สิ่งที่ต้องมีอย่างเตรียมพร้อม เมื่อท่านอาจต้องหลงเข้าไปในดินแดนข้าศึก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
 
๕. สัตตัฏฐานสูตร
ว่าด้วยการรู้ขันธ์ ๕ โดยฐานะ

[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดใฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่ายอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ฉลาดในในฐานะ ๗ ประการ เป็นอย่างไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และ
อุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป.

รู้ชัดเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณโทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ.

[๑๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน?
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป.

ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร

ความดับแห่งรูป ย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป.

ความสุขโสมนัสอาศัยรูปนี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป

รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป

การกำจัดฉันทราคะการละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้วปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้. ส่วน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดความดับ (และ) เพราะไม่ถือมั่นรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นอันเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
            

[๑๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน?
เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิดเพราะจักขุสัมผัส ฯลฯ เวทนาเกิดเพราะมโนสัมผัส. นี้เรียกว่าเวทนา.

ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ

ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
            

[๑๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน?
สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา. นี้เรียกว่าสัญญา.

ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ

ความดับแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ 

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
             

[๑๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารเป็นไฉน?
เจตนา ๖ หมวดนี้ คือรูปสัญเจตนา ฯลฯ ธรรมสัญเจตนา. นี้เรียกว่าสังขาร.

ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ 

ความดับแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ. นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
             

[๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นไฉน?
วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณ.

ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป

ความดับแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯสัมมาสมาธิ. นี้แล เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ.

สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้นนี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ

วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ

การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นความสลัดออกแห่งวิญญาณ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้วปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหลั่งลงในธรรมวินัยนี้. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณโทษแห่งวิญญาณ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.
            

[๑๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เป็นอย่างไร?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุประการหนึ่ง โดยความเป็นอายตนะประการหนึ่ง โดยความเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ. ภิกษุฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้.

จบ สูตรที่ ๕.
ดอกไม้
.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่