สรุป สิ่งที่ไทยควรทำ เพื่อการเติบโตของประเทศ จากคำแนะนำของ World Bank

สรุป สิ่งที่ไทยควรทำ เพื่อการเติบโตของประเทศ จากคำแนะนำของ World Bank /โดย ลงทุนแมน “ติดหล่ม โตช้า โลกลืม” นี่คือคำนิยามของเศรษฐกิจไทย ที่หลายฝ่ายตั้งให้ในช่วงที่ผ่านมา คำถามคือ แล้วเราจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจไทย กลับมาโตได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

 “ตามติดเศรษฐกิจไทย ปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง”  รายงานฉบับล่าสุดที่จัดทำโดย World Bank หรือธนาคารโลก  ได้สรุปถึงทุกปัญหาที่เราต้องเจอ และได้แนะนำถึงสิ่งที่เราควรทำ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และป้องกันวิกฤติ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แล้วรายงานนี้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง  ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

 ก่อนจะไปถึงเรื่องวิธีแก้ เรามาดูกันก่อนว่า ปัญหาที่ World Bank มองว่า ไทยกำลังเจออยู่ตอนนี้ มีเรื่องอะไรบ้าง

1. การพัฒนาเมือง มุ่งเน้นที่กรุงเทพฯ มากเกินไป โดยเมื่อดูจาก GDP จะพบว่า GDP ของกรุงเทพฯ นั้น มากกว่าจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาอย่างชลบุรี ถึงเกือบ 40 เท่า  ซึ่งต่างจากมาเลเซีย ที่อยู่ที่เพียง 8 เท่า  อินโดนีเซีย 6 เท่า  และเวียดนามที่ 3 เท่า เท่านั้น และเมื่อความเจริญกระจุกตัวอยู่แต่ที่กรุงเทพฯ ก็ทำให้กรุงเทพฯ แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เกิดหลายปัญหาตามมา  ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการเดินทางและการขนส่ง ที่ต้องใช้เวลานานขึ้น และยังมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น  รวมถึงราคาที่ดินและที่อยู่อาศัย ก็เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ภาระทางการเงินของทั้งลูกจ้างและนายจ้างเพิ่มขึ้นตาม โดยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย จากการที่อุตสาหกรรมสำคัญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ  เพราะ 70% ของความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนั้น มาจากภาคการผลิตในกรุงเทพฯ และบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ ความแออัดของกรุงเทพฯ ยังทำให้เกิดปัญหามลภาวะตามมา ซึ่งกระทบต่อทั้งคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนในเมือง

2. หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว  โดยหนี้ครัวเรือนไทย สูงถึง 91.6% ของ GDP เมื่อ ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน  และในเรื่องหนี้ครัวเรือน ก็มีสิ่งที่น่าเป็นกังวลอยู่ 2 ประเด็น   - หนี้ครัวเรือนไทย เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันสูงถึง 44% ของ GDP  - อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของคนลดลง และอาจทำให้การบริโภคลดลงตาม

3. อัตราการเกิดลดลง และจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น  โดยจำนวนบุตรต่อครอบครัวของคนไทย ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2513 จากแต่ก่อนที่คนไทย มีบุตรกันถึง 6 คนต่อ 1 ครอบครัว ตอนนี้เหลือเฉลี่ยเพียงแค่ 1.3 คนต่อ 1 ครอบครัวเท่านั้น ซึ่งเมื่อคนเกิดใหม่ลดลง และประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือ กำลังแรงงานที่ลดลง และภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้น จนกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐ และทั้ง 3 ข้อที่พูดมานี้ ก็คือสาเหตุที่ทำให้ศักยภาพการเติบโต (Potential Growth) ของไทยลดลง โดยจากปกติที่เรามีศักยภาพในการเติบโตได้ถึง 3.2% ในช่วงปี 2554 ถึงปี 2564  แต่ในวันนี้ ศักยภาพในการเติบโตของไทย เหลืออยู่เพียง 2.7% ต่อปีเท่านั้น  

ทีนี้ เมื่อเรารู้ปัญหาแล้ว คำถามถัดมาคือ แล้วเราจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ได้อย่างไร ? โดยสิ่งที่ World Bank แนะนำก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

- ปรับปรุงระบบการศึกษา และระบบบริการด้านสุขภาพ  

- ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐ และส่งเสริมความเสมอภาค

- ลดความไม่แน่นอนของนโยบายต่าง ๆ เช่น ความต่อเนื่องของนโยบาย หรือความชัดเจนในตัวนโยบาย

- ลงทุนในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ เพิ่มศักยภาพแรงงาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ World Bank พูดถึงมากที่สุดก็คือ เรื่องของการพัฒนาเมืองรอง  โดยในช่วงที่ผ่านมา เมืองรองของไทย ยังไม่สามารถแข่งขันกับเมืองอื่น ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองของไทย ที่มุ่งเน้นไปที่กรุงเทพฯ มากเกินไป  
นอกจากจะเป็นสิ่งที่ลดศักยภาพการเติบโตของเมืองรองแล้ว ยังทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองแออัด และกลายเป็นเสมือนศูนย์รวมในหลาย ๆ ด้านของไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีเมืองใดที่สามารถเป็นได้ทุกสิ่ง  โดยการพัฒนาเมืองรอง ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาความแออัดในกรุงเทพฯ แต่ยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น
- ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับบุคคลและธุรกิจ ภายในพื้นที่  
- ช่วยบรรเทาความยากจน ในพื้นที่ชนบท
- ช่วยเพิ่มผลผลิตของประเทศ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับโลก

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าปัญหาทั้งหมดที่ทาง World Bank พูดถึง ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เราได้ยินกันมาอย่างยาวนาน และหลายต่อหลายครั้ง   เช่นเดียวกับในส่วนของวิธีแก้ที่ทาง World Bank แนะนำ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเคยพูดถึงมาแล้วเช่นกัน หรือจริง ๆ แล้วคำถามที่สำคัญ อาจไม่ใช่ว่า “ปัญหาของเราคืออะไร”  หรือ “เราจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไร” แต่เป็นว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เรา ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้  หรือในบางเรื่อง อาจจะต้องถามว่า ปัญหาเก่า ๆ เหล่านี้  ทำไมเราถึงไม่แก้ไขมันสักที..

Reference -https://www.worldbank.org/en/country/...
ที่มา ลงทุนแมน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่