“อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร มองอย่างไรเรื่อง ม.112, กัญชา, ดิจิทัลวอลเล็ต

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร คือสมาชิกตระกูลชินวัตรคนที่ 4 ที่เข้าสู่อำนาจการเมืองไทย

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับเสียงรับรองโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31

ถือว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของไทย และเป็นสมาชิกตระกูลชินวัตรคนที่ 4 ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ หลายฝ่ายต่างกังวลว่า การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย
ทิศทางแนวโน้มและนโยบายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร จะเป็นอย่างไร บีบีซีไทยประมวลท่าทีจุดยืนของนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ต่อนโยบายสำคัญ ๆ อย่างดิจิทัลวอลเล็ต, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, การนิรโทษกรรมทางการเมือง และกัญชา ดังนี้

ดิจิทัลวอลเล็ต: ยังไม่มีความชัดเจนถึงอนาคตนโยบายเรือธง

ย้อนกลับไปช่วงก่อนการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ปีก่อน น.ส.แพทองธาร ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายที่เมืองทองธานีในค่ำคืนวันที่ 12 พ.ค. โดยเธอกล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า คือโอกาสของประชาชนคนไทยทั้ง 55 ล้านคนจาก 75 ล้านคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเป็นการเตรียมคนไทยเข้าสูยุคเมตาเวิร์สอย่างพร้อมกันและรวดเร็วที่สุดในโลก
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นรัฐบาล รายละเอียดของโครงการนี้ก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่หาเสียงไว้มาก ทว่ายังคงเป็นนโยบายเรือธงของพรรคสีแดงอยู่“ผู้นำคนใหม่มีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี” นายเศรษฐา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตอบผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ตึกไทยคู่ฟ้า หลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เขาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ภายหลังจากการได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลที่จะเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) น.ส.แพทองธาร ประกาศว่า พร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและจะนำพาประเทศเดินหน้าให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ

ส่วนท่าทีต่อการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เธอกล่าวว่า จากการที่ได้คุยหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ยังคงจะรับฟังความเห็นกันต่อไป แต่หวังว่าจะผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ทั้งนี้ น.ส.แพทองธารไม่ได้ตอบชัดเจนว่าจะยกเลิกโครงการนี้หรือไม่ โดยบอกว่าให้ผ่านกระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสร็จสิ้นลงก่อน ถึงจะพร้อมคุยรายละเอียดงานด้านการบริหารประเทศ

วันนี้ (16 ส.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะต้องรอการพูดคุยร่วมกันระหว่างรัฐบาลร่วมก่อน

และเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าพรรคเพื่อไทยจะเสียความน่าเชื่อถือหรือไม่หากโครงการเรือธงไม่ได้ไปต่อ เขาบอกว่า “ขณะนี้ยังไม่ถึงตรงนั้น ว่าจะทำต่อไปหรือไม่ทำต่อไป ฉะนั้น อย่าพึ่งไปพิจารณาขอให้รอดู ว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร”

พร้อมกันนี้เขายังบอกด้วยว่าตนเองไม่เคยได้ยินการท้วงติงโครงการนี้จากนายทักษิณ และได้ยินครั้งแรกก็จากสื่อ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่มีกระแสข่าวว่านายทักษิณท้วงติงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้นมีข้อเท็จจริงเพียงใด

หลังการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยจบลง น.ส.แพรทองธาร แถลงขอบคุณเสียงสนับสนุนจาก สส. ที่เห็นชอบให้เธอดำรงตำแหน่ง แต่ปฏิเสธตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยบอกว่า “รอการโปรดเกล้าฯ ก่อน” ถึงจะพูดรายละเอียดงานบริหาร

มาตรา 112: เห็นปัญหา ไม่ยกเลิก ไปคุยกันในสภา

ในช่วงการหาเสียงให้พรรคเพื่อไทยเมื่อปีก่อน ลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณชินวัตรบอกกับบีบีซีไทยว่า เห็นปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 แต่หากตนเองขึ้นเป็นรัฐบาล จะขอแก้ไขปัญหาปากท้องก่อนในช่วง 5-6 เดือนแรก

เธอยังให้สัมภาษณ์กับเดลินิวส์ออนไลน์เมื่อ มี.ค. 2566 ด้วยว่า “112 ในสิ่งที่ขอแก้กัน สำหรับอิ๊ง ไม่ใช่การล้มเจ้า” โดยระบุว่าปัญหาของกฎหมายมาตรานี้คือการเปิดช่องให้ใครฟ้องร้องก็ได้ ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และส่งผลให้มีคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยเธอเห็นว่าควรกำหนดผู้ฟ้องร้องและโทษให้ชัดเจน แต่ก็เน้นย้ำในการสัมภาษณ์ดังกล่าวด้วยว่าเรื่องนี้ “ต้องไปถกกันที่สภา”

ก่อนการเลือกในปี 2566 ประมาณ 1 สัปดาห์ น.ส.แพทองธารยังได้ไปออกรายการกับนายคชาภา ตันเจริญ หรือ มดดำ พร้อมมีนายเศรษฐา ทวีสิน ร่วมรายการไลฟ์สดดังกล่าวด้วย และเมื่อถูกถามเกี่ยวกับ ม.112 เธอยืนยันชัดเจนว่าทั้งตัวเธอและพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ยกเลิกมาตรา 112

“ทันทีที่เราเป็นรัฐบาล เราก็จะขอความเมตตาจากศาลที่มีน้อง ๆ ที่ไปติดคุกอยู่หรืออะไรอย่างนี้ให้พิจารณาว่าอย่างไรต่อ เราต้องกำหนดตัวบทกฎหมาย ใครฟ้อง โทษของมัน maximum (ขั้นสูงสุด) อยู่ที่ตรงไหน เพราะว่าตอนนี้มันถูกดึงเอามาเป็นเกมการเมือง อันนี้คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีความสุขเรื่องนี้ ถ้าเราดึงมาเล่นแบบนี้มันไม่ใช่ มันต้องคิดว่าคนที่ฟ้องได้ สำนักพระราชวังไหม”

“คือบ้านเมืองเราต้องมีกษัตริย์ เราก็ต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองท่าน แต่ไม่ใช่ให้ประชาชนเอากฎหมายนี้มาเป็นเกมการเมือง ใครฟ้องอะไร ตาสีตาสาฟ้องได้หมด มันก็ไม่ใช่ เราต้องฟังเสียงประชาชน” น.ส.แพทองธาร กล่าวในไลฟ์สดดังกล่าว

ถึงกระนั้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำรัฐบาล ก็ยังไม่เกิดการผลักดันเรื่อง ม.112 ในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งศาลอาญายังได้รับฟ้องนายทักษิณในคดีความผิดตาม ม.112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีเมื่อปี 2558

ถึงแม้คนในครอบครัวตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้เช่นกัน และเธอก็เห็นว่าการฟ้องร้องผู้เป็นบิดา “มีการบิดเบือนความจริงตั้งแต่แรกที่ฟ้อง” จากการรายงานของเดอะ สแตนดาร์ด แต่หาก น.ส.แพทองธาร ผู้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดของไทยต้องการรักษาเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เธอก็อาจไม่สามารถเสนอแก้ไข ม.112 ได้ เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และชาติไทยพัฒนา มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่แก้ไขและไม่แตะต้องมาตรานี้

กัญชา: ไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี แต่เพื่อไทยยังต้องแคร์ภูมิใจไทย

ในช่วง มี.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป น.ส.แพทองธาร เดินสายหาเสียงและขึ้นปราศรัยใน จ.บุรีรัมย์ ฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทยผู้ผลักดันนโยบายกัญชา โดยเธอแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี

“หันไปทางไหนก็มีแต่ยาเสพติดเต็มไปหมด แถมกัญชาเสรียังมาอีก พี่น้องอยากได้กัญชากันจริง ๆ เหรอคะ” เธอกล่าว “ลูกหลานที่ยังไม่มีความนึกคิดเหมือนเราที่เป็นผู้ใหญ่ เด็ก ๆ อ่ะ ให้เขามีกัญชาในครอบครอง มันดีจริง ๆ เหรอคะ” หลังพูดจบมีเสียงผู้คนที่ชมปราศรัยตะโกนขึ้นมาว่า “ไม่ดี”

หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในขณะนั้นกล่าวต่อว่า “เห็นด้วยค่ะพี่น้อง ดิฉันเองนึกถึงลูก นึกถึงหลานของตัวเองนะคะ ก็ไม่อยากให้กัญชาเป็นสิ่งที่หาง่าย ไปทางไหนก็เห็นแต่คนเมากัญชาเต็มไปหมด”

เมื่อเพื่อไทยขึ้นเป็นรัฐบาลในช่วงแรกก็ได้มีความพยายามจะนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด โดยในเดือน ก.พ. 67 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่ามีแนวคิดจะแบนการใช้กัญชาเพื่อการสันธนาการภายในสิ้นปี 2567

รวมถึงต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จุดยืนของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการพยายามควบคุมการใช้กัญชาก็ยังไม่เปลี่ยน โดยนายสมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าจากผลการรับฟังความคิดเห็น คนไทยกว่า 80% อยากให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ต่อมาในวันที่ 5 ก.ค. คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดหรือบอร์ดยาเสพติด มีมติให้กัญชาและกัญชงกลับเข้าสู่บัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พิจารณาต่อ โดยตั้งเป้าว่าจะประกาศบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ม.ค. ปีหน้า

แต่จุดยืนในการควบคุมการใช้กัญชาของพรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนไป เมื่อการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่เสร็จสิ้นลง และดุลยภาพทางการเมืองได้เทมาที่พรรคภูมิใจ โดยพบ สว. สายสีน้ำเงินจำนวนมากนั่งอยู่บนสภาสูง

ล่าสุด อดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กลับลำประกาศว่าจะไม่นำกัญชาและกัญชงกลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกต่อไป แต่ให้เดินหน้าออกกฎหมายควบคุมกัญชา-กัญชงแทน ซึ่งสื่อหลายสำนักมองว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “ดีลเขาใหญ่” หลังมีการแพร่ภาพครอบครัวชินวัตรนำโดยนายทักษิณ ได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดกับกลุ่มทุนพลังงาน แกนนำพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยด้วย

ที่มา :BBC
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่