ประกาศกำหนดวันเลือก วันสมัคร ส.ว. พร้อมเปิด 20 กลุ่มอาชีพใครสมัครได้บ้าง

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศ กกต. กําหนดวันเลือกและวันรับสมัคร ส.ว. พร้อมเปิด 20 กลุ่มอาชีพใครสมัครได้บ้าง เผยให้มีสิทธิสมัครในกลุ่มใดได้เพียงกลุ่มเดียวและอําเภอเดียว

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กําหนดวันเลือกและวันรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา

ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ นั้น
 
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกอบข้อ ๔๑ และข้อ ๔๘ ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๗ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จึงประกาศ กําหนดวันเลือกและวันรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ดังต่อไปนี้ 
๑.กําหนดวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้
 
๑.๑ วันเลือกระดับอําเภอ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗ 
๑.๒ วันเลือกระดับจังหวัด วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗
๑.๓ วันเลือกระดับประเทศ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗
                      
๒. กําหนดวันรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ สถานที่ที่ผู้อํานวยการการเลือกระดับอําเภอกําหนด (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)
๒.๑ บุคคลใดประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้มีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือก ในกลุ่มใดได้เพียงกลุ่มเดียว ดังต่อไปนี้
(๑) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๒) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตํารวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๓) กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหาร สถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๔) กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 
(๕) กลุ่มอาชีพทํานา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๖) กลุ่มอาชีพทําสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 
(๗) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๘) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๙) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๑๐) กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (๙)
                            
(๑๑) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจ ท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 
(๑๒) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๑๓) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนา นวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๑๔) กลุ่มสตรี
(๑๕) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๑๖) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน
(๑๗) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 
(๑๘) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 
(๑๙) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทํานองเดียวกัน 
(๒๐) กลุ่มอื่น ๆ
                              
๒.๒ ให้ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ยื่นใบสมัครและเอกสารหลักฐานการสมัคร ด้วยตนเองต่อผู้อํานวยการการเลือกระดับอําเภอ ดังต่อไปนี้
(๑) ใบสมัคร (สว. ๒)
(๒) เอกสารข้อมูลแนะนําตัวของผู้สมัคร (สว. ๓)
(๓) หนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์หรือทํางาน ในกลุ่มที่สมัคร (สว. ๔) เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี (ยกเว้นสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือ ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น)
(๔) สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน
(๕) สําเนาทะเบียนบ้าน
(๖) ใบรับรองแพทย์
(๗) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดํา ขนาดกว้างประมาณ ๘.๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๓.๕ เซนติเมตร จํานวนคนละ ๒ รูป สําหรับปิดแบบข้อมูล แนะนําตัวของผู้สมัคร (สว. ๓)
(๘) หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(ก) หลักฐานซึ่งแสดงว่าเป็นบุคคลซึ่งเกิดในอําเภอที่สมัครรับเลือก
(ข) หลักฐานซึ่งแสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอําเภอที่สมัครรับเลือก มาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒ ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
(ค) หลักฐานซึ่งแสดงว่าทํางานอยู่ในอําเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒ ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
(ง) หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยทํางานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอําาเภอ ที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒ ปี
(จ) หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอําาเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๒ ปีการศึกษา
(๙) หลักฐานอื่น ๆ เช่น
(ก) หลักฐานการขอลาออกหรือการขออนุญาตให้ลาออก กรณีเป็นข้าราชการ ซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(ข) เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล (ถ้ามี)
(๑๐) ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกคนละ ๒,๕๐๐ บาท (สองพันห้าร้อยบาทถ้วน) 
(๑๑) สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนําามาแสดงตน ว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่บุคคลผู้ถูกจํากัด สิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
หลักฐานเอกสารตาม (๔) (๕) (๘) (๙) และ (๑๑) ให้ผู้สมัครลงลายมือชื่อรับรอง ความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารหลักฐานทุกฉบับและทุกหน้าด้วย
บุคคลใดประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้มีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มใดได้เพียงกลุ่มเดียวและอําเภอเดียว
ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
อิทธิพร บุญประคอง
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

คลิกดูจากราชกิจจานุเบกษา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่