JJNY : ‘พิธา’ นำทีมลงชุมชนริมทางรถไฟ│‘อนุดิษฐ์’แนะทุ่มงบฯ ต้องได้ชดเชย│ราคาทอง ขยับขึ้นอีก│ส่งออกทุเรียนเวียดนามสดใส

‘พิธา’ นำทีมก้าวไกล ลงพท.ชุมชนริมทางรถไฟ รับฟังปัญหาปมที่ดิน ชี้ยืดเยื้อมานาน ต้องการทางออกให้ทุกฝ่าย
https://www.matichon.co.th/politics/news_4702909

‘พิธา’ นำทีมก้าวไกล ลงพท.ชุมชนริมทางรถไฟ รับฟังปัญหาปมที่ดิน ชี้ยืดเยื้อมานาน ต้องการทางออกให้ทุกฝ่าย
 
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ, นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม. และ นายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร เพชรบุรี ซอย 5 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน
 
นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาชุมชนริมทางรถไฟในเขตราชเทวีมีมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นอย่างน้อย สืบเนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอีอีซี ต่อมาเมื่อผู้ว่า กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามา ก็มีการพูดคุยว่าจะทำพื้นที่อยู่อาศัยแนวสูงซึ่งขัดกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน แม้ชุมชนแห่งนี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ แต่ชาวบ้านก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ยาวนานกว่า 3 ชั่วอายุคน ดังนั้นต้องหาทางออกที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพราะปัจจุบันประชาชนไม่ได้รับความชัดเจนมาเกือบ 10 ปี เป็นปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจ วันนี้ตนอยากใช้เวลาเพื่อรับฟังปัญหา เข้าใจภาพรวมอย่างแท้จริง จะได้นำไป “พูดแทนราษฎร” และออกแบบแก้ไขปัญหาต่อไป
 
ถัดจากการเยือนชุมชนบุญร่มไทร นายพิธาและคณะเดินทางต่อไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมักกะสัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่มาจากครอบครัวที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับครอบครัวที่ต้องเผชิญกับปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัย โดยพิธากล่าวว่าจะแก้ปัญหาของศูนย์เด็กเล็กฯ ได้ ต้องแก้ 3 ข้อที่เป็นอุปสรรค 1.แก้ไขระเบียบ 2.แก้โครงสร้าง 3.แก้งบประมาณ โดยเรื่องการจัดสรรงบประมาณนั้น กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสภา กทม. เร็วๆ นี้



‘อนุดิษฐ์’ แนะ ทุ่มงบฯหลายหมื่นล้านซื้อเครื่องบินรบ ต้องได้ผลประโยชน์ชดเชยไม่ต่ำกว่าที่จ่ายไป
https://ch3plus.com/news/political/ch3onlinenews/410087

วันนี้ (26 ก.ค.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต สส.กทม. และอดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะอดีตผู้บังคับฝูงบินขับไล่สกัดกั้นที่ 102 (F-16) กองทัพอากาศ (ทอ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “EP 2 : นโยบายชดเชยและข้อเสนอการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง จากล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin)” ซึ่งเป็นการติดตามการจัดหาเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนฝูงบินเก่าที่กำลังจะปลดประจำการในปีงบประมาณ 2568 งบประมาณกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทของ ทอ. เป็นตอนที่ 2

สาระสำคัญกล่าวถึงข้อเสนอของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่ได้แถลงข่าวพร้อมมอบข้อเสนอชดเชยทางเศรษฐกิจ และ การมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง”ให้กับประเทศไทย (Offset / a robust industrial participation proposal) จำนวน 7 ข้อก่อนหน้านี้ ซึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์ มองว่าข้อเสนอฟังดูดีทุกข้อ แต่ต้องการให้ ทอ.และหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรรมการจัดซื้อฯ สอบถามรายละเอียดแต่ละข้อเสนอให้ชัดเจนในทุกด้าน และสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อความโปร่งใสด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์ ได้ยกตัวอย่าง 3 ข้อที่ทางบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ได้ระบุในการเสนอขาย (Proposal) F-16 Block 70/72 ให้แก่ประเทศไทย คือ ผลประโยชน์ด้านที่ 1 คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research & Development Center) เพื่อยกระดับแรงงานไทยในหลากหลายด้าน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ฟังดูดี แต่กรรมการจัดซื้อฯ ต้องถามกลับไปว่า บริษัทฯต้องการจะทำอะไรบ้าง ทำแค่ไหน ขอให้ระบุรายละเอียดแผนการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวลงไปด้วย ว่าจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร และมีเป้าหมายในการยกระดับแรงงานไทยแค่ไหน อย่างไร เพราะหากไม่มีรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ ก็พูดยากว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายชดเชย หรือ Offset Policy หรือไม่
ส่วนผลประโยชน์ด้านที่ 2 คือ การฝึกอบรมวิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง (Advanced aerospace engineering training) ให้กับพันธมิตรในไทย รวมถึงกองทัพอากาศไทยนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า ต้องระบุหัวข้อและรายละเอียดมาให้ด้วยว่า จะมีการฝึกอบรมวิศวกรรมอากาศยานขั้นสูงในหัวข้ออะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากประเทศไทยเสนอว่าต้องการสร้าง UCAV (อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ หรือโดรนต่อสู้) ได้เอง บริษัทฯ จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทยสามารถสร้าง UCAV ได้เองหรือไม่ เป็นต้น
 
น.อ.อนุดิษฐ์ ยังระบุถึง ผลประโยชน์ด้านที่ 3 คือ การพัฒนาแรงงานในภาคการผลิต (Manufacturing workforce development) สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องว่า มีความสำคัญ โดยหากทางบริษัทฯ ต้องการให้เกิดการพัฒนาแรงงานในภาคการผลิตนี้ได้จริง และจับต้องได้ ในเอกสารข้อเสนอต้องมาพร้อมเอกสารข้อตกลง รวมถึงผู้ร่วมมือที่จะต้องผลิตตามข้อผูกพันเพื่อส่งมอบแก่ Lockheed Martin โดย ทอ. ต้องนำเอกสารเหล่านั้นตรวจสอบเพื่อเปรียบเทียบกับ Saab จากสวีเดน ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ Gripen (กริพเพน) ซึ่งเสนอขายเครื่องบิน JAS 39 Gripen E/F ด้วย

ในการจัดซื้อเครื่องบิน ต้องระบุการจ้างงานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทยดังกล่าวไว้ในสัญญาในปริมาณหรือมูลค่าที่ตกลงร่วมกัน ควบคู่ไปกับการอบรมระหว่างปฏิบัติงาน (On the Job Training) จึงจะเห็นผลและจับต้องได้จริง และผลงานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าว จะต้องเป็นหนึ่งในหัวข้อการตรวจรับงวดงานด้วย เช่นเดียวกับสัญญาที่ ทอ.เคยมีกับบริษัท Textron ในโครงการ T-6, AT-6 มาแล้ว” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
 
น.อ.อนุดิษฐ์ ย้ำด้วยว่า การจะซื้อเครื่องบินรบจากสหรัฐอเมริกา หรือ สวีเดน โดยการใช้นโยบายชดเชย หรือ Offset Policy นั้น ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ซื้อย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในการต่อรองเงื่อนไขต่างๆ และข้อเสนอที่แต่ละประเทศเสนอมานั้น เป็นเรื่องที่สามารถเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้งานคือ ทอ. และด้วยข้อเสนอจากนโยบายชดเชยต่างๆ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาสู่ประเทศไทยในรูปแบบต่างๆมากมาย ทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ให้พึ่งพาตนเองและเป็น S Curve ตัวที่ 11 ที่สร้างรายได้กลับคืนมาให้กับประเทศอีกด้วย
 
ที่สำคัญและห้ามบกพร่องเด็ดขาดก็คือ รัฐบาลไทยต้องต่อรองให้ข้อเสนอทุกข้อ ชดเชยกลับมาในรูปแบบต่างๆ ที่คำนวณแล้วมีมูลค่าไม่ต่ำหรือมากกว่างบประมาณที่เราต้องเสียไป ประเทศไหนมีข้อเสนอๆชัดๆ คำนวณได้จริง จับต้องได้ ก็น่าเชียร์” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
 
น.อ.อนุดิษฐ์ ทิ้งท้ายด้ยยว่า ข้อเสนอของ Lockheed Martin ยังเหลืออีก 4 ข้อ และถ้ามีความชัดเจนมากกว่านี้ ก็ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยจะมาเล่าให้ฟังต่อใน EP 3  รวมทั้งรายละเอียดที่ Saab ของสวีเดนจะเสนอให้แก่ประเทศไทย ที่กำลังหาข้อมูลอยู่



ราคาทองวันนี้ 27 ก.ค.67 เช้าวันเสาร์ ขยับขึ้นอีก รีบเลย เทียบราคาวานนี้.
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_777777857664

ราคาทองวันนี้ สมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาเช้าวันเสาร์ ขยับขึ้นอีก เทียบราคาสุดท้ายวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ทองรูปพรรณขายออกบาทละ 41,150 บาท
 
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาทองคำวันนี้ (27 ก.ค. 2567) ขยับขึ้น 100 บาท เมื่อเทียบกับราคาสุดท้ายเมื่อวานนี้ โดยราคาขายออกทองรูปพรรณ อยู่ที่ 41,150 บาท อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากสมาคมค้าทองคำ ที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา ส่วนทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศ รับซื้ออยู่ที่บาทละ 40,550 บาท ขายออกที่ราคาบาทละ 40,650 บาท ตามประกาศครั้งที่ 1
 
ด้านราคาทองรูปพรรณ รับซื้ออยู่ที่บาทละ 39,825.32 บาท ราคาขายออกบาทละ 41,150 บาท ส่วนราคาทองคำโลก หรือ Gold Spot อยู่ที่ 2,389.00 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
ราคาทองวันนี้ 26 ก.ค.67 ร่วงลงอีกแล้ว หลังดิ่งแรงมาก เทียบราคาวานนี้
 
สรุปราคาทองคำ วันที่ 27 ก.ค. 2567
ประกาศครั้งที่ 1
ทองแท่ง
• รับซื้อ บาทละ 40,550 บาท
• ขายออก บาทละ 40,650 บาท
ทองรูปพรรณ
• รับซื้อ บาทละ 39,825.32 บาท
• ขายออก บาทละ 41,150 บาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่