'พิพัฒน์'ประกาศเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ขู่ทุบโต๊ะขยับ 1 ต.ค.นี้แน่นอน

‘รมว.แรงงาน’ ลั่นเดินหน้าประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 1 ต.ค.นี้แน่นอน หาก ‘5ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง’ ยังเมินร่วม ‘คกก.ไตรภาคี’ เคาะความชัดเจน ให้โอกาสนัดใหม่ 20 ก.ย. นี้ ถ้ายังนิ่งขอเดินหน้าตามเป้าที่ประกาศ วอนทุกฝ่ายช่วยสร้างสมดุลเศรษฐกิจหมุนเวียน แจงเตรียมมาตรการอุ้มช่วยไว้พร้อมแล้ว
 
16 ก.ย.2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างติดภารกิจ ไม่เข้าร่วมประชุมว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (16 ก.ย.) ปลัดกระทรวงแรงงานได้มีการประชุมกับผู้แทนส่วนของลูกจ้าง และผู้แทนส่วนของภาคราชการ คณะกรรมการมาพบกันทั้ง 10 คน โดยตัวแทนฝ่ายนายจ้างทราบว่าติดภารกิจไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมในวันนี้ได้ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานจะได้ทำหนังสือเชิญไปยังกรรมการฝ่ายนายจ้างอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้มีการประชุมในวันศุกร์ที่ 20ก.ย.นี้
 
“ผมขอความกรุณากรรมการฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 ท่าน อย่างไรก็ตามท่านก็ควรมาใช้สิทธิของท่านในฐานะที่ท่านเป็นกรรมการไตรภาคีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งแน่นอนว่าถ้ากรรมการฝ่ายลูกจ้างมาครบ กรรมการฝ่ายราชการมาครบ แต่ถ้าหากท่านไม่มาประชุม ท่านปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดไตรภาคีก็คงมีมาตรการในการที่จะเดินหน้าในการประชุม เพราะด้วยระเบียบและกฎเกณฑ์ของการเรียกประชุม เพราะเรามีกฎเกณฑ์ของเราอยู่แล้ว ผมก็อยากเชิญกรรมการฝ่ายนายจ้างขอให้เข้ามาหารือในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ที่กระทรวงแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ตนได้รับหนังสือจากสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าจังหวัดเกือบทุกจังหวัด รวมถึงสภาอุตสาหกรรมจังหวัดด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นค่าแรง การที่จะพร้อมหรือไม่พร้อมผมขอให้มองถึงมิติว่า ในวันนี้ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้ขึ้นราคาไปล่วงหน้าแล้ว หากรัฐบาลยังไม่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผมคิดว่าเพื่อนๆ ผู้ใช้แรงงานคงรับไม่ไหว ซึ่งต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเราในขณะนี้ไม่ค่อยดี ยังไม่ฟื้นตัว ก็หวังว่าหลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีแพรทองธาร ชินวัตร ได้เข้ามาบริหารประเทศก็น่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการแจกเงินให้กับผู้ด้อยโอกาส หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12 ล้านคน และบัตรคนพิการอีกประมาณ 2 ล้านคนเศษ รวมแล้วประมาณ 14.5 ล้านคน งบประมาณ 145,000 ล้านบาท เมื่อเงินก้อนนี้เข้าสู่ระบบก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนที่ดีขึ้น เศรษฐกิจของเราก็จะค่อยๆ ทยอยดีขึ้น แต่ก่อนที่จะมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบนั้น ขณะนี้งบประมาณในปี 2567 เรากำลังใช้อย่างเต็มที่และมีความมั่นใจว่างบประมาณของปี 2567 ถึงแม้ว่าจะมาช้าแต่เราในฐานะที่เป็นกระทรวงแรงงานรวมถึงกระทรวงอื่นๆ ได้มีการเร่งทำการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้ทันในการสิ้นสุดปีงบประมาณ

"นี่คืออีกส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนและหมุนเวียนได้เร็วขึ้น และหวังว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้งบประมาณจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งเราจะได้เห็นเศรษฐกิจของประเทศไทยเราเจริญเติบโต สอดคล้องกับการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตไม่น้อยกว่า 2.4 - 2.6 ของจีดีพี ซึ่งผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเงินเข้าสู่ระบบแล้วขอให้พวกเราช่วยกันเอามาใช้ทำให้เกิดการหมุนเวียนมาก ทำอย่างไรก็ได้ให้ปีปฏิทิน 2567 กระเตื้องให้ได้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าปีนี้เราทำได้ 3 เปอร์เซ็นต์ ปีหน้าก็มั่นใจว่าเราน่าจะมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตของจีดีพีสูงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ "นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ประการหนึ่งเราคงจะเห็นว่าวันนี้ตลาดหลักทรัพย์ก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีท่านแพทองธาร จะเข้ามาแถลงนโยบาย สิ้นสุดรัฐบาลท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ตลาดหลักทรัพย์เราอยู่ที่ประมาณ 1200 กว่าจุด เมื่อมีการประกาศมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ราคาหรืออินเด็กซ์ของเซตในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยเราขยับจาก 1200 กว่าจุด ปัจจุบันนี้ก็ประมาณใกล้เคียง 1440 กว่าจุด ณ ขณะนี้ ซึ่งมั่นใจว่าตลาดหลักทรัพย์เข้ามาก็แสดงว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นในประเทศไทย เมื่อเงินที่ไหลออกไปก็มีกลับเข้ามาใหม่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ เศรษฐกิจเราจะดีขึ้น แต่มีข้อไม่ดีอย่างนึงก่อนหน้านี้ เงินไหลออก ค่าเงินบาทอ่อนผู้ส่งออกก็จะประสบความสําเร็จ ซึ่งตรงนี้ก็ได้รับ เมื่อขายเป็นยูเอสดอลล่าโอนกลับมาเราได้บาทต่อเหรียญ แต่ขณะนี้เงินนอกเข้ามาสู่ประเทศไทยบาทจะแข็ง ผู้ส่งออกก็จะเสียโอกาสก็คือจาก 36 บาทเหลือ 33 บาทกว่า เพราะฉะนั้นส่งออกเงินบาทแข็ง คู่ค้าที่ส่งออกกําไรน้อยลงแต่ในทางกลับกันบริษัทที่นําเข้าบาทแข็ง เขาก็จะมีต้นทุนที่ถูกลงเพราะฉะนั้นในส่วนนี้ทั้งบริษัทนําเข้าและส่งออกก็จะอยู่ในสถานที่สมดุลกัน ซึ่งเมื่อสมดุลกัน ผมก็จะเอาปัจจัยของความสมดุลของตลาด

นายพิพัฒน์ กล้าวด้วยว่า เราคงจะต้องเดินหน้าตามเป้าหมาย คือ ต้องประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในวันที่ 1ต.ค.นี้ อย่างแน่นอน การที่กรรมการที่เป็นฝ่ายนายจ้างท่านไม่มาประชุม ท่านปลัดกระทรวงแรงงานก็คงจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งที่ 2 ไม่มาประชุมอีก เราจะใช้กรรมการที่มีอยู่ในห้องประชุมแต่ต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เป็นการโหวต เมื่อโหวตตรงนั้นท่านไม่มาใช้สิทธิ์ของท่าน เราถือว่าท่านสละสิทธิ์ เราก็จะต้องโหวตและเดินหน้าไปตามนโยบาย
“สิ่งต่างๆ ผมที่กล่าวในสภาก็หมายความว่า พวกเราชาวกระทรวงแรงงาน เราอยู่ตรงกลางเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องทําอย่างไรให้อยู่ในจุดสมดุลที่ดีที่สุด ตัวผมเอง ท่านปลัด ท่านอธิบดี หรือผู้บริหารในกระทรวงแรงงาน ทุกกรมพวกเราต้องพยายามหาจุดสมดุลให้ดีที่สุด เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กันให้ได้ ส่วนกรณีที่จะต้องมีการเยียวยาจากกระทรวงการคลัง ผมเองได้หารือกับท่านปลัดแล้ว และท่านปลัดได้เดินทางไปเจรจากับทางกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งทางสภาพัฒน์เองก็มีข้อยุติในระดับนึง ส่วนมาตรการของกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของประกันสังคม เรามีข้อยุติเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นก่อนที่จะประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในการประชุมในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เมื่อประชุมเสร็จเราก็จะสรุปและนํามาตรการต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีมาตรการอะไรที่จะไปช่วยเหลือให้กับนายจ้างบ้าง ซึ่งแน่นอนในปี 2555 เรามีประสบการณ์นี้ไปแล้ว เราก็จะล้อประสบการณ์จากปี 2555 มาใช้ให้ได้มากที่สุดสําหรับปี 2567 เช่นกัน” รมว.แรงงาน กล่าว

Cr. https://www.naewna.com/politic/829549

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่