รัฐจับตา แรงงาน 3.9 หมื่นตกงาน หลังบริษัทผลิตรถสันดาปยอดดิ่ง สู้ตลาดอีวีไม่ไหว

ห่วงแรงงานกลุ่มออโตโมทีฟกว่า 3.9 หมื่นคนใน 137 สถานประกอบการที่แปดริ้วกระทบ หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในหดตัว ยอดขายลดวูบลงต่ำเกินกว่าครึ่ง เหตุผู้คนเริ่มหันไปสนใจใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทดแทนเพิ่มมากขึ้น ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฉะเชิงเทราเผย ปี 2567 เริ่มมีแรงงานถูกนายจ้างบอกเลิกจ้างแล้ว 1 รายรวม 104 คนในโรงงานผลิตหลอดไฟ LED

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก นางสุวรรณา ขันติวิศิษฎ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ในวันนี้เวลา 15.00 น. ได้นัดตัวแทนฝ่ายนายจ้างโรงงานผลิตหลอดไฟฟ้าแอลอีดีรายหนึ่ง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิติ้ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ให้เดินทางมาเจรจาและให้ข้อเท็จจริงจากทางฝ่ายนายจ้าง หลังจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (สร.) จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับคำร้องเรียนจากลูกจ้างของสถานประกอบการแห่งนี้ จำนวน 98 คน จาก 104 คน ที่ถูกบอกเลิกจ้างงาน

แต่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยจากการบอกเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งที่หลังการบอกเลิกจ้างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย.67 ที่ผ่านมา ตามที่ฝ่ายนายจ้างได้ตกลงว่าจะจ่ายเงินตามมาตรา 75 ซึ่งเป็นค่าทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยในวันที่ 30 พ.ค.67 แต่เมื่อถึงวันกำหนดนัดแล้ว ฝ่ายนายจ้างยังไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ฝ่ายลูกจ้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,570,059 บาท

จึงทำให้ฝ่ายลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ไม่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่อนสินค้าและยานพาหนะ ได้พากันเริ่มทยอยเข้ามาพบพนักงานตรวจแรงงานยังที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อยื่นคำร้องทุกข์ (คร.7) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.67 จำนวน 47 คน และได้มีแรงงานทยอยยื่นคำร้องทุกข์อย่างต่อเนื่องผ่านทั้งทางระบบออนไลน์และทาง สร.ในต่างจังหวัดตามภูมิลำเนา เช่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา ทั้งยังเข้ามายื่น คร.7 ด้วยตนเองที่ สร.ฉะเชิงเทราเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก รวมขณะนี้ 98 คนแล้วในวันนี้

ที่ผ่านมา สร.ฉะเชิงเทรา ได้ออกหนังสือเชิญพบนายจ้างให้เดินทางมาในวันนี้ (7 มิ.ย.67) เวลา 15.00 น. แต่ปรากฏว่าฝ่ายนายจ้างยังไม่เดินทางมาพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องทุกข์ โดยที่ฝ่ายนายจ้างได้ขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานตรวจแรงงานไปเป็นวันที่ 13 มิ.ย.67 เวลา 14.00 น. โดยระบุว่า เอกสารเกี่ยวกับแรงงานที่มีจำนวนมากยังไม่พร้อม

“ซึ่งหากฝ่ายนายจ้างยังไม่เดินทางมาพบพนักงานตรวจแรงงานอีก รวม 2 ครั้ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา จะดำเนินการพิจารณาออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายนายจ้างต้องจ่ายเงินตามมาตรา 75 และค่าชดเชยให้แก่ฝ่ายลูกจ้างตามจำนวนเงินดังกล่าวทั้งหมดต่อไป” นางสุวรรณากล่าว

นางสุวรรณายังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังจะมีกลุ่มแรงงานที่เข้าข่ายเปราะบางและมีโอกาสเสี่ยงที่อาจจะถูกเลิกจ้างได้ในอนาคตอีก ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมออโตโมทีฟ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมีจำนวนมากถึงกว่า 39,321 คนจากสถานประกอบการ 137 แห่ง โดยเป็นแรงงานชาย 23,906 คน เป็นแรงงานหญิง 15,415 คน เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมีการเติบโตลดลงและหยุดชะงัก โดยคนในสังคมส่วนใหญ่เริ่มหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นแล้ว

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวยังได้รับการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา อีกว่า สำหรับสถานประกอบการที่ได้มีการบอกเลิกจ้างแรงงาน จำนวน 104 คนในครั้งนี้ เป็นสถานประกอบการของนักลงทุนชาวจีนที่ถือหุ้นร่วมกับคนไทย มีพนักงานทั้งหมด จำนวน 224 คน เป็นแรงงานชาย 67 คน หญิง 157 คน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ได้เข้ามาก่อตั้งโรงงานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด พนักงานส่วนใหญ่จึงมีอายุงานไม่มากนัก เฉลี่ยเพียงประมาณ 2-3 ปีเท่านั้น โดยสาเหตุของการบอกเลิกจ้างแรงงานนั้นเกิดจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ปรับลดอัตรากำลังพนักงานลงอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง นับตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค.67 ที่ผ่านมาจนถึงเดือน พ.ค.67 นี้... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/economy/news_4616337
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่