ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์สูงเป็นประวัติการณ์! คนกู้ซื้อรถไม่ได้

ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์สูงเป็นประวัติการณ์! ‘คนกู้ซื้อรถไม่ได้ แห่จำนำเพิ่ม’ เกิดอะไรขึ้นกับตลาดรถยนต์ไทย?

จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดรถยนต์ไทย? หลังยอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์สูงเป็นประวัติการณ์ สะท้อนว่าคนกู้ซื้อรถไม่ได้ ด้านสมาคมลีสซิ่งไทยคาดภาพรวมยอด Rejection Rate ทั้งปีอาจแตะ 40% ท่ามกลางภาวะที่คนแห่จำนำทะเบียนรถเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หวั่นยอดขายรถยนต์ในไทยปีนี้ร่วง หลังติดลบ 11 เดือนติดแล้ว
 
วันที่ 17 มิถุนายน บุญหนา จงถิ่นสุวรรณ นายกสมาคมผู้เช่าซื้อไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ข้อมูลยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ใหม่เพิ่มเป็น 20% จากช่วงเดียวปีก่อนอยู่ที่ 15% ส่วนสินเชื่อรถยนต์มือสองมี Rejection Rate เพิ่มเป็น 30% จาก 20% ซึ่งมีผู้ประกอบการบางรายมียอด Rejection Rate พุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 40-50% ซึ่งประเมินว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มียอด Rejection Rate คิดเป็นมูลค่ารวมราว 7-8 หมื่นล้านบาท

เปิดสาเหตุ ทำไมยอดปฏิเสธพุ่ง
 
สำหรับสาเหตุของยอด Rejection Rate ที่เพิ่มสูงขึ้น บุญหนามองว่ามาจากปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการลีสซิ่งที่เป็นกลุ่ม Non-Bank ตั้งแต่ในปี 2566 ต่อเนื่องถึงปี 2567 มีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2566 ที่มีกระแสข่าวว่ามีการรณรงค์ในโซเชียลมีเดียในการ ‘คืนรถ จบหนี้’ เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เพราะจากคำพิพากษาของศาลฯ ที่ออกมาสามารถทำได้ ส่งผลให้ปี 2566 ผู้ประกอบการลีสซิ่งต้องแบกรับผลขาดทุนจำนวนมาก ประกอบกับปีนี้ผู้ประกอบการลีสซิ่งกลุ่ม Non-Bank เองก็มีความเข้มงวดอย่างมากในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งจะดู 2 ประเด็น คือ 1. ความสามารถในการคืนหนี้ของผู้กู้ และ 2. ความต้องการนำรถไปใช้จริง และความจำเป็นในการใช้รถยนต์มาใช้พิจารณาร่วมด้วย จึงสะท้อนไปยัง Rejection Rate ที่สูงขึ้น
 
ขณะที่ผู้ประกอบการลีสซิ่งที่เป็นกลุ่ม Non-Bank ตั้งแต่ในปี 2566 ต่อเนื่องถึงปี 2567 มีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2566 ที่มีกระแสข่าวว่ามีการรณรงค์ในโซเชียลมีเดียในการ ‘คืนรถ จบหนี้’ เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เพราะจากคำพิพากษาของศาลฯ ที่ออกมาสามารถทำได้ ส่งผลให้ปี 2566 ผู้ประกอบการลีสซิ่งต้องแบกรับผลขาดทุนจำนวนมาก ประกอบกับปีนี้ผู้ประกอบการลีสซิ่งกลุ่ม Non-Bank เองก็มีความเข้มงวดอย่างมากในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งจะดู 2 ประเด็น คือ 1. ความสามารถในการคืนหนี้ของผู้กู้ และ 2. ความต้องการนำรถไปใช้จริง และความจำเป็นในการใช้รถยนต์มาใช้พิจารณาร่วมด้วย จึงสะท้อนไปยัง Rejection Rate ที่สูงขึ้น
 
“การคืนรถ จบหนี้ เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการลีสซิ่งกลัวมากที่สุด ส่งผลให้ตัวเลข Rejection Rate พุ่งขึ้นนิวไฮ ซึ่งคนภายนอกไม่ค่อยรู้ จึงคิดไปว่าเศรษฐกิจไม่ดีทำให้คนไม่ซื้อรถ แต่จริงๆ แล้วคนยังต้องการซื้อรถเหมือนเดิม ปัญหาที่เกิดขึ้นทำเราให้ต้องมีการ Revise สัญญาเช่าซื้อใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนวิธีและรูปแบบระบบการดำเนินคดีใหม่ทั้งหมดในกรณีที่ลูกค้าทำผิดสัญญา เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการซื้อรถไปแล้วนำรถมาคืนเพื่อจบหนี้”
 
อีกทั้งยังมีประเด็นจากการที่ประชาชนบางส่วนมีกำลังซื้อที่ลดลง จากผลกระทบที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย
 
คาดยอดปฏิเสธทั้งปี ‘นิวไฮ’ ยอดขายรถทั้งปีจ่อ ‘ติดลบ’
 
โดยบุญหนาคาดว่า ภาพรวมยอด Rejection Rate ทั้งปีนี้อาจอยู่ที่ระดับ 30-40% หรือน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 4 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้ทั้งปี 2567 จะมียอด Rejection Rate สินเชื่อรถยนต์ออกมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์หรือนิวไฮด้วยเช่นกัน
 
บุญหนากล่าวต่อว่า สมาคมผู้เช่าซื้อไทยประเมินยอดขายรถยนต์ใหม่ในทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 725,000 คัน ลดลงจากปีก่อนประมาณ 6.5% ที่มียอดขายประมาณ 770,000 คัน เนื่องจากผลกระทบของ Rejection Rate ที่เพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าในปี 2567 จะเป็นปีที่เป็นจุดต่ำสุดของธุรกิจลีสซิ่งรถยนต์ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสที่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไปตามภาพรวมเศรษฐกิจที่เริ่มตัวดีขึ้น หลังจากเริ่มมีเม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งในปี 2568 มีโอกาสที่โมเมนตัมของตลาดขายรถยนต์จะดีขึ้น โดยมีโอกาสที่ยอดขายจะทยอยดีขึ้นไปสู่ระดับประมาณ 770,000 คัน หรือเติบโตประมาณ 5% ส่วนหนึ่งยังมีดีมานด์ของรถยนต์ EV ที่มีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย เพราะในช่วงปลายปี 2567 จะมีปัจจัยบวกของแบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid-State Battery) จะเริ่มถูกนำมาใช้ ส่งผลให้แบตเตอรี่ชาร์จได้เร็วและวิ่งได้นานขึ้น จะทำให้มีดีมานด์รถ EV เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ทดแทนรถยนต์สันดาปด้วย อีกทั้งประเมินว่ายอด Rejection Rate ในปี 2568 จะลดลงมาสู่ระดับ 15-20%
 
แบงก์ชาติเรียกตัวแทนอุตสาหกรรม-ค่ายรถ-เช่าซื้อ ‘หารือ’
 
สำหรับในวันที่ 17 มิถุนายน แหล่งข่าวผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นัดหารือกับภาคเอกชนต่างๆ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เข้าไปให้ข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงจาก ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย, สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย รวมถึงค่ายผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งถือเป็นภาคส่วน (Sector) ขนาดใหญ่มาก และมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย เพื่อนำไปประเมินต่อผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย
 
“ตอนนี้มองว่าผู้ผลิตรถยนต์กับชิ้นส่วนของรถสันดาปกำลังเดือดร้อนจริง จากกระแสรถ EV ที่จะเข้ามาทดแทน แต่กลุ่มลีสซิ่งไม่ได้กระทบเท่าไร เพราะเราสามารถปล่อยสินเชื่อได้ทั้งรถน้ำมันกับรถEV”
 
โดย บุญหนา จงถิ่นสุวรรณ นายกสมาคมผู้เช่าซื้อไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ย้ำว่า ตนเองไม่ได้เข้าประชุมร่วมกับ ธปท. เมื่อในวันที่ 17 มิถุนายน จึงไม่ทราบรายละเอียดกับข้อมูลที่เกิดขึ้นในที่ประชุมครั้งนี้ แต่ข้อมูลที่ให้สัมภาษณ์เป็นข้อเท็จจริงที่เกิด และเป็นความเห็นในฐานะผู้ประกอบที่อยู่ในอุตสาหกรรม

ที่มา : The Standard
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่