ไทยชูบทบาท “วัฒนธรรมและศิลปะ” ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเอกภาพของอาเซียน ร่วมหนุน “มะละกา” สู่เมืองวัฒนธรรมอาเซียน


ไทยชูบทบาท “วัฒนธรรมและศิลปะ” ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเอกภาพของอาเซียน ร่วมหนุน “มะละกา” สู่เมืองวัฒนธรรมอาเซียน  พร้อมขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียน (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘) พร้อมโชว์นโยบาย วธ. ร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมในทุกภาคส่วน เน้น “วัฒนธรรม” สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามัคคี และความยั่งยืนให้อาเซียน


วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๗ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จาการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ  โดย ครม. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (Meeting of ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts: AMCA) ครั้งที่ ๑๑ (ร่างถ้อยแถลงฯ) “เชื่อมโยงวัฒนธรรม สร้างสรรค์อนาคต: เอกภาพบนความหลากหลาย” (Joint Media Statement the 11th Meeting of the ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts “Bridging Cultures, Building Futures: Unity in Diversity”) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะแห่งราชอาณาจักรไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม AMCA ครั้งที่ 11 ให้การรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ณ เมืองมะละกา มาเลเซีย ตนในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ณ เมืองมะละกา มาเลเซีย ร่วมกับคณะรัฐมนตรีและผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะเป็นที่เรียบร้อย  เพื่อเน้นย้ำบทบาทของวัฒนธรรมและศิลปะในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมเอกภาพของอาเซียน
 
โดยถ้อยแถลงร่วมฯ มีสาระสำคัญในการเน้นย้ำบทบาทของวัฒนธรรมและศิลปะในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมเอกภาพของอาเซียน รวมทั้งระบุถึงความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ ๑) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ในฐานะทรัพยากรสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอาเซียน ๒) การส่งต่อการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมอาเซียนจากนครหลวงเวียงจันทน์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปยังเมืองมะละกาแห่งมาเลเซีย นอกจากนี้ มาเลเซีย ในฐานะประธานการประชุม ยังกำหนดจัดเทศกาลศิลปะอาเซียน (ASEAN Festival of Arts) และโครงการเยาวชนอาเซียนและการอนุรักษ์มรดกที่สืบทอดกันมา: สืบสานรากเหง้าและสร้างสรรค์อนาคต (ASEAN Youth and Heritage: Celebrating Roots and Reimagining the Future Programme) ๓) ความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียน (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๘) และการพัฒนาแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ และ ๔) ความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาภายใต้แผนงานอาเซียนบวกสาม และยินดีกับความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร และอิตาลี
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ ๑๑ ผ่านกรอบการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด “๔ นโยบาย ๓ แนวทาง ๒ รูปแบบ และ ๑ เป้าหมาย” เพื่อแสดงเจตจำนงในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในมิติทางวัฒนธรรมและการบูรณาการความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมในทุกภาคส่วน โดยการกำหนดแนวนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้ตระหนักเพียงว่าวัฒนธรรมเป็นมรดกที่แสดงให้เห็นถึงอดีตของประเทศเท่านั้น แต่ยังเล็งเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นดังปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามัคคีในสังคม รวมถึงความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสอดคล้องกับร่างถ้อยแถลงร่วมฯ “เชื่อมโยงวัฒนธรรม สร้างสรรค์อนาคต: เอกภาพบนความหลากหลาย” นี้
 
นโยบายข้อแรก การส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ ผ่านข้อริเริ่มต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สนับสนุนผู้ประกอบการ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น


นโยบายข้อที่ ๒ มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญด้านระบบและช่องทางเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมในทุกภาคส่วน ครอบคลุมไปถึงการกำหนดข้อริเริ่มในการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และยกระดับการเข้าถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมอีกด้วย

นโยบายข้อที่ ๓ มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม ด้วยกระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์อันเป็นปัจจัยสำคัญต่องานด้านวัฒนธรรม จึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านการให้ความรู้ การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญให้แก่ผู้นำทางวัฒนธรรม และนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
 
นโยบายข้อที่ ๔ คือการพัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก โดยมุ่งผลักดันให้เกิดการรับรู้และผลักดันให้เกิดส่วนแบ่งการตลาดทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการด้านวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลกอย่างกว้างขวาง ผ่านการใช้ประโยชน์จากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถ และการมีส่วนร่วมของอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจวัฒนธรรมระดับโลก
 นอกจากการกำหนดแนวนโยบายทั้ง ๔ ข้อ กระทรวงวัฒนธรรมยังมุ่งเน้นการปฏิบัติใน ๓ แนวทาง ดังนี้
 
แนวทางที่ ๑ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรมสาขาอื่น ๆ อาทิ วัฒนธรรมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมกับการเกษตร และวัฒนธรรมกับการแพทย์ 
 
แนวทางที่ ๒ ร่วมมือ โดยการบูรณาการความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนและทุกหน่วยงานอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบไร้รอยต่อและเป็นเอกภาพ
 
แนวทางที่ ๓ ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนใน ๓ มิติ คือ ประโยชนที่ยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชน การบริหารจัดการที่ยั่งยืน และคุณค่าของวัฒนธรรมที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการผ่าน ๒ รูปแบบ คือ การรักษาสิ่งเดิม และเพิ่มเติมสิ่งใหม่ อาทิ เร่งขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก การนำทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาต่อยอดทางเศรษฐกิจ และการสร้างการยอมรับต่อวัฒนธรรมไทยของผู้คนทั่วโลก 
 โดยขับเคลื่อนไปสู่ ๑ เป้าหมายสูงสุด คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมในประเทศไทยแล้ว ยังมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนในวงกว้างอีกด้วย
 
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้แทนประเทศไทย มีความยินดีในการให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกระดับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาเซียนเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งและครอบคลุมทุกภาคส่วนในภูมิภาค โดยบรรยากาศวันสุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมเยี่ยมชมเมืองมะละกา ในฐานะเมืองมรดกโลกของยูเนสโกด้วย

พาพันอาบน้ำพาพันซนพาพันเคลิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่