ทบทวน ‘บัตรคนจน’ สกัดคนไม่จนจริง เล็งปรับลงทะเบียนปีละ 2 ครั้ง

มีบัตรคนจนแต่ไม่จนจริง อมยิ้ม07

ทบทวน ‘บัตรคนจน’ สกัดคนไม่จนจริง เล็งปรับลงทะเบียนปีละ 2 ครั้ง

“หนิม” ประชุมทบทวนหลักเกณฑ์บัตรคนจนรอบใหม่ สกัดดราม่าคนไม่จนจริงได้บัตร เล็งยืนตามมติ ครม. ปรับให้ลงทะเบียนปีละ 2 ครั้ง ตรวจสอบคุณสมบัติเพิ่มไปถึงรายได้ครอบครัว ปรับปรุงฐานข้อมูลให้ผู้มีรายได้น้อยไม่ให้ตกสำรวจ “นพดล” เซ็งกล่าวหา MOU44 ยอมรับเส้นไหล่ทวีปตามเขมรทำไทยเสียดินแดน ชี้ถ้ายกเลิกจะทำให้ข้อผูกพันเรื่องเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลตามหลักกฎหมายสากลสิ้นผล แถมทำให้ไทย-เขมร ไม่สามารถสำรวจขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนได้ กรมที่ดินไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์เขากระโดงคืน รฟท.

ในช่วงสัปดาห์นี้จะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองน่าสนใจหลายเรื่อง “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมเอเปกครั้งที่ 31 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ระหว่างวันที่ 10-18 พ.ย.นี้ ต้องดูว่า มีเรื่องอะไรกระตุ้นการค้าการลงทุนที่น่าสนใจบ้าง ไทยจะเอาโครงการอะไรไปดึงดูดนักลงทุน ซึ่งในสมัย“นายกฯเสี่ยนิด”ก็ขายแผนเรื่องการทำแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเชื่อมระหว่างท่าเรือระนองกับชุมพร เพื่อประหยัดค่าเดินทางและเวลาข้ามช่องแคบมะละกา

“รองหนิม” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อหารือถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และป้องกันไม่ให้คนจนไม่จริงเข้ามาได้รับสิทธิ

“การประชุมครั้งนี้จะนำมติ ครม. มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเตรียมข้อมูลต่างๆ มาหารือร่วมกันอีกครั้ง รวมถึงจะตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนด้วย เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาดราม่า คนจนจริง ไม่ได้รับสิทธิ แต่คนรวยได้สิทธิ เพราะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไปเรื่อยๆ” รองหนิม กล่าว

มติ ครม.ดังกล่าว คือมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ต.ค.67 ปรับความถี่ในการเปิดรับลงทะเบียนคนจน จากปีละ 1 ครั้ง เป็น 2 ปีครั้ง นับจากวันที่เริ่มใช้สิทธิครั้งแรกในโครงการที่เปิดรับลงทะเบียนครั้งล่าสุด ปรับขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติจากตรวจสอบเฉพาะตัวบุคคลเป็นตรวจสอบรายได้ครอบครัว ปรับปรุงฐานข้อมูลให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสวัสดิการมากขึ้น

ส่วนเรื่อง MOU44 ที่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อตกลงเจรจา แล้วทำ MOU ใหม่ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ว่า MOU44 ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเลไม่เป็นความจริง การแบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ เอ็มโอยู 44 นี่คือข้อดีของเอ็มโอยู การยกเลิก MOU44 จะมีผลตามมาคือ การประกาศเขตไหล่ทวีปของแต่ละฝ่าย พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร ยังคงอยู่ ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้

ถ้ายกเลิก ข้อผูกพันให้มีการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุใน MOU44 ข้อ 3 จะสิ้นผล ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา นี่คือช่องในการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์

ส่วนเรื่องทำประชามติ ก็ยังคงคิดไม่เหมือนกันระหว่าง สส.สว. เกี่ยวกับเรื่องใช้เสียงข้างมากกี่ชั้น ถ้าใช้สองชั้น เสียงข้างมากชั้นแรกต้องเท่าไร แต่ที่น่าสนใจ อยู่ที่นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ ( กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ (ฉบับที่ … ) พ.ศ. กล่าวว่า ส่วนที่กังวลว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติ ไม่ถึง 50% ของผู้มีสิทธินั้น ตามสาระของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ได้เปิดให้ใช้วิธีออกเสียงผ่านทางไปรษณีย์ได้ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเกินเกณฑ์กำหนด

“ได้ศึกษาแนวทางการทำประชามติด้วยระบบไปรษณีย์ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ แม้ไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หารือกับ กมธ.ร่วมแล้ว จะเดินทางไปดูงานการประชามติที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ กกต.จะกำหนดและออกแบบการทำประชามติผ่านระบบไปรษณีย์ที่เหมาะสม”

สำหรับเรื่องตากใบหมดอายุความ ก็ยังมีผลต่อรัฐบาลอยู่ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “พรรคการเมืองใดเดือดร้อนจากกรณีตากใบ” สำรวจระหว่างวันที่ 5-8 พ.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา 1,067 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากกรณีคดีตากใบที่หมดอายุความ พบว่า ตัวอย่าง 55.20% ระบุว่า พรรคเพื่อไทย รองลงมา 29.99% ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองใด 4.69% ระบุว่า พรรคประชาชาติ 1.97%

เมื่อถามถึงคดีตากใบหมดอายุความส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งการส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไปของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ 39.55% ระบุว่า ไม่ส่งผลเลย 25.21% ระบุว่า ส่งผลมาก 23.62% ระบุว่า ค่อนข้างส่งผล และ 11.62% ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผล เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า 50.14% ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ 18.85% ระบุว่า พรรคประชาชน ( ปชน.) 13.68% ระบุว่า พรรคประชาชาติ 5.44% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ 4.69% ระบุว่า พรรคเพื่อไทย

เรื่องเรียกคืนที่ดินเขากระโดง บุรีรัมย์ ล่าสุด กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงกรณีคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง ว่า ตามที่ศาลปกครองสั่งให้อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.ผู้ฟ้องคดี ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวน ตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง

ขอบเขตของที่ดิน รฟท. กล่าวอ้างว่ามีระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน รฟท. ของคณะกรรมการ เปรียบเทียบแปลนภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฏว่าทางรถไฟมีระยะทางประมาณ 6.2 กิโลเมตร

ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถร่วมกับ รฟท. เนื่องจากเป็นการร่วมทำงานกับคู่กรณี ทำให้สูญเสียความเป็นกลาง จะทำให้มติคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และหลักฐานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นว่า การออกเอกสารสิทธิ์ดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยาน หลักฐาน ที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ อธิบดีกรมที่ดินได้เห็นชอบตามคณะกรรมการ หาก รฟท. เห็นว่าตนมีสิทธิในที่ดิน ก็ต้องไปดำเนินการพิสูจน์สิทธิในกระบวนศาลต่อไป

สำหรับรูปแผนที่ที่ รฟท. อ้างสิทธินั้น จากการตรวจสอบพบว่าได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 และปีพ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัด ( กบร.) ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายหลังที่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินไปแล้ว รฟท. ได้นำแผนที่นี้ไปใช้ประกอบการต่อสู้ในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่แผนที่นี้ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดชื้อที่ดินแต่อย่างใด.
“ทีมข่าวการเมือง”... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4064271/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่