JJNY : กมธ.ที่ดินเริ่มคุ้ยพิพาท“เหมืองทองอัครา”│“โรม” แนะ 3 ทางแก้ปัญหา│จับตาเงินบาทผันผวนสูง│KNU ชี้ศึกเมียวดียังไม่จบ

กมธ.ที่ดิน เริ่มคุ้ยพิพาท “เหมืองทองอัครา”
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_708840/

กมธ.ที่ดิน เปิดรับฟังความเห็นชาวเพชรบูรณ์ สารพิษจากอุตสาหกรรม พร้อมลุยพื้นที่พิพาท “เหมืองทองอัครา”
 
คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ, นางสาวเบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายฐิติกันต์ ฐิติพฤติกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล, นายสมชาติ เตชถาวรเจริญ สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล และ นายทรงยศ รามสูตร สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เปิดเวทีรับฟังปัญหาประชาชนในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารพิษจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์
 
โดยในช่วงเช้า ได้มีการเปิดเวทีที่วัดม่วงชุมศิริโรจน์ ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ร่วมรับฟังปัญหาจากประชาชนบ้านม่วงชุม กรณีได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการจัดการกากอุตสาหกรรมและหลุมฝังกลบขยะ ของบริษัท เอกอุทัย จำกัด ที่นำไปสู่การปนเปื้อนของสารพิษสู่ชุมชน
เวทีเริ่มต้นด้วยการสะท้อนปัญหาจากตัวแทนชาวบ้านถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยระบุว่าการประกอบกิจการของโรงงานดังกล่าวที่ผ่านมาทำให้สารเคมีไหลลงมาสู่แหล่งน้ำ และปนเปื้อนเข้าสู่อากาศ ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วทั้งชุมชน ผลจากการต่อสู้ร้องเรียนของประชาชนได้นำไปสู่การเข้าตรวจสอบโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จนเป็นที่พิสูจน์แล้วว่ามีการปนเปื้อนของมลพิษเกิดขึ้นจริง
 
แต่แม้ปัจจุบันโรงงานถูกสั่งปิดไปโดยคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว แต่ยังคงไม่มีการรับผิดชอบแก้ปัญหาในระยะยาว และชาวบ้านยังมีความกังวลว่าการปิดโรงงานครั้งนี้อาจเป็นเพียงการปิดเพื่อบังหน้า และบริษัทเดิมอาจเปลี่ยนชื่อมาตั้งโรงงานประกอบกิจการใหม่อีกครั้ง หรืออาจจะยังมีการลักลอบประกอบกิจการอยู่ เพราะผลกระทบยังคงมีอยู่อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งกังวลว่าอาจจะไม่มีการอนุมัติงบประมาณการฟื้นฟูแก้ไขในระยะยาว และเหตุใดจึงไม่มีการสั่งให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
 
ทางด้านนายพูนศักดิ์ ระบุว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามกรอบระยะเวลาของคำสั่งศาลปกครองและแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาปริมาณก๊าซที่เกิดขึ้นจากบ่อฝังกลบเพื่อนำไปกำจัด และแก้ไขปัญหาบ่อฝังกลบเบื้องต้นด้วยการปิดคลุมด้วยแผ่นพลาสติกที่มีความหนาเพียงพอเพื่อป้องกันการชะล้างจนปนเปื้อนไปสู่ภายนอก
 
ส่วนระยะต่อไป ต้องมีการแก้ไขที่ระดับกฎหมายและนโยบาย ที่ยังมีช่องโหว่และปัญหามากมายในการบังคับใช้ให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะโรงงานลักษณะนี้ หรือโรงงานคัดแยกขยะประเภท 105 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ สามารถก่อมลพิษในหลายพื้นที่ได้
 
จากนั้นช่วงบ่าย คณะกรรมาธิการได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่ที่มีข้อพิพาทในกรณีเหมืองทองของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เพื่อเปิดวงรับฟังข้อมูลที่ อบต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ โดยมีประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมือง ฝ่ายต้านเหมือง และตัวแทนของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด มาร่วมให้ข้อมูลในฝั่งของตัวเอง เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้นำข้อมูลไปตรวจสอบเพื่อประกอบการพิจารณาเสนอความเห็นต่อไป



“โรม” ปัดลงพื้นที่แม่สอดซ้ำซ้อน “ปานปรีย์” แนะ 3 ทางแก้ปัญหาชายแดนเมียนมา
https://www.thairath.co.th/news/politic/2781001

“รังสิมันต์ โรม” แนะแก้ 3 ระยะ ปัญหาชายแดนเมียนมา เพิ่มการพูดคุยระหว่างประเทศ ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระยะยาว เผย กมธ.มั่นคงฯ ลงพื้นที่แม่สอด 12-14 พ.ค. ย้ำงานไม่ซ้ำซ้อน “ปานปรีย์” แต่มีจุดหมายเดียวกัน
 
วันที่ 25 เมษายน 2567 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ แถลงผลการประชุมในวันนี้ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดผลกระทบกับประเทศไทย ทั้งด้านระบบเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้รอบด้าน ตนจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา 3 ระยะ 
 
โดยปัญหาระยะสั้นที่เป็นเรื่องเร่งด่วน คือการอพยพชาวเมียนมา โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแนวทางการทำงานที่เป็นมาตรฐาน (Standard Operating Procedure - SOP) ฉบับใหม่ เพื่อให้มีความทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมาคือการสนับสนุนด้านมนุษยชนซึ่งเคยจะทำงานร่วมกันกับมิตรประเทศ เพื่อให้การทำงานมีความยั่งยืน ช่วยเหลือผู้ที่รอคอยความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลมีการพูดคุยกับกองทัพเมียนมา ในการระงับการโจมตีทางอากาศ เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อประชาชนเมียนมา ที่อาจจะหลบหนีเข้าประเทศไทยเพราะผลที่จะเกิดกับชีวิตหากการโจมตีเกิดขึ้น 
 
การแก้ปัญหาระยะกลาง นายรังสิมันต์ ระบุว่า ไทยมีความจำเป็นที่ต้องหารือกับทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นการปูทางในระยะยาว นอกจากนี้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาชาวเมียนมาหลบหนีมาอย่างผิดกฎหมาย แม้ว่าตัวเลขระหว่างการสู้รบจะมีไม่มาก แต่ตลอดเวลาของรัฐบาลทหารในเมียนมากลับมีคนจำนวนมากอาจจะถึงล้านคน ที่ทะลักเข้ามา ซึ่งต้องหลบซ่อน จ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐ จึงเสนอให้รัฐออกบัตรสถานะพิเศษให้กับบุคคลเหล่านี้ เพื่อนำสิ่งที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน และสามารถตรวจสอบสถานะของบุคคลเหล่านั้นได้ 
 
การแก้ปัญหาระยะยาว จะต้องมีการพูดคุยถึงอนาคตประเทศเมียนมา โดยเชื่อว่าจากข้อเท็จจริงแล้ว ไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทในการเป็นอำนวยความสะดวก สร้างสันติภาพให้ประชาชนชาวเมียนมา นอกจากนี้กล่าวว่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อติดตามการทำงาน โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีปฏิบัติการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการฟอกเงินและค้าอาวุธสนับสนุนสงครามในเมียนมา
 
นายรังสิมันต์ ตอบคำถามในช่วงท้ายว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรอให้ฝ่ายเมียนมาริเริ่มการเจรจาประเด็นต่างๆ เพราะประเทศไทยมีศักยภาพพอที่จะพูดคุยกับทุกฝ่าย แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การแทรงแซงกิจการใดๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการจะลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2567 เพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะมีการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ภาครัฐ สังคม โดยเฉพาะด้านมนุษยธรรม พร้อมระบุว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้มีรูปแบบการทำงานที่ต่างจากการลงพื้นที่ของ นายปานปรีย์ พหิธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนชาวไทย


 
จับตาเงินบาทผันผวนสูงช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารญี่ปุ่นวันนี้
https://www.matichon.co.th/economy/news_4545566

จับตาเงินบาทผันผวนสูงช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารญี่ปุ่นวันนี้
 
เมื่อวันที่ 26 เมษายน นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.03 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.25 บาท/ดอลลาร์
 
นายพูนกล่าวว่า โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.97-37.11 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวราว +1.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี น้อยกว่าที่ตลาดคาด (ทว่าปัจจัยกดดันส่วนใหญ่มาจาก การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง และ Net Exports)
 
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในไตรมาสแรกของปีนี้ ก็พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 3.4% สูงกว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจยิ่งชะลอลงช้า และทำให้เฟดอาจต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดให้นานขึ้น โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ประเมินว่า เฟดมีโอกาสเพียง 35% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.70% ส่วนเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นบ้าง กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็ชะลอลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
 
นายพูนกล่าวว่า สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม (รายงานในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ไม่ยาก
 
นอกจากนี้ อีกไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะทราบผลการประชุมในช่วงราว 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และจะมีการแถลงต่อสื่อมวลชน โดยผู้ว่าฯ BOJ ในช่วง 13.30 น. โดยในการประชุม BOJ ครั้งนี้ BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม ทว่าต้องจับตาการปรับแผนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ BOJ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้
อีกทั้งต้องจับตาคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ BOJ ที่จะช่วยสะท้อนแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต เช่น หาก BOJ ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็อาจสะท้อนว่า BOJ มีโอกาสทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ และที่สำคัญ ต้องระวังการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่นของทางการญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งทางการญี่ปุ่นอาจใช้จังหวะในช่วงการประชุม BOJ เพื่อเข้าแทรกแซงได้ หรือ อาจรอในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ก็ได้เช่นกัน
 
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทยในเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่า ยอดการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง” นายพูนกล่าว
 
นายพูนกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ ไปจนถึงช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ โดยต้องระวังการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น ที่สถิติในอดีต การเข้าแทรกแซงดังกล่าวมักจะทำให้ เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสั้น ราว +3% เป็นอย่างน้อย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง และช่วยให้เงินบาทอาจแข็งค่าหลุดโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
 
อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังติดโซนแนวรับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 36.60 บาทต่อดอลลาร์) และหากไม่มีการเข้าแทรกแซงเกิดขึ้น อีกทั้ง BOJ ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพิ่มเติม คาดว่าเงินเยนญี่ปุ่นก็เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าต่อ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งถ้าหากเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่อาจจะออกมาสูงกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทดสอบโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน และหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ ระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะเป็นแนวต้านถัดไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่