สินมั่นคง ทรัพย์สินเหลือ 5 พันล้าน กปว.เร่งขาย “ตึก-รถยนต์” จ่ายหนี้ ดีเดย์ 9 ก.ย. เปิดระบบรับคำทวงหนี้

กองทุนประกันวินาศภัย ตรวจสอบทรัพย์สิน “สินมั่นคงประกันภัย” พบมีมูลค่าอยู่กว่า 5 พันล้านบาท เป็นเงินสด 2,000 ล้าน เร่งขายอสังหาริมทรัพย์ 17 แห่ง รถยนต์ 250 คัน นำเงินจ่ายคืนเจ้าหนี้ คาดแล้วเสร็จภายใน 2 ปี ดีเดย์ 9 ก.ย.67 ยื่นทวงหนี้ “ผู้จัดการกองทุน” ยันระบบไม่ล่ม 

วันที่ 5 กันยายน 2567 นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า กปว.ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยในเบื้องต้นแล้ว พบว่ามีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ทั้งหมดประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท

แยกเป็นเงินสดกว่า 1,400 ล้านบาท เงินหลักประกันที่วางไว้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประมาณ 600 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ (ตึกสำนักงานใหญ่+สาขา) รวมทั้งหมด 17 แห่ง รถยนต์ประมาณ 250 คัน โดยทางทีมทรัพย์สินจะเร่งดำเนินการจำหน่ายทรัพย์เพื่อแปลงเป็นเงินสด มาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัยโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

“ทั้งนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่า กปว. จะเฉลี่ยทรัพย์ด้วยตัวเอง หรือว่าจะส่งคดีล้มละลายเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาดำเนินการให้แทน” ผู้จัดการ กปว.กล่าว

ดีเดย์ 9 ก.ย. เปิดระบบรับคำทวงหนี้
ส่วนความคืบหน้าการเตรียมการให้ประชาชนยื่นคำขอรับชำระหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย กปว.จะเริ่มเปิดระบบรับคำทวงหนี้ในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สิ้นสุดเวลา 16.30 น. รวมเป็นเวลา 60 วัน ขอเน้นย้ำว่าการยื่นคำทวงหนี้ในครั้งนี้ต้องดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น โดยระหว่างเวลาดังกล่าวระบบจะเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ตลอด 24 ชั่วโมง
 
สำหรับวิธีการยื่นคำทวงหนี้ เข้าสู่ระบบได้ 2 ช่องทางหลักคือ ระบบคุ้มครองสิทธิแบบออนไลน์ https://rps-sev.gif.or.th/Login หรือเข้าผ่านหน้าเว็บไซต์กองทุนประกันวินาศภัย http://gif.or.th โดยสามารถเข้าไปศึกษาคู่มือในการใช้งานเพื่อเข้าสู่ระบบได้เลย ซึ่งจะมีตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนไปจนถึงวิธีการยื่นคำทวงหนี้
สิ่งสำคัญคือเมื่อยื่นคำทวงหนี้เสร็จแล้ว ระบบจะไปสู่หน้าที่ให้กดบันทึกข้อมูล เมื่อดำเนินการเรียบร้อย จะมีข้อความแจ้งให้รับทราบยินยอมข้อมูล จากนั้นเมื่อกดตกลง ระบบจะออกเลขรหัสคำทวงหนี้ให้กับเจ้าหนี้ และระบบจะพากลับไปสู่หน้ายื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหนี้กดพิมพ์เอกสาร โดยเจ้าหนี้ต้องลงลายมือชื่อพร้อมแนบเอกสารหลักฐานตัวจริง ส่งไปรษณีย์มาที่ กองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตู้ ปณ. 1122 ปณศ.จตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

“เราแนะนำว่าให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ในระบบไว้ก่อนภายใน 60 วัน เพื่อรักษาสิทธิ ส่วนเรื่องเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่พร้อม สามารถส่งตามมาทีหลังได้ เพราะถ้าไม่ยื่นคำทวงหนี้ในระบบตามเวลากำหนดจะเสียสิทธิได้”
ยันระบบไม่ล่ม เพิ่มเซิร์ฟเวอร์เป็น 32 ตัว
ทั้งนี้ขอยืนยันว่าระบบยื่นคำทวงหนี้ในครั้งนี้จะสามารถรองรับเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด เพราะฝ่ายไอทีได้มีการเพิ่มระบบเซิร์ฟเวอร์จากเดิม 4 ตัว มาเป็น 32 ตัว และจะมีการจัดทีมมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าเซิร์ฟเวอร์รองรับปริมาณช่วงพีกถึงระดับ 70% ขึ้นไป จะรีบขยายเซิร์ฟเวอร์เข้าไป ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที จึงคาดว่าจะเตรียมการได้ทันก่อนที่ระบบจะช้า
สำหรับเจ้าหนี้ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย คาดว่าจะใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ประมาณ 800,000 – 1,000,000 ราย เนื่องจากขณะที่บริษัทสินมั่นคงประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต มีกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดสัญญาความคุ้มครองเกือบ 8 แสนราย ซึ่งประเมินจำนวนเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ย้ายโอนพอร์ตไปยังบริษัทประกันภัยอื่น จะใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ขั้นต่ำประมาณ 4 แสนราย

และรวมกับเจ้าหนี้ที่มีเคลมค้างจ่ายอีก 484,348 ราย คิดเป็นยอดเงินที่ต้องชำระหนี้ 32,184 ล้านบาท โดยแยกเป็นเจ้าหนี้ประกันภัยโควิด 356,661 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 30,124 ล้านบาท เจ้าหนี้ประกันภัยรถยนต์ 122,228 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 1,945 ล้านบาท และประกันอื่น ๆ อีก 5,459 ราย ยอดหนี้ต้องชำระ 114 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567)
ทั้งนี้เมื่อรวมกับเจ้าหนี้เดิมของ 7 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ได้แก่ บจ.สัมพันธ์ประกันภัย, บจ.เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์, บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย, บมจ.เอเชียประกันภัย 1950, บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ซึ่งมีจำนวนเจ้าหนี้ 552,484 ราย ยอดหนี้ค้างจ่าย 48,394 ล้านบาท กปว.จะต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 1.2-1.4 ล้านราย ยอดชำระหนี้รวม 8 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามหลังเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัยได้ยื่นคำทวงหนี้ครบ 60 วัน น่าจะสรุปจำนวนเจ้าหนี้และยอดหนี้ทั้งหมดได้อย่างชัดเจน

นางณปภัช เดชธัญญนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คปภ. เตรียมความพร้อมสนับสนุนกองทุนประกันวินาศภัย ผ่านระบบสายด่วน คปภ. 1186 ในการจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สำหรับให้คำแนะนำโดยตรง 30 คู่สาย และมีเจ้าหน้าที่ คปภ.ส่วนภูมิภาคในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศคอยให้คำแนะนำกรณีโทรไปแล้วและอาจจะยังดำเนินการไม่ได้ รวมทั้งจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ คปภ.อีกด้วย... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1646302

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่