เตือนประกันอีวี “ระเบิดเวลา” ซ่อมแพงเคลมพุ่ง-มือสองราคาดิ่ง

เครดิตแหล่งข่าว/เจ้าของบทความโดย
https://www.prachachat.net/finance/news-1566781

ติดตามข่าวสารน่าสนใจมากมายได้ที่
https://www.prachachat.net

สมาคมประกันวินาศภัยไทยเตือนสงครามราคาประกันอีวี หวั่น “ระเบิดเวลา” ลูกใหม่ธุรกิจประกัน ชี้โจทย์ใหญ่ “รถอีวี” ราคาปรับลงเร็วกระทบทุนประกัน อัตราเคลมความเสียหายพุ่งแตะ 90-100% เสี่ยงบริษัทประกันไม่เหลือกำไร ชี้ปัญหา “ค่าซ่อม-อะไหล่” แพงกว่ารถสันดาป 50-60%

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ถือเป็นความเสี่ยงภัยใหม่ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทยในช่วงเวลานี้ จากการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจนของจำนวนรถอีวีในประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องของค่าซ่อมที่แพง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในขณะนี้มีหลายบริษัทเริ่มมีความระมัดระวัง และชะลอการรับประกันภัยรถอีวี

ขณะนี้สมาคมได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องรถอีวี และพยายามออกผลการวิเคราะห์เตือนไปยังสมาชิกให้มีการระมัดระวังในการรับประกัน จากข้อมูลตอนนี้ในสหรัฐอเมริกาก็เผชิญวิกฤตการณ์จ่ายค่าสินไหมทดแทนของรถอีวีที่สูงมาก ขณะเดียวกันเห็นปัญหาค่าสินไหมในประเทศจีนและยุโรปในลักษณะเดียวกัน เพราะฉะนั้นในประเทศเหล่านั้นล้วนแต่มีความระมัดระวังในการรับประกันภัยรถอีวีอย่างมาก ถึงขนาดพูดกันว่า ถ้าธุรกิจประกันไม่มีความระมัดระวัง การประกันรถอีวีจะกลายเป็น Pandemic ยุคใหม่ของธุรกิจประกันวินาศภัย

“สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนในประเทศจีน คือ สถานที่เก็บซากรถอีวีเก่าที่เกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะว่ารถอีวีแทบไม่มีราคารถมือสองที่ยืนยาวเหมือนรถสันดาป ที่ใช้นานเป็น 10 ปี ราคารถมือสองก็ยังอยู่ แต่ถ้าเป็นรถอีวีพอผ่านไป 5-7 ปี มูลค่ารถแทบจะไม่มีราคา และจะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยในอนาคต หากไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ” นายกสมาคมประกันฯกล่าว

ดร.สมพรกล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมขอให้สมาชิกนำเสนอวิธีการขายเบี้ยประกันรถอีวีที่มีความเหมาะสม ตอนนี้ค่าเบี้ยที่เหมาะสม อ้างอิงจากข้อมูลในสหรัฐ, ยุโรป, จีน และญี่ปุ่น เฉลี่ยแล้วเบี้ยจะแพงกว่ารถสันดาปประมาณ 30-40% ในขณะที่สิงคโปร์จะแพงกว่า 50% อย่างไรก็ตาม สมาคมจะพยายามมอนิเตอร์อัตราเคลมสินไหมของรถอีวีอย่างใกล้ชิด

ทิพยฯ ลดพอร์ตประกัน EV
ดร.สมพรกล่าวว่า สำหรับบริษัททิพยประกันภัย ปี 2567 ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมใกล้ระดับ 4 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่พอร์ตประกันรถยนต์ตั้งเป้าเติบโตแค่ 3% เนื่องจากปีนี้ให้นโยบายผู้บริหารว่าต้องลดพอร์ตงานรับประกันรถอีวีลง รวมถึงลดรับประกันรถซ่อมศูนย์ด้วย โดยหันไปขยายงานส่วนอื่นแทน เช่น งานรับประกันรถซ่อมอู่ทั่วไป และงานรับประกันรถประเภท 2+, 3+

“สาเหตุที่ลดพอร์ตรถอีวี เพราะสถานการณ์การแข่งขันในตลาดค่อนข้างรุนแรงมาก ตอนนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งที่กลัวตกขบวน เข้ามาแข่งดัมพ์ราคาเบี้ยลงมามาก เพราะรถอีวีส่วนใหญ่เป็นรถใหม่ เหมือนกับรถซ่อมห้าง แต่ละบริษัทก็ไปแข่งเสนอราคาให้กับค่ายรถ เป็นงานเหมาทีละเยอะ ๆ ให้ค่ายรถไปทำแคมเปญให้ลูกค้า ซึ่งบริษัทประกันเข้าไปรับประกันใหม่ ๆ จะยังไม่เห็นอัตราการเคลมสินไหม จึงเข้าใจว่ายังพอมีกำไร แต่ขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าอัตราความเสียหายของเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวีในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แตะระดับ 90-100% คือใกล้ขาดทุนแล้ว”

แข่งเดือดเคลมอีวีพุ่ง 100%
นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเติบโตของรถอีวีในประเทศไทยเริ่มในช่วง 2 ปีมานี้จากที่มีผู้ผลิตรถจีนเข้ามาจำนวนมาก ตั้งแต่ยี่ห้อ BYD, AION, CHANGAN เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ผลิตจีนเป็นลักษณะการแถมประกันภัยปีแรก บางผู้ผลิตเข้ามาช่วงโปรโมชั่นของงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และงานมอเตอร์โชว์ มีการแถมประกันภัยถึง 2 ปีก็มี

เพราะฉะนั้น ลักษณะของการทำประกันภัยยังผ่านรูปแบบการเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ผลิต เรียกว่าแทบทุกยี่ห้อมีการแถมประกันภัยปีแรกป้ายแดง ยกเว้น TESLA ที่ไม่ได้แถมประกัน แต่จะมีรายชื่อบริษัทประกันภัยไว้ให้ลูกค้าเลือก ซึ่งคัดเลือกมาแล้วที่โค้ดค่าเบี้ยประกันให้ถูกสุด ฉะนั้นภาพโดยรวมของการแข่งขันในตลาดคือ ทุกบริษัทประกันภัยพยายามแข่งเข้าไปอยู่ในรายชื่อของผู้ผลิตรถอีวีให้ได้ก่อน เพราะทำให้ต้นทุนการขายประกันต่ำหรือเป็นศูนย์ เนื่องจากค่ายรถซื้อเหมาไปเป็นเบี้ยแถมให้ลูกค้า ทำให้ประกันต้นทุนการขายต่ำก็แข่งตัดราคากันได้

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีมานี้พบว่า อัตราเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวีค่อนข้างสูง แตะระดับ 80-90% บางบริษัทอาจจะสูงเกิน 100% ไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะค่าใช้จ่ายซ่อมทั่วไป ซึ่งแพงกว่ารถยนต์สันดาปค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่ทุกยี่ห้อ ทั้งนี้ พบว่ารถจีนบางยี่ห้อ ค่าซ่อมกันชนหน้า แพงกว่ารถยนต์สันดาปถึง 3 เท่า ส่วนค่าใช้จ่ายแบตเตอรี่มีส่วนบ้าง แต่ยังไม่มาก

รถอีวีปี 2 เจอเบี้ยแพงขึ้น
นายวาสิตกล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในแง่ของเบี้ยประกันรถอีวีจะสูงกว่าเบี้ยประกันรถสันดาป ประมาณ 15-20% ขณะที่ปัจจุบันผู้รับประกันรถอีวี ส่วนใหญ่เป็นบริษัทท็อป 10 ในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย ที่คงเห็นแนวโน้มการใช้รถอีวีจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจประกันจึงไม่อยากตกขบวน และมีบางบริษัทที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนต้องการเป็นเจ้าตลาดรถอีวี อย่างไรก็ตาม สมาคมได้พยายามเตือนให้ทุกบริษัทประกันภัยมีความระมัดระวังในการเข้าไปรับประกันรถอีวีแล้ว สำหรับการแข่งขันการรับประกันภัยปีที่ 2 ที่เป็นการขายประกันภัยตามช่องทางปกติ คือผ่านตัวแทน-นายหน้า เพราะมีต้นทุนการขายเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าคอมมิชชั่น 18%

“ยกตัวอย่าง รถอีวีป้ายแดงปีแรก เบี้ยประกัน 20,000 บาท (ไม่มีค่าคอมมิชชั่น) แต่พอปี 2 บริษัทประกันภัยจะคิดเบี้ยต่ำกว่านั้นลำบาก เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงอาจจะต้องโค้ดเบี้ยเพิ่มเป็น 25,000-28,000 บาท”
นายวาสิตกล่าวว่า ปัจจุบันมีรถอีวีที่รับประกันในประเทศไทย อยู่ประมาณ 120,000-130,000 คัน แต่ถ้านับรวมรถมอเตอร์ไซค์อีวี จะมีจำนวนทั้งสิ้น 150,000 คัน คิดเป็นเบี้ยรับรวมจากพอร์ตรถอีวีทั้งระบบ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายปี 2567 เมื่อตอนต้นปีตั้งเป้าว่าจะมียอดขายรถอีวีใหม่จำนวน 130,000-140,000 คัน แต่ผ่านมา 1 ไตรมาส และผ่านงานมอเตอร์โชว์ไปแล้ว เริ่มไม่แน่ใจ เพราะยอดขายอาจจะน้อยลง
จากภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาและการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อของไฟแนนซ์ ดังนั้นคาดว่ายอดขายรถอีวีใหม่ปีนี้น่าจะลดเหลือแค่ 100,000 คัน แต่ยังเติบโตจากปีที่แล้วที่มียอดขายรถอีวีใหม่ 70,000 คัน ทั้งอาจกดดันการเติบโตของยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในปีนี้ชะลอตัวด้วย

“ถ้าเศรษฐกิจยิ่งซบเซาลง ก็จะยิ่งฉุดกำลังซื้อ แต่ยังมีแรงจูงใจจากรัฐบาลที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่ และผู้ผลิตรถอีวีเริ่มเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีการผลิตรถอีวีในประเทศไทยได้มากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยอาจจะลดแลกแจกแถมมากกว่าเดิม” นายวาสิตกล่าว
กรุงเทพประกันภัย หั่นแชร์

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 32,500 ล้านบาท เติบโต 8% YOY มาจากเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ 18,900 ล้านบาท และที่เหลือ 13,600 ล้านบาท มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ ซึ่งส่วนนี้มาจากเบี้ยรถอีวีประมาณ 350 ล้านบาท จำนวนรถ 14,000 คัน

นโยบายการรับประกันรถอีวีของบริษัท พยายามใช้ข้อมูลตลาดสากลเป็นพื้นฐานอ้างอิงกำหนดเบี้ย และจัดสรรประกันภัยต่อในรูปแบบโควตาแชร์ เนื่องจากการรับประกันรถอีวีในไทยยังมีสถิติไม่มากพอ
โดยสิ้นปี 2566 พอร์ตรับประกันรถอีวีของบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ 10% ของตัวเลขรถอีวีที่จดทะเบียน ประกอบด้วย BYD, MG, ORA GOOD CAT, BMW, Tesla, Audi, Porsche แต่ปีนี้คาดว่าจะลดสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ลงเหลือ 7% เนื่องจากบริษัทจะไม่เข้าร่วมแคมเปญเบี้ยประกันคงที่ 2 ปีของ BYD เพราะกังวลว่าจะไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว และไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทด้วย

“นโยบายของบริษัท คือการรับประกันภัยอย่างระมัดระวัง เนื่องจากแคมเปญเบี้ยคงที่ 2 ปี ไม่เป็นไปตามหลักบริหารความเสี่ยงของบริษัท อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะไม่กระทบเป้าหมายพอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์ในปีนี้ที่จะโตระดับ 10% เนื่องจากการขายเบี้ยอีวีปีแรก ลูกค้าคือค่ายรถหรือดีลเลอร์ ที่ซื้อไปทำแคมเปญแถมฟรี แต่การซื้อเบี้ยประกันอีวีปีที่ 2 ผู้ใช้รถจะซื้อจากโบรกเกอร์หรือตัวแทน ฉะนั้นเขาจะเลือกบริษัทประกันภัยที่มั่นคงในการดูแลรับผิดชอบ เพราะผ่านประสบการณ์จากบริษัทที่ล้มหายตายจากไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทก็จะได้งานจากตรงนี้มากขึ้น”

เทียบค่าซ่อมรถอีวี VS สันดาป
ขณะที่นายอรัญ ศรีว่องไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเสริมว่า ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ได้ทำสถิติการซ่อมรถอีวี เทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมัน พบว่ากรณีเข้าศูนย์บริการ รถอีวีมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถใช้น้ำมัน 4% แต่ถ้าซ่อมอู่ทั่วไป (อู่ในเครือของบริษัทประกันภัย) ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าถึง 54% เพราะค่าอะไหล่อีวีแพงกว่ารถสันดาป รวมทั้งต้องซื้ออะไหล่จากศูนย์

ทั้งนี้ รถอีวีมีค่าซ่อมเฉลี่ยต่อเคลม 1 ครั้ง ประมาณ 24,000 บาท แต่รถใช้น้ำมัน 15,500 บาท สำหรับค่าซ่อมรถอีวีโดยเฉลี่ยจะเป็นค่าอะไหล่ 60% และค่าแรง 40% ขณะที่รถสันดาป ค่าอะไหล่กับค่าแรงประมาณ 50:50 ขณะที่ปัจจุบันรถอีวีเข้าซ่อมศูนย์สูงถึง 90% เพราะเป็นประกันปีแรกประกอบกับ ปัจจุบันยังไม่ค่อยมีอู่ทั่วไปที่สามารถรับซ่อมรถอีวีได้

แนะซื้อคุ้มครอง “แบต” เพิ่ม
นายอรัญกล่าวเพิ่มว่า สำหรับความคุ้มครองแบตเตอรี่ของรถอีวี บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองความสูญเสียของแบตเตอรี่แบบ 100% เฉพาะปีแรกเท่านั้น พอเป็นปีที่ 2 ปีที่ 3 ปีที่ 4 ปีที่ 5 ปีที่ 6 เป็นต้นไป ความคุ้มครองจะลดลงปีละ 10%
ฉะนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนร่วมเรื่องความเสียหายของแบตเตอรี่ สมมุติต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ในปีที่ 5 บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายของแบตเตอรี่ที่ 60% ที่เหลือ 40% ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเงินเอง ถ้ากรณีแบตเตอรี่ลูกนั้นราคา 400,000 บาท ลูกค้าต้องมีส่วนร่วมจ่าย 160,000 บาท
สิ่งที่สมาคมแนะนำคือ ให้บริษัทที่รับประกันรถอีวี ต้องแนบเอกสารแนบท้ายในเรื่องความคุ้มครองของการเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าในทุกปี (ยกเว้นปีที่ 1) โดยลูกค้าผู้เอาประกันจะจ่ายเบี้ยส่วนนี้เพิ่มแค่ 400-500 บาท สำหรับทุนประกัน 200,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่แพงจนเกินไป และอธิบายให้ลูกค้าฟังว่าลูกค้าจะได้รับความคุ้มครองแบตเตอรี่ 100% ในทุกปี ที่ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่ายในกรณีต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่

เสียง “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย”
นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในมุมมองนักคณิตศาสตร์ประกันภัย สิ่งที่จะฝากเตือนผู้รับประกันรถอีวีมี 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ทุนประกัน เพราะมูลค่ารถอีวีลดลงเร็วมาก เช่น ตอนซื้อราคา 1 ล้านบาท ทุนประกัน 7 แสนบาท ระยะเวลาผ่านไป 1-2 ปี มูลค่ารถเหลือแค่ 6 แสนบาท ฉะนั้น บริษัทประกันต้องระวังเรื่องการฉ้อฉลหวังเอาประกัน

2.ระยะเวลาความคุ้มครอง ถ้ามองว่าตลาดเปลี่ยนเร็วมาก การคุ้มครองทีละ 1 ปี อาจจะเป็นระยะเวลาที่นานไป เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างประกันภัยโควิดคุ้มครองทีละ 3 เดือน และปรับเบี้ยตามสถานการณ์ได้

และ 3.ปัจจัยข้อมูลสถิติที่เก็บจากอดีต อาจไม่ได้สะท้อนว่าในอนาคตจะเหมือนเดิม ดังนั้น ต้องใช้ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปด้วย คือต้องพยากรณ์ให้ได้ในเรื่องของธุรกิจ ราคาของแบตเตอรี่ ราคาอะไหล่ จำนวนอู่ซ่อม จำนวนความเชี่ยวชาญของช่าง หรือจำนวนวันที่จะต้องคุ้มครองจากกรณีค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ปัจจัยพวกนี้เป็นแนวปฏิบัติในการซ่อม หรือแบตเตอรี่ที่ต้องเปลี่ยน

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่