไม่เหมาะกับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากเนื้อเต้านมยังแน่น จึงอาจทำให้มองก้อนหรือสิ่งผิดปกติได้ไม่ชัด
 
เครื่องตรวจแมมโมแกรมหน้าตาจะประมาณนี้ค่ะ


พอตรวจแมมโมแกรมเสร็จ รอเจ้าหน้าที่เรียกตรวจอัลตราซาวด์เต้านมต่อ - การอัลตราซาวด์มักทำร่วมกับแมมโมแกรมเพื่อให้ได้ผลแม่นยำครอบคลุม การตรวจอัลตราซาวด์เป็นการใช้คลื่นความถี่สูงผ่านเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆจะสะท้อนกลับมาเกิดเป็นภาพที่เครื่องตรวจ ทำให้สามารถเห็นสิ่งแปลกปลอมในเต้านมนั้นเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อได้
 
ตรวจเสร็จแล้วก็ไปนั่งรอพบหมดเพื่อฟังผลการตรวจได้เลยค่ะ ผลตรวจบอกได้เลยในภายในวันที่ตรวจ คุณหมอจะแจ้งผลและแนวทางการรักษาต่อไปในกระณีที่ผลตรวจเกิดความปกติค่ะ
 
สิ่งที่ตรวจพบในผลการอ่านของรังสีแพทย์ ดังนี้
·       ซีสต์ (Cyst) หรือ ถุงน้ำ
·       Mass หรือ ก้อน
·       Calcification หรือ หินปูน พบจากผลการตรวจแมมโมแกรม
 
ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถพบได้ในร่างกายแต่อาจจะมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความปกติหรือผิดปกติ แพทย์จะทำการวินิจฉัยผลสิ่งที่ตรวจพบ
 
การรายงานผลแมมโมแกรม:
จะใช้แนวทางการแปลงผลที่เรียกว่า BI-RADS (Breast Imaging Reporting and data system) ซึ่งเสนอโดยสมาคมรังสีแพทย์อเมริกัน จะแบ่งเป็น
Category 0  ยังรายงานผลแน่นอนไม่ได้ ต้องการเปรียบเทียบกับแมมโมแกรม ครั้งก่อน หรือต้องการการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น อัลตร้าซาวด์
Category 1 ไม่พบความผิดปกติใด
Category 2 มีสิ่งตรวจพบแต่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น หินปูนชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งสำหรับ Category 1 และ 2 แนะนำให้มาตรวจแมมโมแกรมในอีก 1 ปีถัดไป
Category 3 สิ่งที่ตรวจพบน่าจะไม่ใช่มะเร็ง (โอกาสเป็นมะเร็งไม่เกิน 2%) กรณีนี้แนะนำให้มาตรวจแมมโมแกรมในอีก 6 เดือน เพื่อติดตามผล
Category 4 สิ่งที่ตรวจพบไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ จำเป็นต้องเจาะ ชิ้นเนื้อ หรือ ผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน Category 4 ยังไม่แยกเป็น 4A, 4B และ 4C ตามความสงสัยมาก-น้อยว่าจะเป็นมะเร็ง
Category 5 ความผิดปกติที่พบสงสัยอย่างยิ่งว่าเป็นมะเร็งเต้านม (โอกาสเป็น มะเร็งเต้านมมากกว่าหรือเท่ากับ 95%) กรณีนี้ต้องทำการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยอย่างเร่งด่วน
Category 6 ได้รับการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาแล้วว่าเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ระหว่าง การรักษา เช่น ให้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด แพทย์ส่งตรวจแมมโมแกรมเพื่อประเมินการตอบสนองต่อยาเคม หรือวางแผนผ่าตัด เป็นต้น
 
พบคุณหมอแล้วคุณหมอจะแจ้งผลตรวจแมมโมแกรมพร้อมอัลตราซาวด์ให้ฟังค่ะ หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆสำหรับการหาข้อมูลเตรียมตัวในการตรวจคัดกรองมะเร้งเต้านมนะคะ 
 
 เพี้ยนขอบคุณเพี้ยนขอบคุณ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่