(บทสรุป) เกิดอะไรขึ้นกับสายการบิน Singapore Airlines เที่ยวบิน SQ321


มีผู้โดยสาร 1 รายเสียชีวิตที่คาดว่ามาจากภาวะหัวใจวายและอีกหลายสิบรายได้รับบาดเจ็บ หลังจากเที่ยวบินของสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบิน SQ321 เส้นทางจากลอนดอนไปยังสิงคโปร์ประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง (Severe Turbulence) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า "ตกหลุมอากาศ" เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ส่งผลให้เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ลำนี้ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังกรุงเทพฯ

กระแสอากาศแปรปรวนอย่างกะทันหันเกิดขึ้นเหนือบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า หลังจากเที่ยวบินนี้ได้ออกเดินทางมาแล้วประมาณ 10 ชั่วโมง สายการบิน ระบุ นักบินได้ขออนุญาตทำการลงจอดฉุกเฉินและเปลี่ยนเส้นทางบิน (Diverted) ไปยังกรุงเทพฯ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมาได้ราวๆ ประมาณ 15 นาที


ผู้ให้บริการติดตามเที่ยวบิน FlightRadar24 เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.49น. (เวลาไทย) เที่ยวบินดังกล่าวเผชิญกับ “การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแนวดิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับจังหวะที่เกิดกระแสอากาศแปรปรวนอย่างกะทันหัน” เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการติดตามเที่ยวบิน
“มีการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงบางพื้นที่ในขณะนั้น” คำแถลงระบุ

กลุ่มเมฆพายุในขณะที่เกิดช่วงกระแสอากาศแปรปรวน


ข้อมูลระดับความสูงจาก FlightRadar24 แสดงให้เห็นว่าเครื่องบินถูกกระแสอากาศที่แปรปรวนดันขึ้นและลงอย่างไรในช่วงเวลาหนึ่งนาที ก่อนที่จะกลับสู่ระดับความสูงเดิมในระดับการบินที่ 37,000 ฟุต


ในช่วงระหว่างเหตุการณ์นั้น ความเร็วแนวดิ่งของเครื่องบิน (Vertical Speed) ซึ่งเป็นอัตราการไต่ระดับหรือลดระดับของเครื่องบิน มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1,664 ฟุต/นาที ก่อนที่จะดิ่งลง -1,536 ฟุต/นาที ในระยะเวลาเพียง 3 วินาที
หรือถ้าใครนึกภาพไม่ออกก็เหมือนการเด้งขึ้น 8.45 เมตร/วินาที และดิ่งลง 7.80 เมตร/วินาที


ความแปรปรวน (Turbulence) คืออะไร
ความแปรปรวนหรือความปั่นป่วน หรือที่คนไทยเรียกว่าหลุมอากาศ อาจมีสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรูปแบบสภาพอากาศที่ไม่มีเสถียรภาพสามารถก่อให้เกิดพายุได้ ตามรายงานสรุปโดย แอร์บัส บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินชื่อดัง

เรดาร์ตรวจอากาศสามารถตรวจจับไอน้ำขนาดเล็กที่เกิดขึ้นได้ นักบินสามารถวางแผนล่วงหน้าได้โดยศึกษาความแปรปรวนและการพยากรณ์อากาศต่างๆ ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา การโหลดเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเมื่อจำเป็น และการติดตามเรดาร์ตรวจอากาศระหว่างการบิน


Clear Air Turbulence (CAT) คือความแปรปรวนในอากาศแจ่มใสอย่างกะทันหันและรุนแรงที่ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงของเครื่องบินแม้ในที่ที่ไม่มีเมฆ ตามรายงานของสำนักงานการบินแห่งชาติสหรัฐ โดยหลุมอากาศดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและคาดเดาได้ยาก ซึ่ง มาร์ก พรอสเซอร์ จากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าวว่าเหตุการณ์เมื่อวันอังคารน่าจะเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของอากาศหรือความแปรปรวนที่เกี่ยวข้องกับพายุ แต่ย้ำว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุป

ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจรบกวนการไหลเวียนของอากาศรอบๆ เครื่องบินได้ อย่างกระแสอากาศปั่นป่วนเนื่องมาจากแนวปะทะอากาศ (Frontal Turbulence) เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินได้บินผ่านแนวปะทะมวลอากาศ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีมวลอากาศอุ่นและเย็นเคลื่อนที่มาปะทะกัน เกิดการยกตัวของอากาศที่อุ่นกว่าตรงส่วนหน้าของแนวปะทะอากาศ ซึ่งเนื่องจากการปะปนและความแตกต่างของทิศทางลมในมวลอากาศอุ่นและเย็น จึงทำให้เกิดกระแสอากาศปั่นป่วนขึ้น การไหลของอากาศจะมีมากเมื่ออากาศอุ่นนั้นมีการทรงตัวไม่ดีและมีความชื้นมาก กระแสอากาศที่ปั่นป่วนแบบนี้จะรุนแรงมากโดยสังเกตได้จากเมื่อมีแนวปะทะอากาศเย็นที่เคลื่อนที่เร็ว (Fast-Moving Cold Front)

รวมถึงการบินผ่านมาใกล้ของเครื่องบินลำอื่นอาจทำให้เกิดกระแสลมวนหรือการม้วนตัวของอากาศที่ปลายปีกเครื่องบิน (Wake Turbulence) ก็ทำให้เกิดกระแสลมที่ปั่นป่วนได้เช่นกัน


ความแปรปรวนในรูปแบบอื่นๆ อาจเกิดจากการไหลของอากาศมาปะทะกับสิ่งกีดขวางภาคพื้นดิน เช่น ตึก อาคาร และแนวภูเขา ซึ่งมักเกิดขึ้นช่วงระหว่างเครื่องบินขึ้นและลง ในวันที่อากาศร้อนและมีแดดจัดบนผิวพื้น อากาศอุ่นที่เพิ่มขึ้นและอากาศที่เย็นลงสามารถทำให้เกิดความปั่นป่วนได้อีกเช่นกัน


รัดเข็มขัด
เมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศและเคลื่อนที่เปลี่ยนระดับกะทันหัน สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้ถูกยึดไว้ อย่างเช่น สิ่งของ หรือผู้โดยสารที่ไม่ได้รัดเข็มขัด ยังเคลื่อนที่ต่อไปในทิศทางเดิม ในขณะที่เครื่องบินเคลื่อนที่ไปในทิศทางอื่น(ขึ้น-ลงอย่างรวดเร็วในแนวดิ่ง) อาจทำให้ผู้โดยสารถูกกระแทกกับเพดานของห้องโดยสาร ทำให้ได้รับการบาดเจ็บได้


ภาพถ่ายจากภายในเครื่องบินของเที่ยวบินลำเกิดเหตุ (SQ321) เผยให้เห็นรอยบุบขนาดใหญ่บนเพดานห้องโดยสารเหนือศีรษะ หน้ากากอ๊อกซิเจนและแผงที่ห้อยลงมาจากเพดาน และสิ่งของต่างๆ ที่เกลื่อนกลาด ผู้โดยสารรายหนึ่งเล่าว่า ศีรษะของบางคนกระแทกเข้ากับหลอดไฟเหนือที่นั่งและทะลุเพดาน


สหภาพที่เป็นตัวแทนของนักบินสายการบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสหรัฐฯ กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือ และการรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่ง แต่พวกเขาเตือนว่าการเปิดสัญญาณรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาอาจทำลายความสำคัญของสัญญาณ ส่งผลให้ผู้โดยสารเริ่มเพิกเฉยต่อสัญลักษณ์ดังกล่าว

โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือลูกเรือที่ต้องเดินตรวจสอบห้องโดยสารเพื่อดูว่าผู้โดยสารได้ทำการรัดเข็มขัดนิรภัยเมื่อมีสัญญาณเตือนขึ้น


เครื่องบินเชิงพาณิชย์สมัยใหม่ทุกลำได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อรองรับกับสภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายครั้งจากสถิติของการบิน เฮย์ส กล่าว แต่ตามเว็บไซต์คาดการณ์สภาพอากาศแปรปรวนของสวีเดน (Turbli.com) ความรู้สึกที่ผู้โดยสารได้รับนั้นแตกต่างกันไปในเครื่องบินแต่ละรุ่นและแต่ละที่นั่ง เที่ยวบินระยะไกลอาจรู้สึกถึงการกระทบกระเทือนที่สุดทางด้านหลัง และจุดที่เหมาะสมที่สุดก็คือบริเวณจุดศูนย์ถ่วง ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่บริเวณด้านหน้าปีก

มันเป็นถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่?
เหตุการณ์การตกหลุมอากาศช่วงหลายครั้งที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องปกติ จากการศึกษาในปี 2564 โดยคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2561 พบว่าการตกหลุมอากาศเป็นสาเหตุมากกว่าหนึ่งในสามของเหตุการณ์ทั้งหมดที่ได้รับรายงาน และส่วนใหญ่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อยหนึ่งรายหรือมากกว่า แต่ไม่ทำความเสียหายต่อเครื่องบิน

แต่การตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงในการเดินทางทางอากาศยังคงเกิดขึ้นได้ยากมาก
“มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เท่าที่ฉันสามารถบอกได้ว่าเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้วที่ผู้โดยสารเสียชีวิตจากเหตุการณ์การตกหลุมอากาศของสายการบินพาณิชย์” พอล เฮย์ส ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยของกลุ่มข้อมูลการบิน Cirium Ascend ในอังกฤษ กล่าว

โดยอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งสุดท้ายที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การตกหลุมอากาศในฐานข้อมูลของ Cirium คือ เครื่องบินโบอิ้ง 747 ของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ในปี 2540

...แปลและเรียบเรียงรวมถึงรูปภาพจาก The mechanics of turbulence สำนักข่าว Reuters
...หากมีส่วนใดผิดพลาดก็ขออภัยและร่วมให้ความเห็นได้นะครับ



เพิ่มเติม

[1] จังหวะเวลาที่เที่ยวบินนี้บินผ่านและเกิดเหตุการณ์ตกหลุมอากาศ เมื่อดูจากดาวเทียมอินฟราเรดของสภาพอากาศช่วงเวลาดังกล่าว (ตามเวลาไทย) เป็นช่วงที่เมฆกำลังก่อตัวเหนือที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิรวดีในพม่า ซึ่งสีที่เข้มขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นความสูงของชั้นเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus หรือ Cb) เป็นเมฆที่ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งจะก่อตัวในแนวตั้ง เมื่อก่อตัวเต็มที่จะมีความสูงและหนา ถ้านับจากฐานเมฆสามารถสูงสุดได้ถึง 10-20 กิโลเมตร โดยคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกระแสลมที่แปรปรวนระหว่างการก่อตัวของเมฆพายุช่วงเวลานั้น
 

[2] การที่เที่ยวบิน SQ321 ลดระดับลงจากความสูงจาก 37,000 ฟุต ลงมาที่ 31,000 ฟุต เป็นการที่นักบินเริ่มลดระดับลงเพื่อเตรียมลงจอดฉุกเฉินที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการลดระดับตามปกติ โดยไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์การตกหลุมอากาศตามที่หลายคนหรือหลายสำนักข่าวเข้าใจ(แบบที่บอกร่วงหรือตกหลุมอากาศ 1.8 กิโลเมตรไม่ใช่นะครับ) เหตุการณ์การตกหลุมอากาศเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 15 นาทีก่อนหน้า ภาพยืนยันจาก FR24 ซึ่งเขาโพสต์แจ้งย้ำ 2 รอบเลยทีเดียว เพราะไม่ใช่แค่สำนักข่าวในไทย สำนักข่าวต่างประเทศบางสำนักก็ยังลงข่าวผิดจนทำให้ผู้คนเข้าใจผิดไปด้วย

จากภาพ (ขอแปลงเป็นเวลาไทย +7)
14:49 - เกิดเหตุการณ์ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง
15:06 - นักบินเริ่มทำการลดระดับลงจากความสูง 37,000 เป็น 31,000 ฟุต
15:18 - นักบินทำการลดระดับลงอีกจากความสูง 31,000 ฟุต เพื่อเตรียมตัวลงจอดที่กรุงเทพฯ

[3] การเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันนั้นทาง ATC (Air Traffic Controller) มีการเคลียร์รันเวย์ โดยการให้ SQ321 ลงรันเวย์ 19R (เที่ยวบินขาออก) และมีการ Hold ฝั่งรันเวย์ 19L (เที่ยวบินขาเข้า) ไม่ให้ Landing ด้วย เป็นการจัดการเคลียร์รันเวย์เพื่อรับสถานการณ์นี้โดยเฉพาะ สังเกตจากภาพหลายเที่ยวบินขาเข้ามีการบินวนรอ


[4] ระดับความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ โดยเหตุการณ์ของเที่ยวบิน SQ321 นี้จัดอยู่ในระดับที่รุนแรงมาก


ปล. Turbulence = ความแปรปรวน, ความปั่นป่วน, หลุมอากาศ
โดยที่จริงอยากให้ใช้ว่าเจอสภาพอากาศแปรปรวนจะเข้าใจกันได้ง่ายมากกว่า การใช้ว่าตกหลุมอากาศ หลายคนที่เพิ่งเคยเจอหรือเคยได้ยินอาจจะงงว่าตกหลุมอะไรยังไง ก็ต้องมีการแปลความกันไปอีก แต่ก็เป็นคำศัพท์ที่เราใช้กันมานานแล้ว ในข่าวหรือบทความก็เลยต้องใช้ปนๆกันไปแบบนี้แหละครับ

หมายเหตุ ... ขออภัยในหัวข้อกระทู้ครับ เห็นมีบางท่านแย้งมา แค่ต้องการตั้งหัวข้อให้กระชับไม่ให้ยาวมาก อาจจะดูห้วนไปหน่อยครับ เป็นบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาครับ ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ การสอบสวนอย่างละเอียดต้องใช้เวลามากกว่านี้ แต่เป็นข้อสรุปในเบื้องต้นที่คาดว่าจะเป็นไปได้มากที่สุด โดยดูจากสาเหตุการเกิดในรูปแบบต่างๆ สภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้น และข้อมูลที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวข้องกับช่วงจังหวะเวลาการเกิดเมฆพายุฝนฟ้าคะนองนี่แหละครับ โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมขอแปะไว้ที่ คห.33 นะครับ

Updated คห.50 รายงานผลการสืบสวนเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ (29/05/67)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่