บ้านปลายเนิน แหล่งบ่มเพาะงานศิลป์แผ่นดินสยาม

ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน ณ บ้านปลายเนิน
แหล่งบ่มเพาะงานศิลป์แผ่นดินสยาม

บ้านปลายเนิน นั้นเรียกขานกันติดปากว่า “วังคลองเตย” ตั้งอยู่บนถนนพระรามสี่ เป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่บรรดาช่างฝีมือและผู้ศึกษางานศิลปกรรมไทยรู้จักกันดีในพระสมัญญานาม “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” และ “สมเด็จครู”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2406 ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดา คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย และทรงเป็นต้นราชสกุล ‘จิตรพงศ์’ เนื่องจากทรงมีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าจิตรเจริญ’

"กระทั่งมีอายุได้ถึงวัยโสกันต์ คือประมาณ 12 ขวบ หรือได้เริ่มเจริญเติบโตเป็นวัยรุ่นแล้ว พระราชบิดาก็จะพระราชทานพิธีโสกันต์ให้กับพระโอรส-ธิดา ซึ่งถ้าเราพูดในภาษาชาวบ้านปัจจุบันคือพิธีโกนจุก สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการไหว้เทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และเด็กผู้นั้นก็จะโกนจุกทิ้ง และมีสิทธิ์ไว้ผมในยามที่เติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น ผู้ชายไว้ผมทรงนิยมของผู้ชาย ผู้หญิงมีสิทธิ์ไว้ผมยาวในลักษณะของสตรีเพศ  และจากบัดนั้นเป็นต้นไป ผู้ชายจะถูกสั่งให้ย้ายออกจากเขตพระราชฐานชั้นใน ไปอยู่ข้างนอก ในทางปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ไหนก็ตาม ท่านจะพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กับพระราชโอรส และพระราชทานที่ประทับตามบรรดาศักดิ์ เป็นวังที่ประทับข้างนอกพระบรมมหาราชวังทุกพระองค์ไป

พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น กรมขุนนริศรานุวัตติวงศ์ พระนามนี้ได้เมื่องานโสกันต์นี่เอง  และได้รับพระราชทานวังที่ประทับคือ วังท่าพระ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง

เมื่อท่านได้ย้ายออกมาแล้ว ท่านมีสิทธิพิเศษมากกว่าพระราชโอรส-ธิดาองค์อื่นๆ นิดหนึ่ง คือท่านได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญพระมารดาออกมาอยู่ด้วยที่วังท่าพระ ปกติพระมารดายังต้องอยู่ในพระบรมมหาราชวังเขตชั้นใน" หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ พระทายาท กล่าวไว้ในการบรรยายหัวข้อ ‘ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน ณ บ้านปลายเนิน’
หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ยืนอยู่บนแผ่นหินซึ่ง ‘สมเด็จครู’ ทรงใช้เป็น ‘ทางเสด็จ’ สู่ตำหนักตึก

‘สมเด็จครู’ ทรงแสดงความสามารถสร้างสรรค์ทางศิลปะตั้งแต่วัยโสกันต์ เมื่อครั้งตามเสด็จรัชกาลที่ห้าทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง

"ผลงานทางศิลปะชิ้นหนึ่งที่พวกเราลูกหลานเหลนรู้จักกันดี คือภาพทรงเขียนสุริยุปราคาเต็มดวง ที่เป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นในตอนต้นๆ ของ
สมัยรัชกาลที่ห้าทรงราชสมบัติ ขณะทอดพระเนตร เด็กๆ ทุกคนได้รับแจกกระดาษสีขาวหนึ่งแผ่น ดินสอหนึ่งแท่ง ให้เขียนรูปที่เห็นบนท้องฟ้า ใครเขียนดีที่สุดจะได้รางวัล คนได้รับรางวัลที่หนึ่งในการแข่งขันครั้งนั้นคือสมเด็จกรมพระยานริศ...

อายุ 13 มาอีกภาพ เป็นภาพที่ชนะเลิศ ท่านเขียนภาพการคล้องช้างในป่า โดยแสดงให้เห็นลักษณะของช้างเหมือนจริงอย่างน่าอัศจรรย์ อย่างน้อยๆ สำหรับเด็กอายุสิบสามจะเขียนเป็นเขียนได้...

ในการที่ท่านมีฝีมือสูงแบบนี้ ท่านเขียนเล่าไว้เองว่า ท่านโปรดที่สุดที่จะไปดูช่างเขียนฝีมือชั้นครูทั้งหลาย ที่กำลังเขียนภาพชุดรามเกียรติ์บริเวณพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านอยากสมัครเป็นลูกศิษย์ครูช่างเขียน แต่ไม่มีใครกล้ารับ ท่านก็ได้แต่ไปยืนดูเขาทำงานกัน และจดจำมาลองเขียนที่ตำหนักที่ประทับ นี่แหละครับที่เป็นเหตุให้เราพูดว่า ท่านเรียนรู้ด้วยระบบครูพักลักจำ ไม่มีใครสอนท่าน นี่เป็นวิธีที่ท่านเรียนรู้การเขียนภาพ" ความส่วนหนึ่งจากการบรรยายโดย ม.ร.ว.จักรรถ 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการเพื่อสนองพระเดชพระคุณตลอดมา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลัง กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 
ต่อมาในปลายสมัยรัชกาลที่ห้า พ.ศ.2452 ‘สมเด็จครู’ ทรงลาออกจากราชการ เนื่องจากทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง 

เจ้าพระยาเทเวศรวงษ์วิวัฒน์ ผู้เป็นทั้งพระญาติและมิตร ได้ชักชวนให้พระองค์เสด็จพักตากอากาศที่ ตำบลคลองเตย เมื่อเสด็จแล้วรู้สึกทรงพระสำราญ เนื่องจากเป็นที่ที่มีอากาศโปร่งบริสุทธิ์ จึงทรงหาซื้อที่นาริมคลองแปลงหนึ่งเพื่อปลูกสร้างตำหนักเป็นบ้านทรงไทย แล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2457 และทรงย้ายจากที่ประทับเดิม คือ วังท่าพระ (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) มาประทับที่ตำหนัก ณ ตำบลคลองเตย ทรงเรียกตำหนักที่ประทับนี้ว่า บ้านปลายเนิน

ครั้นล่วงเข้าแผ่นดินสมัยรัชกาลที่หก แม้ ‘สมเด็จครู’ ทรงลาออกจากราชการมาประทับที่ ‘บ้านปลายเนิน’ แล้ว ก็ยังคงทรงงานสนองพระเดชพระคุณในงานช่างและงานประณีตศิลป์ต่างๆ อยู่เป็นนิจ รวมทั้งทรงงานฝีมือสำคัญต่างๆ จากห้องทรงเขียนที่ 'บ้านปลายเนิน'
ภาพถ่าย ‘ตำหนักไทย’ แห่งบ้านปลายเนินเมื่อครั้งแรกเริ่มปลูกสร้างในอดีต
ตำหนักตึก ของ บ้านปลายเนิน

ภายในบริเวณ ‘บ้านปลายเนิน’ มีสิ่งปลูกสร้างหลักๆ คือ ตำหนักไทย (บ้านทรงไทย) และ ตำหนักตึก ซึ่งเป็นอาคารหลังสุดท้ายที่ ‘สมเด็จครู’ ประทับและสิ้นพระชนม์

"สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงงานและทรงนอนที่ตำหนักไทย เป็นเวลา 18 ปี หลังจากท่านเริ่มประชวร ประมาณปีพ.ศ.2474 ทรงสร้างตำหนักตึก ระยะแรกสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ยังทรงทำงานที่ตำหนักไทยเหมือนเดิม แต่ทรงเดินกลับมาบรรทมที่ตำหนักตึก ถามว่าทำไมท่านไม่ย้ายมาอยู่ตำหนักตึก ท่านหญิงไอ(หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาองค์เล็กใน ‘สมเด็จครู’)เคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า สมเด็จครูเคยรับสั่งว่า ‘บ้าน....ถ้าไม่ใช้ จะพัง จะเสื่อมลง’ พอมาถึงช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สมเด็จครูทรงย้ายมาอยู่อาศัยที่ตำหนักตึกแห่งนี้ จึงสิ้นพระชนม์อยู่ที่ห้องบรรทมนี้" ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ผู้สืบศักดิ์เป็นเหลนในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และผู้จัดทำหนังสือ Prince Naris : A Siamese Designer  กล่าวถึง ‘ตำหนักตึก’ ของบ้านปลายเนิน
ห้องบรรทมนี้ ดิฉันเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์แทบจะที่สุดแล้วในบ้านปลายเนิน เพราะสิ่งของต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในห้อง ตั้งอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานมากแล้ว อาทิ เศษเล็บของสมเด็จฯ ที่ทรงตัดแล้วใส่ไว้ในขวด มีผ้าเช็ดหน้าอยู่ในโหล เส้นพระเกศา พระบรมราชอัฐิ-พระอัฐิของราชสกุลจิตรพงศ์ทั้งหมดอยู่ในห้องนี้” ม.ล.จิตตวดี กล่าวถึงห้องบรรทมซึ่งตั้งอยู่ชั้น 2 ของ ตำหนักตึก
ผนังด้านนอก หรือ ฟาชาด (facade) ของตำหนักตึก

ผนังด้านนอก หรือ ฟาชาด (facade) ของตำหนักตึกที่ต่อเนื่องจากห้องบรรทมของ ‘สมเด็จครู’ คือห้องบรรทมและห้องทรงงานของ หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์
“ในเชิงสถาปัตยกรรม ดิฉันเห็นว่าสวยมาก เพราะช่องเปิดที่เห็นทั้งหมด สามารถเปิดได้ทั้งส่วนด้านบนและส่วนด้านล่าง ห้องนี้จึงมีลักษณะคล้ายห้องโถงและห้องระเบียง” ม.ล.จิตตวดี กล่าวถึง 'ฟาชาด' ของตำหนักตึก และว่า มีเพียง ‘วัตถุประหลาด’ หนึ่งชิ้นที่เพิ่มขึ้นมา นั่นก็คือ ‘รอก’ ที่ท่านหญิงไอทรงประดิษฐ์เพื่อชักรอกสิ่งของขึ้นชั้นสอง

‘รอก’ ที่ท่านหญิงไอทรงประดิษฐ์เพื่อชักรอกสิ่งของขึ้นชั้นสอง

ภายในบริเวณ ‘บ้านปลายเนิน’ ยังมี เรือนสีเขียวมิ้นต์ เรือนไม้ที่มี ‘เครื่องประกอบ’ เชิงสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก
ภายใน 'เรือนสีเขียวมิ้นต์' จัดแสดงผลงานศิลปกรรมทรงงานของ 'สมเด็จครู'

เรือนนี้เป็นเรือนที่เราเรียกกันว่า ‘เรือนละคร’ เป็นเรือนที่ท่านหญิงไอทรงออกแบบเอง ทรงเล่าว่าอยากเป็นสถาปนิกเหลือเกิน แต่สมเด็จทวดไม่อนุญาต ท่านก็เลยเรียกตนเองว่าเป็น ‘สถาปนึก’ ท่านพูดในอารมณ์ขันว่า ไม่เรียนก็ไม่เป็นไร  ทำเลยแล้วกัน  ใช้เป็นสถานที่สอนรำไทย ถ้ามองเข้าไปสุดห้อง เป็นกระจกเงาอยู่ปลายตา ถึงเวลาก็มีเด็กๆ ใส่เสื้อสีขาว โจงกระเบนสีแดง เรียงกันอยู่ในห้องนี้” ม.ล.จิตตวดี กล่าวและว่า จนสมัยที่ความนิยมรำไทยมีมากขึ้น ท่านหญิงไอทรงต่อเรือนหลังคาเพิ่มด้านข้างเรือนสีเขียวมิ้นต์ ปัจจุบันเปิดสอนรำไทยให้ผู้สนใจและเด็กๆ ชุมชนคลองเตย แต่ขณะนี้หยุดการสอนรำไว้ชั่วคราว เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการซ่อมบำรุง ‘ตำหนักไทย’

ด้านหลังของเรือนสีเขียวมิ้นต์นี้เอง ได้ก่อเกิดมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังสั่นคลอนมรดกศิลปกรรมของแผ่นดิน
“ถ้าท่านมองไปที่หลังหน้าต่างบานนั้น ที่เห็นเป็นกำแพงสีขาว เป็นที่ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์บริษัทหนึ่งต้องการขึ้นคอนโดประมาณ 36 ชั้น ถ้าได้ตอกเสาเข็มจริง มีความเสี่ยงแค่ไหนกับตำหนักตึกซึ่งห่างไปแค่ยี่สิบสามเมตร และทายาทต้องรีบขนของออกโดยเร็ว สิ่งที่เราจะสูญเสียไปคือประวัติศาสตร์ ตำแหน่งการวางสิ่งของ เราต้องใช้เวลาจดบันทึก ถ่ายภาพ งานอนุรักษ์คือเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าเราไม่จดไว้ ประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะสูญเสียไป” ม.ล.จิตตวดี กล่าว
ศาลาท่าน้ำ (ตั้งอยู่ระหว่างเรือนสีเขียวมิ้นต์กับตำหนักไทย) มุงแป้นเกล็ดไม้สัก อายุมากแล้ว แต่แบบสวยมาก ค่อนข้างโมเดิร์น

‘ตำหนักไทย’ ระหว่างการซ่อมบำรุงเพื่อเปิดเป็น ‘ที่อยู่’ ของศิลปวัตถุและผลงานทรงงานใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ม.ล.จิตตวดี  จิตรพงศ์  อธิบาย ‘แป้นเกล็ดไม้สัก’ อายุมากกว่า 100 ปี ที่ใช้มุงหลังคาตำหนักไทย

ราชสกุลจิตรพงศ์ ดำเนินงานซ่อมแซม ‘ตำหนักไทย’ ด้วยตั้งใจให้เป็น ที่อยู่ของศิลปวัตถุ หมายความว่า เป็นที่อยู่ที่พยายามยืดอายุศิลปวัตถุ คือต้องรักษาอุณหภูมิและระดับความชื้น
“เราไม่ได้รักและหวงแหนศิลปวัตถุเหล่านี้เหมือนกับว่าเป็นของส่วนตัว แต่เราเห็นว่าเป็นสมบัติของคนรุ่นต่อไปในอนาคต พวกเราต้องการให้ศิลปวัตถุเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนรุ่นใหม่มาต่อยอด แล้วสร้างงานใหม่ขึ้นมา ต่อยอดจากอดีต มาที่ปัจจุบัน และนำพาทุกคนไปสู่อนาคต และดิฉันคิดว่าโปรแกรมที่ค่อนข้างทะเยอทะยานอย่างนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยต้องการหรือ ที่จะมี และมีจุดยืนอยู่ในสังคมโลก” ม.ล.จิตตวดี กล่าวในท้ายที่สุด

พาพันขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายบางส่วนจากบ้านปลายเนิน และทายาทรุ่นที่สามและสี่แห่งราชสกุลจิตรพงศ์



 


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่